posttoday

ผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

07 มีนาคม 2563

โดย...ดร.ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ 

*****************************

เนื่องในวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล หรือ International Women's Day และประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตาม พันธสัญญาต่อเวทีโลกที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรี จึงขอใช้โอกาสนี้ เล่าถึงความพยายามของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากงานวิจัย “ผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” พบว่าในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งความรุนแรงถึงตายและยืดเยื้อ ผู้หญิงไม่เพียงแต่เป็นเหยื่อของความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทนำในการสร้างสันติภาพ เยียวยาจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และเยียวยาสังคมเพื่อฟื้นคืนสายสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย ทำให้สนใจว่า เพราะอะไรผู้หญิงถึงไม่สามารถเข้าไปกำหนดวาระการพูดคุยอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งที่การแก้ปัญหาไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ความมั่นคงในชีวิตประจำวัน และอนาคตของผู้หญิงด้วยเช่นกัน ที่สำคัญในฐานะพลเมืองผู้หญิงย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ไม่พบว่ามีผู้หญิงเข้าร่วมใช้ความรุนแรงในฐานะนักสู้ (Combatants) อย่างเต็มรูปแบบอย่างที่ในหลายประเทศเผชิญ ในจังหวัดภาคใต้นับได้ว่าเรามีผู้หญิงเป็นทรัพยากรสันติภาพ (Peace assets) และหากเราใช้ทรัพยากรนี้อย่างคุ้มค่าก็จะทำให้การสร้างสันติภาพมีความยั่งยืนและครอบคลุมถึงมิติต่างๆ ของสังคมยิ่งขึ้น

งานวิจัยนี้ยังพบว่า บทบาทของผู้หญิงเป็นที่ยอมรับมากในงานส่งเสริมสันติภาพโดยเฉพาะบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่เป็นทางการ ความริเริ่มแรกๆ มาจากองค์กรภาคประชาสังคม และผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเช่นหญิงหม้าย เด็กกำพร้า ทั้งด้านจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม

ในส่วนงานป้องกันที่สำคัญคืองานด้านสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐให้โปร่งใสและยุติธรรม เพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันจะส่งผลในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงที่ทำหน้าที่ลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและลดความตึงเครียดระหว่างรัฐและประชาชน เช่น ผู้หญิงที่ทำงานด้านกระบวนกร (facilitator) โดยใช้สานเสวนาเป็นเครื่องมือ ผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งก็สมัครเป็นราษฎรอาสาป้องกันหมู่บ้านและทหารพรานหญิง ไปมีส่วนร่วมในงานลดความรุนแรงและเพิ่มความปลอดภัยเช่นงานตั้งจุดตรวจและลาดตระเวน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบทบาทที่ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในการพยายามลดความรุนแรงและสร้างสันติภาพ

สำหรับพื้นที่ทางการในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข (Peace dialogue process) ผู้หญิงยังมีบทบาทจำกัด เป็นบทบาทสนับสนุนและหนุนเสริมมากกว่าที่จะมีบทบาทนำและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างมีนัยสำคัญ

จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการนั้นเปิดรับและเป็นโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพและมีส่วนร่วมมากกว่าพื้นที่ที่เป็นทางการ

ดังที่เล่ามา ผู้หญิงมีบทบาทที่หลากหลายมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ สังคมภาคใต้เห็นผู้หญิงร่วมทำกิจกรรมทางสังคมเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี้สำคัญที่ทำให้พื้นที่ของผู้หญิงเปิดกว้างมากขึ้น ผู้หญิงจำนวนมากหาช่องทางอื่นๆ เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ จะเห็นว่าผู้หญิงเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านและนักการเมืองมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี ที่ภาพลักษณ์ของผู้หญิงมีความหลากหลายและมีพื้นที่ให้ผู้หญิงพัฒนาและใช้ศักยภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น

