posttoday

วิธีการ “ทำมาหากิน” ในรัฐสภาไทย (จบ)

07 มีนาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

********************

น่าสนใจว่า “ทำไมนักการเมืองต้องโกงประชาชน”

ความหมายของนักการเมืองในเชิงอุดมคติ หมายถึงบุคคลที่อาสาเข้าไปรับใช้ทำงานเพื่อประชาชน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม ด้วยความเสียสละและความซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้นหลักการสำคัญของการทำงานทางการเมืองก็คือ “อาสา เพื่อส่วนรวม เสียสละ และซื่อสัตย์สุจริต”

เราคงได้ยินเสมอๆ เวลาที่นักการเมืองหาเสียง คือคำพูดที่ว่า “ผมขออาสารับใช้พ่อแม่พี่น้อง” ซึ่งผู้ฟังก็คิดโดยซื่อว่าคนพวกนี้คงจะต้องการที่จะเข้ามา “อาสารับใช้” พวกเขาจริงๆ แต่เมื่อพวกเขาได้เห็นพฤติกรรมของนักการเมืองเหล่านี้เวลาที่ได้เข้าไปมีอำนาจอยู่ในรัฐสภาและรัฐบาล พวกเขาก็ต้องเปลี่ยนใจ เพราะส่วนมากนักการเมืองเหล่านี้จะกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือเข้าไปกอบโกยเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ลืมคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ตอนหาเสียง ไม่ได้ทำงานด้วยความเสียสละ ทั้งยังสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ โดยไม่ได้มีความซื่อสัตย์สุจริตแม้แต่น้อย

นักการเมืองไทยมีความเชื่อมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า ตำแหน่งทางการเมืองคือ “ประตูทอง” ของโอกาสที่จะก้าวไปสู่ “สิ่งดีๆ” ในชีวิตของเขา ส่วนหนึ่งก็คือ อำนาจวาสนา และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ความร่ำรวยมั่งคั่ง เริ่มต้นด้วยวัฒนธรรมทางสังคมที่คนไทยต้องมี “บรรณาการ” คือสิ่งตอบแทนแบบที่เรียกว่า “สินน้ำใจ” เพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการติดต่อการงานกับทางราชการ ซึ่งนักการเมืองคือผู้ควบคุมราชการเหล่านั้น ดังนั้นการวิ่งเต้นนำบรรณาการไปให้กับนักการเมืองจึงมี “ประสิทธิภาพ” มากกว่าที่จะไปวิ่งเต้นกับข้าราชการตามปกติ

การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจึงเริ่มต้นจากการใช้อำนาจของนักการเมืองผ่านระบบราชการ ในขณะเดียวกันระบบราชการไทยก็คุ้นเคยกับการ “สนองนโยบาย” ผู้มีอำนาจมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงกลายเป็นวัฒนธรรมการคอร์รัปชั่นแบบ “ขนมผสมน้ำยา” คือทั้งนักการเมืองและข้าราชการนั่นเองที่ร่วมกันทุจริตคดโกง ร่วมกันทำร้ายประเทศชาติและประชาชน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบการเมืองไทยค่อนข้างจะไร้เสถียรภาพ มีการรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งมาเป็นระยะๆ อำนาจทางการเมืองจึงสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ระหว่างนักรัฐประหารกับนักเลือกตั้ง ซึ่งก็สร้างปรากฏการณ์ในการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นลักษณะ “แบบไทยๆ” อย่างที่เรียกว่า “สมบัติผลัดกันชม” หรือ “ทีใครทีมัน” นั่นก็คือเมื่อถึงยุคที่ใครขึ้นมามีอำนาจ คนกลุ่มนั้นก็จะสร้างฐานอำนาจขึ้นในกลุ่มตน ด้วยการแจกจ่ายผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมืองให้กับพรรคพวกของตน อันเป็นที่มาของความขัดแย้งในระบบการเมืองไทย นั่นก็คือความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจนั่นเอง

ดังที่ได้พรรณามาในบทความนี้ถึงวิธีการทำมาหากินของนักการเมืองไทยมาโดยลำดับ ก็มีประวัติศาสตร์บันทึกไว้แล้วว่า ประชาชนคนไทยไม่เคยขัดแย้งกัน แต่ถ้าจะมีปัญหาความขัดแย้งกันก็มักจะเกิดจากพวกชนชั้นนำนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ แล้วก็ชักจูงเอาประชาชนเข้าไปร่วมขัดแย้ง โดยแบ่งกันตามกลุ่มของผู้นำ ตั้งแต่ในยุคแรกที่ในคณะราษฎรก็แบ่งเป็นคณะราษฎรฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือน จนฝ่ายทหารขึ้นครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จใน พ.ศ.2490 ทหารก็สร้างฐานอำนาจร่วมกับพ่อค้า ภายใต้ระบบการให้สัมปทาน และการแจกจ่ายผลประโยชน์ให้แก่บริวารคือทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ ผ่านการให้ตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ และตำแหน่งต่างๆ ในรัฐสภาและรัฐบาล เรียกว่า “ยุคนายทุนขุนศึก”

