posttoday

รักชาติ ชังชาติ (ตอนที่ห้า): ไม่ได้ชังชาติ แต่ชังพวกแกต่างหาก !

09 มีนาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร 

********************

คราวที่แล้วได้กล่าวถึง “คนไทยผสม” ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหมายถึง คนจีนในไทยที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นคนไทยหรือจีนกันแน่ และผมได้กล่าวไว้ว่า “คนจีนที่อยากเป็นไทยนั้น เมื่อเป็นไม่สำเร็จ ความขมขื่นในใจเขาอาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยา ‘ชังชาติไทย’ ขึ้นมาได้ และหากความเป็นชาติไทยนั้นผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าด้วยแล้ว ก็พาลจะพลอยชิงชัง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ และผู้คนที่อยู่รายรอบหรือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย

แต่ครั้นคนเหล่านี้จะกลับไปจีนก็ไม่ได้เสียแล้ว เรื่องมันก็เลยอิหลักอิเหลื่อ แต่คนเหล่านี้จะมีความสุขสงบใจได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำลายสิ่งที่เขาชิงชังนั่นเอง และส่วนหนึ่งของการทำลายคติเหล่านี้ก็คือ การสมาทานแนวคิดเสรีนิยมอย่างสุดโต่ง เพราะจริงๆแล้ว ลึกๆ แก่นของเสรีนิยมไม่สามารถอยู่กับชาติหรือชาตินิยมได้

ปัญหาข้างต้นไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนจีนในไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดกับคนเชื้อชาติอื่นในไทยได้เช่นกัน และรวมทั้งคนท้องถิ่นที่ถูกกดทับจากกระบวนการสร้างรัฐชาติด้วย และไม่เพียงแต่เฉพาะเชื้อชาติ ยังรวมไปถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดจากการที่คนเชื้อชาติอื่นหรือศาสนาอื่นอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่สร้างความแปลกแยกให้กับตัวพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียนหรือเหยียดรังเกียจหรือมองว่าไม่ใช่ “คนไทย”

ดังนั้น ในมุมกลับ หากสังคมไทยโดยรวมไม่มีอคติต่อพวกเขาในฐานะที่เป็น “คนอื่น” ปัญหาก็จะไม่มีหรือมีน้อย และก็จะไม่เกิดการเที่ยวไปตีตราคนเหล่านี้ว่าเป็น “พวกชังชาติ” เพราะการไปตีตราว่าพวกเขาเป็นพวก “ชังชาติ” มันเกิดจากการสร้างและผูกขาด “ความเป็นชาติหรือความรักชาติ” ที่จะต้องมีเงื่อนไขเฉพาะ ที่จริง นักวิชาการฝรั่งที่ศึกษาสังคมไทยชอบที่จะกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่สร้างความผสมกลมกลืนได้เป็นอย่างดี

ซึ่งการที่กล่าวเช่นนี้ น่าจะเกิดจากการเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆด้วย ที่จริง ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องรักชาติ ชังชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเชื้อชาติเท่ากับเรื่องจุดยืนแนวคิดที่มีต่อสังคมการเมือง และการที่พวกที่ถูกกล่าวหาว่า “ชังชาติ” นั้น จริงๆแล้ว พวกเขาน่าจะรักชาติมากกว่า เพราะพวกเขาออกมารณรงค์ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมจากที่พวกเขาคิดว่า “ไม่ดีไปสู่สิ่งที่ดีกว่า”

การที่ออกมารณรงค์ก็เพราะน่าจะมีความเป็นห่วงเป็นใยชาติบ้านเมือง ซึ่งก็น่าจะดีกว่าคนที่ไม่ใส่ใจอะไร วันๆเอาแต่ทำมาหากินตักตวงผลประโยชน์จากแผ่นดินไทยไปเรื่อยๆ แต่แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงย่อมจะต้องทำให้บางสิ่งบางอย่างหายไป และบางสิ่งบางอย่างที่หายไปหรือเปลี่ยนไปนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่คนอีกพวกหนึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามที่ต้องรักษาไว้ !