ในสถานการณ์ความขัดแย้ง บรรยากาศที่มีความตึงเครียด พบว่ามีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ รวมทั้งองค์กรศาสนาโดยเฉพาะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่และนอกพื้นที่กำลังให้ความสนใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ในแง่ของความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้หญิง และความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตประจำวันและขาดความมั่นใจในอนาคตยังพบเห็นอยู่ ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มผู้หญิงภายใต้เครือข่ายที่มีชื่อว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ หรือ Peace Agenda Of Women (PAOW) ได้พยายามผลักดันวาระการสร้างพื้นที่สาธารณะปลอดภัย (Public Safety Zone) เข้าสู่โต๊ะการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการเรียกร้องการแบ่งแยก เมื่อ พ.ศ. 2561

แม้ทั้งสองฝ่ายจะเห็นด้วยว่าจะต้องมีวาระเรื่องพื้นที่ปลอดภัย (Safety zone) แต่การตีความวาระนี้ก็ยังต่างกันไประหว่างกลุ่มผู้หญิงและฝ่ายผู้แทนพูดคุย ในขณะที่กลุ่มผู้หญิงเห็นว่าควรคุ้มครองความปลอดภัยให้กับศาสนสถาน โรงพยาบาล โรงเรียน ตลาดและถนนสัญจร แต่ฝ่ายผู้แทนพูดคุยกับมองเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในฐานะมาตรการสร้างความไว้วางใจว่าฝ่ายขบวนการมีศักยภาพในการสั่งการและควบคุมฝ่ายกองกำลังในพื้นที่เพียงใด

อย่างไรก็ดี ด้านที่นับว่าเป็นพัฒนาการสำคัญคือประเด็นเรื่องเด็กและผู้หญิง ได้รับความใส่ใจมากขึ้นเป็นลำดับ แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น นั่นคือ การที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดให้มีศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ (ศป.ดส.) ซึ่งทำให้ผู้หญิงในภาคส่วนต่างๆ ของพื้นที่ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรีในพื้นที่

ดังนั้น การผนวกมิติเพศสภาพในกระบวนการสันติภาพนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้หญิงจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ความรุนแรงและผู้หญิงก็แสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมที่จะเกื้อหนุนกระบวนการสันติภาพ นอกจากนี้ความสนใจและความต้องการของผู้หญิงส่วนใหญ่ในพื้นที่ความขัดแย้งมักผูกติดกับชีวิตประจำวัน หากการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพเน้นแต่ความมั่นคงทางการทหาร ความมั่นคงในชีวิตประจำวันถูกละเลย กระบวนการสันติภาพจึงจำเป็นต้องมีมิติทางเพศสภาพ เพราะผู้หญิงแต่ละกลุ่มต้องการความมั่นคงในชีวิตประจำวันต่างกัน

กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมิติเพศสภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้นในการจะสร้างความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพเชิงโครงสร้างและสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งการใช้มิติทางการทหารเป็นแนวทางหลักนั้นอาจทำให้หลายเรื่องถูกละเลยไปได้ เพราะสังคมที่มีความสงบสันติได้จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงที่ทุกเสียงมีความหมายและทุกเสียงของกลุ่มทางสังคมจะต้องถูกได้ยินเพื่อความต้องการจะได้รับการตอบสนอง เพื่อให้ความทุกข์อันเกิดจากการต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงยืดเยื้อได้รับการปลดเปลื้องในที่สุด

เป็นเรื่องจำเป็นที่เราควรให้ความสนใจต่อเรื่องผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการยอมรับบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยการเผยแพร่งานสันติภาพที่ผู้หญิงทำอยู่ให้เป็นที่รับรู้ ซึ่งจะทำให้ข้อห่วงกังวลของผู้หญิงได้รับความใส่ใจและแก้ไข รวมทั้งเป็นการย้ำเตือนให้ฝ่ายต่างๆ ตระหนักและให้ความใส่ใจกับการนำศักยภาพของกลุ่มผู้หญิงมาใช้ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น

ในส่วนของ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา นอกจากเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศนอกจากกิจกรรมที่เราทำในงานบริการวิชาการจะส่งเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงแล้ว ในหลักสูตรทั้งสี่หลักสูตรของสถาบันฯ ในสาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ก็มีประเด็นที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งไม่ได้เน้นแต่เฉพาะเรื่องผู้หญิงแต่รวมเพศหลากหลายด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารและบทความที่น่าสนใจด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้ที่ www.ihrp.mahidol.ac.th และสามารถอ่านงานวิจัยเรื่อง “ผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่ https://deepsouthwatch.org/th/node/11878