แต่ก็มาสะดุดลงในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 แล้วทหารก็คืนสู่อำนาจอีกในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม2519 แล้วก็มีการรอมชอมอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 “ร่วมผลประโยชน์กัน” ระหว่างทหารกับนักเลือกตั้ง กระทั่งมาเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม2535 ที่นำมาสู่การปฏิรูปการเมือง โดยมุ่งหวังที่จะกำจัดนักการเมืองชั่วๆ และนักรัฐประหารแย่ๆ ให้พ้นจากระบบการเมืองไทย แต่เมื่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นมามีอำนาจใน พ.ศ.2544 ก็ใช้อำนาจที่ได้จากประชาชนนั้นมาสร้าง “บุญบารมี” ให้กับตนเอง จนถึงขั้น “เหลิงอำนาจ” คิดจะฮุบครองประเทศไทย จึงถูกยึดอำนาจ

โดยที่ทหารเองก็พยายามจะกำจัดนักการเมืองกลุ่มนี้มาโดยตลอด ด้วยการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แต่กระนั้นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเหล่านั้นก้ยังไม่สินสุด แถมยังพาเอาประชาชนเข้าไปร่วมเป็นคู่ขัดแย้งอีกด้วย ดังที่ได้เห็นจากม็อบกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้

ถ้าจะตอบคำถามที่ว่า ทำไมนักการเมืองจึงชอบคดโกงประชาชน ก็คงจะต้องมองไปทั้งคนสองกลุ่มนี้ร่วมกันไป เพราะถ้าประชาชนไม่ “ก้มหัวให้” หรือให้ความยินยอม นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทั้งหลายก็คง “ทำมาหากิน” ไม่สะดวก แต่ถ้าจะโทษกันจริงๆ แล้วก็ต้องโทษไปที่วัฒนธรรมทางการเมืองไทยนั่นแหละ ที่เป็นระบอบอุปถัมภ์ ซึ่งเริ่มด้วยแนวคิดที่ดีเกี่ยวกับการเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองดูแล อย่างที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบอบศักดินา จนทำให้คนไทยเห็นเป็นเรื่องปกติของการพึ่งพิงกันและกัน กระทั่งกลายเป็นระบบการใช้เส้นสายและอิทธิพล ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “วงจรอุบาทว์ทางการเมือง” ทำให้คนไทยเป็นคนเฉื่อยชาทางการเมือง เพราะคุ้นชินกับการได้นับบริการและความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจ ที่สุดผู้มีอำนาจก็ใช้ความนิ่งเฉยของคนไทยไปสร้างประโยชน์ “ทำมาหากิน”

แต่ในยุคสมัยที่คนไทย “ไม่ยอมทน” เช่น 14 ตุลาคม 2516 พฤษภาคม 2535 ล้มระบอบทักษิณ 2548 - 2549หรือ กกปส. 2556 – 2557 ออกมาต่อสู้เรียกร้องขับไล่พวกเผด็จการทั้งยุคทหารและยุคพลเรือน พวกชนชั้นนำเหล่านั้นก็ไม่ได้แน่จริงเท่าใดนัก และก็ต้องพ่ายแพ้แก่ประชาชนไปในที่สุด

การตัดหนทางทำมาหากินของนักการเมือง ซึ่งส่วนมากจะเป็นการคอร์รัปชั่นโกงกินบ้านเมืองนั้น มีอยู่เพียงหนทางเดียว คือการลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้ายของนักการเมืองพวกนั้น ซึ่งในยุคต่อไปนี้อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาตามท้องถนนให้ใครมาฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ทำร้ายประชาชนให้ล้มตายไปอีกแล้ว แต่คนไทยสามารถสู้ได้แม้จะอยู่ในที่ใดๆ ด้วยการ “ลุกขึ้นในใจ” ที่จะต่อต้านและล้มล้างระบบกับคนชั่วนั้นไว้ให้มั่นคง

ทุกๆ วันจงท่องคาถาว่า “เผด็จการจงสิ้นไป ประชาธิปไตยจงเจริญ”

*******************************