posttoday

วิธีการ “ทำมาหากิน” ในรัฐสภาไทย (4)

22 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

อะไรเอ่ย? มีชีวิตที่เร่ร่อน “ไม่รู้จักไปผุดไปเกิด” แบบสัมภเวสี

มีผู้ทำสถิติไว้ว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2518 มาจนถึงครั้งล่าสุดเมื่อปีกลายนี้ ส.ส.บางคนในรัฐสภาของไทย “ย้ายพรรค” ไปมาถึง 8 พรรค! และเกือบครึ่งของ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในในครั้งหลังสุดนี้ล้วนแต่ผ่านการย้ายพรรคมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง โดยมี ส.ส.ประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.เก่าที่เคยลงเลือกตั้งมามากกว่า 2 ครั้ง เคยย้ายพรรคมาเกินกว่า 2 พรรค!

สาเหตุของการย้ายพรรคมีอยู่หลายประการ ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนประมวลรวบรวมมาด้วยประสบการณ์ที่ยุ่งเกี่ยวอยู่ในทางการเมือง ทั้งในทางวิชาชีพและวิชาการ ก็พอจะมีอยู่ดังนี้

ประการแรก เป็นการย้ายตาม “เจ้านาย” ซึ่งส่วนมากก็จะเป็น “เจ้าพระเดชนายพระคุณ” กันมาตั้งแต่เริ่มแรก แบบว่าเจ้านายย้ายไปพรรคไหนหรือตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาก็จะย้ายตามเจ้านายไปด้วย

ส.ส.ประเภทนี้บางคนก็มีความจงรักภักดีสูง ไม่เคยไปอยู่พรรคอื่นเลย จนกว่าเจ้านายจะตายไปหรือล้างมือออกจากวงการไป ก็มีบางคนย้ายไปอยู่พรรคอื่น หรือไปอยู่ที่เจ้านาย “ฝากฝัง” ไว้นั้นต่อไป

แต่ก็มีจำนวนมากที่เมื่อเข้ามาเป็น ส.ส.ใหม่ๆ ก็เจียมเนื้อเจียมตัว ทำตัวพินอบพิเทา ทำตามคำสั่งหรืออยู่ในโอวาทของเจ้านายทุกอย่าง แต่พอ “ปีกกล้าขาแข็ง” ก็หาหนทางที่จะออกไปจากอ้อมอกของเจ้านายเดิม

บางคนที่ดีหน่อยก็ยังเคารพนับถือและพูดถึงเจ้านายเดิมในทางที่ดี แต่ที่แย่ๆ (ไม่กล้าใช้คำว่า “เลวๆ” เพราะกลัวข้อหาหมิ่นประมาท)ก็จะไป “ลากไส้” หรือนำความไม่ดีไม่งามต่างๆ ของเจ้านายเดิมไปแฉ แบบที่เรียกว่าขายทั้งตัวและจิตวิญญาณ ซึ่งก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในพรรคใหญ่ๆ หลายๆ พรรคในเวลานี้

ประการต่อมา เป็นการย้ายพรรคเพื่อความอยู่รอด เช่น อาจจะเจอวิบากกรรมบางอย่าง คือพรรคเดิมเขาไม่เอาไม่เลี้ยงแล้วบ้าง หรือเห็นว่าพรรคเก่ากำลังจะไปไม่รอดและไม่มีอนาคต ก็เลยตัดสินใจไปหาพรรคใหม่

บางคนก็ใช้วิธีการย้ายพรรคเพื่อ “ปั่นค่าตัว” หรือเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวเอง ในทำนอง “เร่ขาย” หรือ “เข้าร่วมการประมูล” โดยเฉพาะเมื่อการตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา หรือมีการปรับโครงสร้างพรรคเดิมเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส. และการ “กวาดต้อน” ผู้ที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งให้เข้ามาในพรรค ซึ่งไม่มีวิธีการใดง่ายไปกว่า การไปหาซื้อหรือประมูลตัวเอามาจากอดีต ส.ส.ทั้งหลาย ซึ่งคนพวกนี้ก็จะมีระดับหรือ “เกรด” ต่างๆ กัน ตามแต่ว่าจะเป็น ส.ส.มาแล้วกี่สมัย มีฐานเสียงแน่นหนาแค่ไหน รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงแบบที่เรียกว่า “ดารา” หรือ “เซเล็บ” ก็จะมีราคาค่าตัวมากขึ้นตามชื่อเสียงดังกล่าว