อ้าว ! แล้วทีนี้จะทำยังไง เมื่อเห็นต่างกันในเรื่องว่าอะไรดีไม่ดี ? มันเลยเป็นที่มาของการไปด่าว่า พวกที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าดีต้องรักษาไว้ว่าเป็นพวก “ชังชาติ” เพราะสิ่งที่จะต้องถูกเปลี่ยนไปนั้นฝ่ายที่ต้องรักษาเชื่อว่ามันคือ “ความเป็นชาติ” ส่วนพวกที่ถูกหาว่าเป็น “พวกชังชาติ” ก็ตอบโต้กลับว่า ไม่ได้ชังชาติ แต่ “ชังพวกแกที่ผูกขาดเนื้อหาความเป็นชาติและวิธีการรักชาติ” ไว้แต่ผู้เดียว

ผมเห็นว่า “พวกรักชาติ” น่าจะทำความเข้าใจว่า คนที่พวกท่านไปกล่าวหาว่าชังชาตินั้น จริงๆแล้วพวกเขาก็ “รักชาติ” ไม่แพ้พวกท่าน แต่เห็นต่างกัน สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ การจัดนัดคุยกันแบบไม่ต้องเปิดสาธารณะให้มีกองเชียร์ ให้ต้องรักษาหน้าตากันและกันต่อหน้ากองเชียร์

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติ ซึ่งจริงๆ ก็รักชาติไม่แพ้กัน ก็ควรจะเข้าใจว่า สิ่งที่พวกตนต้องการจะเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเขาต้องการรักษาและเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ก็ควรจะเคารพความเชื่อของพวกเขาไว้บ้าง ไม่ได้ให้ท่านต้องไปเคารพในสิ่งที่ท่านไม่เชื่อ แต่ถ้าเป็นเสรีนิยมและพหุนิยมจริงๆ ก็ต้องเคารพสิ่งที่คนอื่นเขารักเขาเชื่อด้วยวลีที่ว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”

นี่มีสองความหมาย ความหมายแรกคือ ถ้าไม่เชื่อ อย่าไปลบหลู่ เพราะสิ่งที่ท่านไม่เชื่อ อาจจะมีพลังอิทธิฤทธิ์จริงๆก็ได้ เพราะยากที่จะพิสูจน์ได้แน่นอนว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความหมายที่สองนี่ไม่เกี่ยวกับว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่มันเป็นเรื่องของการเคารพในความคิดความเห็นความเชื่อของคนอื่นตามหลักการสิทธิเสรีภาพอันเสมอภาคกันของมนุษย์

คุณไม่มีสิทธิ์ไปด่าเขาว่าโง่ งมงาย ไดโนเสาร์เต่าล้านปี ถ้าหากเขาจะเชื่อในสิ่งที่เขาอยากจะเชื่อ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเชื่อ คุณต้องไม่ลบหลู่ แต่คุณสามารถชวนคุยอย่างมีเหตุมีผล ค่อยๆ ตั้งคำถามกับเขาอย่างสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะมีการสื่อสารสนทนาแลกเปลี่ยนกันและกัน

ขณะเดียวกัน เมื่อฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณเชื่อมาคุยด้วยดีๆ คุณก็ควรจะใจกว้างเปิดรับฟังความคิดเหตุผลของเขา ไม่ใช่ว่า ใครมาตั้งคำถามดีๆ กับสิ่งที่คุณเชื่อ คุณก็ประณามทันทีว่าเป็นพวก “ชังชาติ” ดังนั้น ผมว่า เราควรจะเลิกวาทกรรม “ชังชาติ” และอื่นๆได้แล้ว เพราะคนที่ออกมาแข็งขันทางการเมืองก็ล้วนแต่ “รักชาติ” ทั้งสิ้น ยกเว้นพวกที่จะให้ประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติไปเลย

อันนั้นก็ชัดอยู่ ผมเห็นว่า มีสิ่งต่างๆ ที่สมควรต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในประเทศไทย นั่นคือ ความไร้ระเบียบ มักง่าย ไม่เคารพกฎหมาย หรือทำผิดแล้วไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่เห็นอยู่ทุกวันคือ รถไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลาย และคนข้ามก็ไม่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการข้ามตามกฎหมาย

ซึ่งผมเชื่อว่า พวกรักชาติทุกฝ่ายน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรรักษาไว้ ก่อนที่จะไปขัดแย้งกันเรื่องใหญ่เรื่องโต !