posttoday

"กรองข่าวมาเล่า" ตรรกวิบัตทางการเมือง

27 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

******************************

เขียนอย่างไรก็เชียร์ไม่ขึ้นสำหรับคดีของพรรคอนาคตใหม่(อนค.) เพราะความผิดค่อนข้างชัดเจน แม้แต่คนที่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองก็พอจะรู้ว่า พรรคอนค. มีโอกาสสูงที่จะถูกยุบ ผลกระทบที่ตามมาโดยพลันคือ กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10ปี ส.ส.พรรคแตกกระสานซ่านเซ็นต้องไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน แกนนำพรรคบางรายอาจถูกฟ้องติดคุกในโอกาสต่อไป

ทีมงานปฏิบัติการข่าวสารของพรรคต้องทำงานอย่างหนัก ในการหาแฮชแท็กเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพรรค ใช้แฟลชม็อบปลุกระดมนักศึกษามหาวิทยาลัยใน กทม. และต่างจังหวัดให้ลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เริ่มจากในมหาวิทยาลัยก่อน แล้วต่อไปก็จะออกนอกมหาวิทยาลัย

อาจารย์จำนวนหนึ่งของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ในทำนองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล โดยอ้างว่าเป็นการวิจารณ์เชิงวิชาการ นำเสนอต่อสังคมเพื่อให้มีการถกเถียงกันต่อไปในประเด็นว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนหรือนิติบุคคลมหาชน เพราะผลที่ตามมานั้นแตกต่างกัน โดยคณะอาจารย์กลุ่มนี้มองว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน และอ้างอิงกฎหมายในอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย แต่ก็ถูกนักวิชาการและผู้รู้อีกกลุ่มหนึ่งเปิดเผยข้อเท็จจริงพร้อมกับหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ระบุชัดเจนว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชนจะได้รู้กันว่าใครถูกใครผิด ใครมั่วหรือไม่มั่วอย่างไร หรือมีการใช้อัตตาและความรู้สึกรักชอบบดบังความเห็นทางวิชาการ

พรรค อนค.พยายามหาข้อแก้ตัวเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปลุกระดมโดยอ้างว่า พรรค อนค.ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่า 6 ล้านเสียง หรือจากประชาชนกว่า 6 ล้านคน จะให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีกรรมการส่วนใหญ่ 7 ต่อ 2 มายุบพรรคได้อย่างไร เวลานี้ ประเด็น 6 ล้านเสียงถูกนำมาใช้ทั้งกองเชียร์คนไทยและฝรั่งมังค่ากันมาก แฮชแท็กประเด็นนี้ติดในลำดับต้นๆ ทีเดียว

ต่อไป ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ก.ก.ต. และ ป.ป.ช. รวมทั้งองค์กรอิสระอื่น ๆ คงวินิจฉัยความผิดของพรรคการเมืองประเภทนี้ไม่ได้เพราะคณะกรรมการต่างๆ มีเพียง 7-9 คนเท่านั้น ไหนเลยจะสู้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นหลายล้านคน แม้แต่ฝรั่งมังค่าของสถานทูตบางแห่งก็ยังบ้าไปกับตรรกะแบบนี้ด้วย

ไม่ว่าเราจะอธิบายอย่างไร บรรดากองเชียร์พรรคนี้ก็คงไม่เข้าใจหรือไม่พยายามเข้าใจ เพราะรักชอบฝังใจกันแล้ว เอาอย่างนี้ดีกว่า คนไทยชอบดูฟุตบอลมากทั้งลีคฝรั่งและลีคไทย เราลองประยุกต์เอาเรื่องฟุตบอลมาอธิบายเปรียบเทียบดีกว่า

ใครก็รู้ว่า กีฬาทุกชนิดรวมทั้งฟุตบอลต่างก็มีกฎกติกามรรยาทด้วยกันทั้งสิ้นที่ถูกกำหนดไว้และได้รับกันโดยทั่วไป ใครจะเล่นฟุตบอล ก่อนอื่นต้องไปศึกษากฎกติกามรรยาทของเกมว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ มีผู้ตัดสินในสนามซึ่งมีอำนาจสูงสุดมีผู้กำกับเส้นสองข้างคอยช่วย ปัจจุบัน มีการถ่ายวิดิโอที่หากผู้ตัดสินมองเห็นไม่ซัดกลัวตัดสินผิด ก็ขอดูวิดิโอประกอบการตัดสินได้

เมื่อกรรมการตัดสินอย่างไรก็จบ หากไม่พอใจจะไปร้องเรียนต่อสมาคมในภายหลังก็ว่าอีกเรื่อง แต่ถ้านักฟุตบอลทำผิดจริง นอกจากถูกตัดสินตามความรุนแรงของความผิดที่ได้กระทำแล้ว อาจถูกห้ามเล่นระยะหนึ่งก็ได้ดังนั้น ก่อนจะกระโดดลงสู่สนามฟุตบอล นักฟุตบอลนอกจากเรียนรู้และหาประสบการณ์ในการเล่นแล้ว ยังต้องเรียนรู้กฎ กติกา มรรยาทของเกมซึ่งมีความสำคัญมากเพื่อไม่ให้ถูกทำโทษ นักฟุตบอลต้องมีใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ รู้ผิดรู้ถูก ถ้าเห็นว่ากติกานี้ไม่เป็นธรม รับไม่ได้ ก็ไม่ต้องลงไปเล่นภายใต้กฎกติกาสากล อยากเล่นก็เล่นกับเพื่อน ๆ แล้วตกลงกติกากันเองตามความพอใจก็แล้วสร้างสนามขึ้นมาใหม่ จะเอากว้างยาวเท่าไร จะเตะแข้งเตะขาหรือต่อยกันในสนามก็ได้แล้วแต่อยากกำหนดกติกาอะไรก็ว่ากันไป