เพราะฉะนั้นเราจึงพบว่ามีอดีต ส.ส.หรือผู้ที่อยากเป็น ส.ส.จำนวนมาก พยายามทำตัวให้เด่นดัง สร้างภาพ สร้างข่าว และ “ออกงาน” อยู่เป็นระยะ เพื่อให้สังคมติดหูติดตา ซึ่งบางทีก็เลยเถิดกลายเป็นความทุเรศน่ารำคาญ หรือมี “ชื่อเสีย” ไปโน่นเลย

อีกประการหนึ่ง เป็นเรื่องของ “สถานการณ์ทางการเมืองบีบบังคับ” โดยเฉพาะในบรรยากาศที่มีการ “เลือกข้าง-สร้างขั้ว” เช่น ในยุคที่ทหารขึ้นครองเมือง เมื่อทหารต้องการที่จะสืบทอดอำนาจโดยใช้รัฐสภาและนัการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นฐานหนุน (เพื่อแสดงให้เห็นว่าทหารไม่ได้หวงอำนาจและต้องการสร้างประชาธิปไตย)

วิธีการอย่างหนึ่งที่นิยมกันก็คือการกวาดต้อนอดีต ส.ส.ให้มาเข้าพรรคที่ทหารบงการหรือสร้างขึ้น เช่น พรรคสหประชาไทยใน พ.ศ.2512 พรรคสามัคคีธรรมใน พ.ศ. 2535 รวมถึงพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันนี้ด้วย

โดยที่นักการเมืองที่เข้าไป “ซบซุก” อยู่กับทหารทั้งหมดนี้ บางส่วนก็อาจจะเข้าไปโดยสมัครใจ บางส่วนก็ถูกซื้อตัวหรือถูกบังคับกลายๆ บางส่วนก็ถูก “แบล็คเมล์” ข่มขู่ด้วยคดีความหรือ “แผลเน่า” บางอย่าง จนที่สุดก็คือการใช้ “อิทธิพลมืด” เพื่อให้มายอมสยบ

แต่ก็มีอยู่ยุคหนึ่งเหมือนกันที่ผู้นำพลเรือนเมื่อสักสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็ใช้ “ยุทธศาสตร์” เช่นเดียวกันนี้ คือกวาดต้อนผู้คนด้วยจำนวนเงินมหาศาลเพื่อสร้างพรรคให้ยิ่งใหญ่

แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือการใช้ “แรงบีบทางการเมือง” แบบว่าถ้าใครไม่เข้าด้วยกับพรรคของเขาแล้วก็จะ “ไม่มีที่ยืน” คือจะถูกกีดกันไม่ให้ลงเลือกตั้ง จนถึงใช้ระบบหัวคะแนนที่จะไม่สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นๆ (แต่บัดนี้คนที่ทำแบบนั้นก็ยังกลับประเทศไม่ได้ และเมื่ออิทธิพลเสื่อมลงแล้วก็หมดพลังที่จะดึงนักการเมืองที่เคยอยู่กับตัวเองนั้นให้จงรักภักดีแก่ตนได้อีกต่อไป โดยจำนวนมากได้ไปอยู่กับฝ่ายตรงข้าม และที่เหลืออยู่ก็ไม่มีใครเกรงกลัวใคร ทำให้พลังทางการเมืองเสื่อมถอยลงไปอย่างน่าสังเวช)

ผู้เขียนเคยคุยกับ ส.ส.ที่เคยย้ายพรรคมาแล้ว 5 พรรค เขาบอกว่าอย่าซ้ำเติมเขาเลย การเกิดเป็นนักการเมืองในประเทศไทยนั้นเป็น “ชีวิตที่ไม่มีทางเลือก”

ตอนที่เขาเรียนจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ ก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ที่อยากจะเห็นบ้านเมืองของตนเองเจริญก้าวหน้า อยากเห็นการเมืองที่ดี จึงเลือกพรรคการเมืองที่ดีที่สุด ซึ่งในยุคนั้นคนเขานิยม “ซ้าย” ก็เลยลงสมัครในพรรคการเมืองแนวแบบนั้น แล้วก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ต่อมาการเมืองเปลี่ยนไป คนไทยต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตัวเขาเองก็ต้องหาพรรคอื่นลง

ต่อมาทหารครองเมืองก็ต้องไปเข้าด้วยกับพรรคของทหาร พอมาถึงยุคของ “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ก็ต้องตามพรรคพวกไป และเมื่อพรรคนั้นถูกยุบก็ต้องหาพรรคใหม่อยู่ ดีนะที่พอดีอายุมากขึ้นและเกิดเบื่อหน่ายชีวิตนักการเมือง (แต่มีคนแอบนินทาว่าพี่แก “รวยแล้วเลิก”) เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจึงไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก

การเมืองก็เป็น “ละครชีวิต” แบบหนึ่ง เมื่อชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป