posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (3)

10 มีนาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

********************************

ผู้ป่วยโรคติดต่อโดยทั่วไป จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ (1) รายน่าสงสัย (Suspected cases) (2) รายที่น่าจะเป็น (Probable cases) และ (3) รายที่ยืนยัน (Confirmed cases)

สำหรับโรคซาร์ส ผู้ป่วยที่น่าสงสัย ได้แก่ ผู้ที่มีอาการต่างๆ ได้แก่ (1) มีอาการต่างๆ ที่คล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ 38o ซ. หรือ 100Oฟ. ขึ้นไป ไอ มีเสมหะ เหนื่อย ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย (2) มีประวัติการสัมผัสโรค ได้แก่ (ก) มีการสัมผัสจากการอยู่ใกล้ชิดกัน ในบ้าน ในโรงเรียน ในสถานที่ทำงาน (Casual contact) หรือมีการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ (Sexual Contact) กับผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซาร์สในช่วงระยะเวลา 10 วันที่ผ่านมา (ข) เดินทางไปยังประเทศ ดินแดน หรือบริเวณที่องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีการแพร่โรคซาร์สในท้องที่นั้น (local transmission of SARS) เมื่อเร็วๆ นี้

ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติและอาการน่าสงสัย และเอกซเรย์ปอดแล้วพบเงาปอด แบบโรคปอดบวมชนิดไม่จำเพาะ (Atypical Pneumonia) หรือมีกลุ่มอาการหายใจลำบาก (Respiratory Distress Syndrome)

ผู้ป่วยที่ยืนยัน คือ ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยหรือที่น่าจะเป็น และตรวจยืนยันพบเชื้อซาร์สทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Confirmed SARS) โดยอาจเป็นการตรวจทางระบบภูมิคุ้มกันในเลือด หรือตรวจพบเชื้อ โดยวิธีการตรวจนั้นๆ ได้รับการรับรองแล้ว เช่น การตรวจหาภูมิคุ้มกันโดยวิธีอิไลซา (ELISA) การตรวจภูมิคุ้มกันโดยวิธีเรืองแสง (Immunofluorescence) หรือ การทำการเพิ่มจำนวนโดยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่ (Polymerase Chain Reaction: PCR)

การระบาดของโรคซาร์ส เริ่มต้นในตอนใต้ของประเทศจีนในมณฑลกว่างตง การศึกษาประวัติย้อนหลัง พบผู้ป่วยน่าสงสัยรายแรกเป็นชาวนาจากเมืองชุนเต๋อ (Shunde) จังหวัดโฝซาน (Foshan) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประชาชนหมายเลข 1 (First People’s Hospital) ในโฝซาน ผู้ป่วยเสียชีวิตไม่นานหลังเข้ารับการรักษาโดยไม่มีการตรวจพิสูจน์หาสาเหตุที่แท้จริงของการตาย (Definite cause of death) ซึ่งเป็นเรื่อง “ปกติทั่วไป” ในประเทศที่ยังไม่เข้าขั้น “พัฒนาแล้ว” (Developed countries) ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตในประเทศไทยจำนวนมาก ก็ไม่มีการผ่าศพและพิสูจน์ถึงที่สุดให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการตาย

เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายอื่นๆ จำนวนมากที่ไม่มีรายงานการตายไปยังองค์การอนามัยโลก เพราะยังไม่มีใครสงสัยจริงจังว่า “กำลังจะมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่”

ข่าวการระบาด (Outbreak) ของโรคนี้เริ่มปรากฏครั้งแรกในระบบเตือนภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ของ แคนาดา ชื่อว่า “เครือข่ายข่าวกรองสาธารณสุขโลก” (Global Public Health Intelligence Network : GPHIN) ซึ่งเป็นเครือข่ายหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ชื่อว่า “เครือข่ายเตือนภัยและตอบสนองการระบาดในโลก” (Global Outbreak Alert and Response Network : GOARN) ได้นำข่าว “การระบาดของไข้หวัดใหญ่” (Flu Outbreak) ในจีนออกเผยแพร่ทางอินเทอร์เนตที่มีการกำกับดูแลและวิเคราะห์ และส่งไปยังองค์การอนามัยโลก

ข่าวนี้ ปรากฏครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 นับว่าเป็นการเตือนภัยที่รวดเร็วพอสมควร แต่ไม่กว้างขวางเท่าที่ควร เพราะมีการเผยแพร่เพียง 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และ ฝรั่งเศส ต่อมาได้มีการยกระดับการเตือนภัยให้กว้างขวางขึ้นแล้ว โดยขยายการเผยแพร่ออกไปเป็น 6 ภาษา ได้แก่ อารบิก จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน และในตอนเริ่มต้นข่าว “การระบาดที่ผิดปกติ” (an unusual outbreak) รายงานเป็นภาษาจีน การรายงานเป็นภาษาอังกฤษเพิ่งปรากฏครั้งแรก เมื่อ 21 มกราคม 2546 หลังการเริ่มต้นระบาดเดือนเศษ และหลังการเตือนภัยครั้งแรกในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ถึง 54 วัน