ก่อนจะลงแข่งทุกครั้ง โคชและนักฟุตบอลต้องศึกษาคู่แข่งเป็นอันดับแรก ว่าคู่แข่งมีจุดแข็งจุดอ่อน มิวีธีการเล่นอย่างไร อาจต้องเอาวิดิโอการเล่นของคู่แข่งมาศึกษา หาจุดแข็งจุดอ่อนของคู่แข่งเปรียบเทียบกับของเราทีมฟุตบอลแต่ละทีมต่างมีกองเชียร์ "แฟนคลับ" หรือเอฟซี ของตนมากน้อยแตกต่างกันไป ในการแข่งขันฟุตบอลแต่ละนัด จะมีแฟนคลับของสโมสรหรือของทีมนั้นไปเชียร์กันมากมาย ทำให้บรรยากาศในสนามสนุกสนานคึกคัก แฟนฟุตบอลก็ต้องรู้และเคารพในกฎกติกามารยาทของการดูฟุตบอลเช่นกัน ไม่ใช่พอไม่พอใจคำตัดสิน หรือไม่พอใจผู้เล่น ก็ขว้างขวด ขว้างก้อนอิฐ ยิงหนังสติ๊ก หรือเฮลงไปกระทืบผู้ตัดสินหรือนักฟุตบอลฝายตรงข้าม

นักฟุตบอลก็เช่นกัน ไม่ใช่ไม่พอใจผู้ตัดสินแล้วกระโดดต่อย เตะถีบ รุมทำร้ายผู้ตัดสิน หรือเรียกให้กองเชียร์ลงมาทำร้ายผู้ตัดสิน หรือข่มขู่ว่า ผู้ตัดสินคนเดียวจะมาลงโทษทีมที่มีกองเชียร์เป็นพันเป็นหมื่นได้อย่างไร

ถ้ามีตรรกวิบัติแบบนี้ ก็อย่ามาเล่นหรือดูฟุตบอลเลย นอนดูละครทีวีอยู่ที่บ้านดีกว่า ทำนองเดียวกัน หากนักการเมืองมีตรรกวิบัติแบบนี้ ก็อย่าเล่นการเมืองเลย

หากจะเล่นการเมือง ก็ต้องศึกษากฎ กติกา มรรยาท ทางการเมืองกฎกติกาดังกล่าวก็คือ กฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560ซึ่งผ่านการลงประชามติมาแล้วด้วยเสียง 60 ต่อ 40 อันเป็นกติกาที่ใช้สำหรับการเมืองปัจจุบัน พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ร.ป.เลือกตั้ง พ.ร.ป. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ก่อนจะเล่นการเมือง นักการเมืองทั้งหลายต้องยอมรับกฎกติกามรรยาทพื้นฐานนี้ก่อน แต่เพราะไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบพอ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทั้งที่ตัวเองทำ กลับมาโวยหรือจะเอาแฟนคลับออกมาชุมนุมประท้วง แทนที่จะก้มดูสำรวจตัวเองว่า ตนได้ทำผิดและพลาดอะไรไปบ้างทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่พอทำผิดพลาดขึ้นมาก็บอกว่า กฎกติกไม่ดี ต้องแก้กติกาใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตน ปลุกระคมแฟนคลับให้ออกมาเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนโดยตรง

ก่อนจะลงสนาม ควรศึกษาคู่แข่งวามีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง เปรียบเทียบกับตนเอง ศึกษาสนามแข่ง สภาพภูมิอากาศ คนเชียร์ ฯลฯ เพราะการแข่งแต่ละขณะ แต่ละสนาม กับคู่แข่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน กลับมองตัวเองเป็นหลักว่าเป็น

ทีมที่เหนือวิเศษกว่าคนอื่น ดูถูกคู่แข่งไปหมด สุดท้าย ตัวเองก็พัง ไม่ใช่พังเพราะคนอื่น แต่พังเพราะตัวเอง หรือพูดให้สั้นก็คือ พังเพราะแกนนำไม่เกิน 3 คนในพรรคนี้

แต่ยังไม่รู้ตัว กลับปลุกระคมแฟนคลับคนวัยหนุ่มสาวให้ลุกขึ้นมา ให้เกิด"การปะทะระหว่างวัย" ตามที่แกนนำต้องการให้เป็น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของบ้านเมือง ไม่คำนึงถึงประชาชนคนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบเรียบรอยต่อเนื่อง เพื่อให้บ้านเมืองมีโอกาสพัฒนา ก้าวข้ามปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญหน้าอยู่ปัจจุบัน ลดและขจัดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อนๆ เพื่อให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้ ไม่ดีกว่าหรือ เพราะผลที่จะได้ก็ได้กับคนรุ่นปัจจุบันนี้เอง

คนหนุ่มสาวต้องตั้งสติคิดสักหน่อย อย่าตกเป็นเหยื่อของการปลุกระดมให้เกิด "การปะทะกันระหว่างวัย" ตามแผนที่เขาวางไว้(สัปดาห์หน้าจะเปิดโปงแผนชั่วร้ายของฝรั่งที่แทรกแซงกิจการภายในและละเมิดอธิปไตยของชาติ รวมทั้งคนไทยบางพวกที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหว ต่อจากที่คุณนันทิวัฒน์ สามารถให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนแล้ว)