posttoday

พล.อ.ประยุทธเปลี่ยนไปผู้นำไทยสิ้นหวัง

14 มีนาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

****************************

วิกฤติใดๆ อาจดีขึ้นได้ด้วย “ภาวะผู้นำ”

“ภาวะผู้นำ” ตามทฤษฎีของแม็กซ์ เวเบอร์ มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้จาก 3 สิ่ง คือ อำนาจตามกฎหมาย อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ และอำนาจบารมี หรืออำนาจที่สร้างขึ้นเอง โดยอำนาจสองสิ่งแรกจะมีขีดจำกัด ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ หรือระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งก็มีระยะเวลากำหนดไว้เช่นกัน แต่อำนาจบารมีนั้นเป็น “อำนาจเฉพาะตัว” ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง การรักษา และการเพิ่มพูนอำนาจของบุคคลนั้นๆ รวมถึงสถานการณ์และผู้คนแวดล้อม ที่จะมีส่วนในการสร้างและ ส่งเสริมอำนาจดังกล่าว ดังนั้นไม่ว่าภาวะผู้นำจะเกิดขึ้นด้วยปัจจัยใดๆ ก็ย่อมจะมีเกิดมีดับ ไม่ได้จีรังยั่งยืนแต่อย่างใด

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา มีอำนาจวาสนาขึ้นมาด้วยตำแหน่งหน้าที่โดยแท้ เพราะในตำแหน่งสูงสุดก่อนที่จะขึ้นเป็นรัฐมนตรีนั้น ตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธก็คือ “ผู้บัญชาการทหารบก” ซึ่งในทฤษฎีการเมืองไทยถือว่าเป็นตำแหน่งที่เรียกว่า “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” มาโดยตลอด เพราะเมื่อใดก็ตามที่บ้านเมืองมีปัญหา ผู้บัญชาการทหาร บกก็จะเป็นผู้นำของทหารทุกเหล่าทัพออกมา “กอบกู้” ไม่ว่าจะโดยการยึดอำนาจหรือ “ราชรถมาเกย” ให้ผู้นำทหารนั้นเข้ามาแก้สถานการณ์ “อย่างง่ายดาย” เสมอมา

มีการศึกษาเรื่องบทบาทของทหารในทางการเมืองไทย พบว่าผู้บัญชาการทหารบกหลายคนต้องขึ้นมารับตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ “ด้วยสถานการณ์บังคับ” อย่างที่ สำนวนไทยเรียกว่า “ตกกระไดพลอยโจน” โดยยกประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยมาอธิบาย ตั้งแต่การขึ้นมามีอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2481 ภายหลัง จากที่พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีประสบปัญหาในการควบคุมสภาผู้แทนราษฎร การทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2500 ที่เข้ามาแก้ สถานการณ์ภายหลังจากที่การเลือกตั้งใน พ.ศ. นั้นมีปัญหา

ต่อมาก็คือการยึดอำนาจของ รสช.ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 (ก่อนหน้านั้นมีการทำรัฐประหารในเหตุการณ์วันที่6 ตุลาคม 2519 แต่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งเป็น ทหารเรือในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ก็มีทหารบกเป็นกำลังสำคัญ) ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถูกดันให้เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เพื่อแก้ไขปัญหาที่ กองทัพถูกการเมืองแทรกแซง รวมถึง 2 ครั้งหลังสุดนี้ คือการทำรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในวันที่ 19 กันยายน 2549 กับการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประ ยุทธ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม2557 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง โดยทุกคนเหล่านี้จะได้รับการยกย่องจากประชาชนในระยะแรกว่าเป็น “ อัศวินม้าขาว” เข้ามากอบกู้วิกฤติต่างๆ แต่สุดท้ายก็จบลงอย่าง “ไม่สวย” เพราะทำให้ประชาชนสิ้นหวัง

มีทั้งที่กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ สร้างปัญหาในการวางโครงสร้างทางการเมือง (เช่น เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ หรือเข้าแทรกแทรงระบบการเมือง และระบบราชการ เป็นต้น) และไร้ประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมือง แบบที่เรียกว่า “ตกม้าตาย” และไม่ใคร่มีใครที่จะได้รับการยกย่องให้ควรค่าแก่การจดจำไปใน ทางที่ดี

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เมื่อครั้งที่ทำรัฐประหารเสร็จสิ้นใหม่ๆ ก็ได้รับการชื่นชมจากประชาชนหลายๆ กลุ่มว่าเป็นคน “น่ารัก” มีการนำเสนอประวัติชีวิตว่าเป็นนัก เรียนที่ตั้งใจเรียน กตัญญูรู้คุณต่อครูบาอาจารย์ เป็นทหารก็เป็นผู้นำในหมู่เพื่อนๆ ตลอดมา มีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ เป็นคนโรแมนติค แต่งเพลงได้เพราะ ฯลฯ ทำให้ผู้ คนเหล่านั้นคาดหวังเลยเถิดไปว่า ด้วยความเป็นคนดีคนน่ารักดังกล่าว คงจะเป็นผู้นำที่ดี พาประเทศชาติพ้นวิกฤติ และนำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

ท่านที่ติดตามการเมืองมาเป็นระยะๆ คงจะพอมองเห็น “ความเสื่อมถอยในภาวะผู้นำ” ของพล.อ.ประยุทธ มาพอสมควร ในฝ่ายที่เป็นกองเชียร์ที่เรียกว่า “แฟนคลับของลุง ตู่” ก็คงจะปลอบใจตัวเองเอาว่า ความเสื่อมถอยทั้งหลายนั้นไม่ใช่ความผิดของลุงตู่ แต่เป็นผู้อื่นกระทำขึ้น และด้วยความเป็นคนน่ารักของลุงตู่ทำให้ลุงตู่ไม่ปฏิเสธความ ผิดพลาดดังกล่าว ทั้งยังแสดงความเป็นผู้นำด้วยการยอมรับภาระกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อื่นนั้นด้วยความ “อดทน” ถือได้ว่าเป็นความเสียสละที่ยิ่ง ใหญ่ และลุงตู่ยังเป็น “คนดี” ในสายตาของพวกเขาเสมอ

ส่วนในฝ่ายที่ไม่ใช่กองเชียร์ลุงตู่รวมถึงคนที่เคยเชียร์ลุงตู่แต่ตอนนี้เริ่มเบื่อลุงตู่ ก็เริ่มบ่นถึงความไม่เอาไหนชองลุงตู่มาเป็นระยะ ถ้าจะมองในเรื่องใหญ่ๆ ก็เช่น ความไม่ เอาไหนในการจัดการกับระบอบทักษิณ (โดยอ้างว่าให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางศาล) การเขียนรัฐธรรมนูญให้ยอกย้อนสืบทอดอำนาจ (ยุบคณะร่างของอาจารย์บวร ศักดิ์ ยุบ สปช. ตั้ง สปท. ตั้งคณะร่างใหม่ของอาจารย์มีชัย) การเกลือกกลั้วกับนักการเมืองแบบเก่าๆ ที่ทหารเคยตำหนิและเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ (กรณีการก่อตั้ง พรรคพลังประชารัฐ) การใช้เล่ห์เหลี่ยมแบบเดิมๆ เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองและในรัฐบาล (การทำลายพรรคคู่แข่งและการดูดตัว ส.ส.) ซึ่งถึงแม้ไม่มีหลักฐานชัดเจน และพลเอกประยุทธก็ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยบทบาทที่ท่านเป็น “ผู้นำสูงสุดในทางการเมือง” ก็ยากที่จะหลบเลี่ยงค้อครหาทั้งหลายนั้นได้

จนกระทั่งมาถึงกรณีการแก้วิกฤติ “โควิด 19 ” ที่มีหลายคนเชื่อว่าอาจจะเป็น “การเผาจริง” ต่อการคงอยู่ของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการที่พล.อ.ประยุทธในฐานะผู้นำรัฐบาล ดูจะ “เหยาะแหยะ” ไม่เข้มแข็งเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง กลับปล่อยให้ “ต่างคนต่างทำ” โดยที่บางส่วนนอกจากจะทำได้ไม่ดีแล้ว ก็ยังไปทำอะไรที่ “ไม่ ดี” คือมีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือแสวงหาประโยชน์นนั้นอีกด้วย

โดยที่นายกรัฐมนตรีที่บางคนเคยเชื่อว่าเป็นนายทหารที่เข้มแข็งน่ารักนั้น กลับทำเหมือนว่าเป็นการโกงกินกันตามปกติ ที่ก็ให้กฎหมายจัดการกันไป (เหมือนผิดกฎจราจร ก็ออกใบสั่งให้ไปเสียค่าปรับสิ หน่อมแน้มไหมล่ะ) แต่ที่น่าจะเป็นปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ มากที่สุดก็คือ ท่าทีที่คล้ายๆ จะบอกว่า “มันก็เป็นธรรมดา งานทุกอย่างต้องมี ปัญหา ใครมีหน้าที่ก็แก้กันไป”(เหมือนจะบอกว่า “ผมเป็นนายกฯก็ทำได้แค่นี้ ใครมีปัญหาอะไรไหม”)

คนไทยมีปัญหามากแล้วก็เพราะท่านและพรรคพวกนั่นเอง

*******************************