หัวใจสำคัญของการควบคุมโรคระบาด คือ “รู้เร็ว แก้ปัญหาเร็ว” (Early recognition and prompt response) การรู้ช้า แก้ปัญหาช้า ทำให้โรคระบาดไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งกว้างขวางมากเท่าไร ก็ทำให้การควบคุมป้องกันยากมากขึ้นเท่านั้น

มีคำภาษาอังกฤษอยู่ 2 คำ คือ คำว่า outbreak และ epidemic ความยากจนในภาษาวิชาการของ ภาษาไทย ทำให้เราแปลคำนี้ในภาษาไทยเหมือนกันว่า “การระบาด” ทั้งๆ ที่คำ 2 คำนี้ คล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกัน

Epidemic หมายความถึง “ปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วยที่มีลักษณะเหมือนกัน และมีจำนวนมากเกินกว่าที่คาดหมาย” (คู่มือโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข 2539) หัวใจของคำนี้อยู่ที่ตรง “มีจำนวนมากเกินกว่าที่คาดหมายอย่างชัดเจน” (Clearly in excess of normal expectancy) (A Dictionary of Epidemiology , fourth Edition , edited by John M. Last , Oxford University Press , 2001) ในความหมายดังกล่าวนี้ การมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นเพียงรายเดียว ก็แปลว่ามี “การระบาด” (epidemic) เกิดขึ้นแล้ว

อหิวาตกโรค ซึ่งเคยเป็นโรคระบาดร้ายแรงคร่าชีวิตประชาชนคนไทยไปมากมาย สมัยรัชกาลที่ 2 มีการระบาดใหญ่ทำให้ผู้คนล้มตายมาก ศพที่นำไปเผาที่วัดสระเกศ เผาไม่ทัน ส่วนหนึ่งต้องปล่อยให้แร้งกามา “ช่วยจัดการกับศพ” จนมีคำคำหนึ่ง เกี่ยวกับวัดสระเกศในสมัยนั้นว่า “แร้งวัดสระเกศ” ปัจจุบันประเทศไทยกำจัด (eliminate) โรคนี้ไปได้ และไม่ปรากฏการระบาดติดต่อกันมาหลายปี หากปรากฏว่าพบโรคนี้ขึ้นอีกแม้เพียงรายเดียว ก็ถือว่า เกิดการระบาด (epidemic) แล้ว

ส่วนคำว่า Outbreak หมายความว่า “การที่มีผู้ป่วยโรคเดียวกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยมีความสัมพันธ์กันในด้านบุคคล (person) สถานที่ (place) และ เวลา (time)

น่าสังเกตว่าในกรณีเกิดการระบาดของโรคซาร์ส จะใช้คำว่า Outbreak ก่อน แต่หลังจากระบาดไป อย่างกว้างขวางในจีนจึงเรียกว่า epidemic และเมื่อระบาดออกไปในหลายประเทศทั่วโลกจึงกลายเป็น การระบาดกระจายทั่วไป (Pandemic) ซึ่งมีนิยามสั้นๆ ว่า “การเกิดโรคระบาดไปทั่วในหลายประเทศ หลายทวีปหรือทั่วโลก เช่น ไข้หวัดใหญ่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในบางปี”การระบาดใหญ่ของโรคซาร์ส เกิดเมื่อมีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งเป็น “สุดยอดของผู้แพร่โรค” (Super Spreader) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลซุนยัตเซนอนุสรณ์ (SunYat-sen Memorial Hospital) ในนครกว่างโจว เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 ผู้ป่วยรายนี้แพร่โรคให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลหลายคน และต่อมาแพร่ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงอื่นๆ ด้วย

อัตราการแพร่โรคจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปยังคนอื่นๆ นี้ในทางวิชาการเรียกว่า Reproduction number อักษรย่อคือ R0 (อาร์ศูนย์) ซึ่งสำหรับแต่ละโรคจะมีตัวเลขต่างๆ กัน ตามระยะของโรคในผู้ป่วยซึ่งจะแพร่เชื้อออกมาไม่เท่ากันในแต่ละระยะของการเจ็บป่วย อัตราการแพร่โรคของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เฉลี่ย ประมาณ 2 คือ หนึ่งคนแพร่โรคให้คนอื่นโดยเฉลี่ย 2 คน โรคหัดค่าเฉลี่ยสูงกว่ามาก คือ 1 ต่อ 8 แต่ “สุดยอดของผู้แพร่โรค “ซาร์ส” ที่โรงพยาบาลซุนยัตเซนอนุสรณ์แพร่โรคให้แก่คนอื่นกว่า 10 คน และทำให้มีการแพร่โรคไปหลายประเทศทั่วโลกในเวลาต่อมา

********************************