posttoday

การปรองดองกับการให้อภัย

14 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...โคทม อารียา

************************

อาจารย์วิภาดา กิตติโกวิทให้หนังสือหลายเล่มที่เธอแปลแก่ผม เล่มหนึ่งคือหนังสือชื่อ “บนเส้นทางแสวงหา...คืนสู่ตน” เขียนโดยนักประพันธ์ชาวเยอรมัน แฮร์มันน์ เฮสเสอะ มีประโยคสนทนาประโยคหนึ่ง ซึ่งเราน่าจะนำมาไตร่ตรอง เขาเขียนว่า “เมื่อแกเกลียดคนคนหนึ่ง มันคือแกเกลียดบางสิ่งบางอย่างในตัวเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวแกเอง สิ่งที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรา จะไม่สะเทือนเรา” ในสังคมออนไลน์ เราแสดงความเกลียดชังได้ง่ายเหลือเกิน

นั่นเป็นการฉายตัวตนออกไปภายนอก แต่ถ้าจะมองมาภายใน แสวงหาทางคืนสู่ตนให้มากขึ้น เราอาจค้นพบว่ามนุษย์ต่างมีชะตากรรมของตน เมื่อเดินตามชะตากรรมหรือแรงขับจากภายใน ผู้อื่นจะตัดสินการกระทำว่าดีหรือชั่ว แต่ดีหรือชั่วมีอยู่ในตัวเราทุกคน ถึงแม้เราจะเกลียดการกระทำ แต่หากเข้าใจจุดอ่อนของมนุษย์เช่นนี้แล้ว เราพร้อมจะให้อภัยหรือไม่

การให้อภัยเป็นเรื่องยาก เหยื่อความรุนแรงมักไม่สามารถให้อภัยได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเกรงว่าการให้อภัยจะไม่เป็นธรรมแก่เขา ผู้สูญเสียมากเหลือเกิน การให้อภัยจะทำให้การกระทำผิดเจือจางลงไหม จะเป็นเหตุให้ทำผิดซ้ำ หรือมีคนเอาเยี่ยงอย่างบ้างไหม

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่สำคัญของการให้อภัย คือผู้ที่กระทำผิดยอมรับ พร้อมที่จะเยียวยาหรือชดเชยแก่ผู้เสียหาย และพร้อมที่จะขอโทษหรือไม่ กระนั้น การให้อภัยถือเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม และเป็นเหมือนความกรุณาที่ “หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ” เราควรคิดว่าการอภัยไม่ใช่การลบเลือนความทรงจำ หากช่วยให้อยู่กับความทรงจำนั้นได้ดีขึ้น เราย่อมให้อภัยแก่คน ไม่ได้ให้อภัยแก่การกระทำที่ผิดหรือรุนแรง และการให้อภัยเป็นการคืนดีกับส่วนหนึ่งของตัวเราด้วย

ผู้อ่านอาจคิดว่าผมกำลังพาดพิงถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการกราดยิงที่โคราชเมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ความจริงก็ใช่ แต่ยังเร็วไปที่จะพูดถึงการให้อภัย ความเจ็บปวดยังรุนแรงมาก และต้องการการเยียวยาเป็นสำคัญ แต่ข่าวที่อยากพูดถึงคือ การตัดสินคดีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ของแกนนำพันธมิตรที่บุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (แต่ก่อนเรียกว่าช่อง 11) อัยการเป็นโจทย์ฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 5 คนว่า เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2551 จำเลยกระทำความผิดก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นำคนที่พกพาอาวุธและบุกรุกเข้าไปในบริเวณและอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทำลายข้าวของเสียหาย และร่วมกันข่มขืนใจพนักงานไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่

จำเลยทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธ ศาลพิพากษามีใจความว่า กลุ่มพันธมิตรพังประตูรั้วเหล็ก ฝ่าตำรวจเข้าไปบุกรุกพื้นที่และอาคารจริง จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวาย บุกรุก ร่วมกันทำให้สิ่งของเสียหาย และข่มขืนใจผู้อื่น จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี และจำเลยอีก 4 คนเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากนั้นศาลก็ให้จำเลยประกันตัวไปในขณะรอการอุทธรณ์

เหตุการณ์บุกรุกที่เพิ่งมีการตัดสินโดยศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 12 ปีมาแล้ว อันที่จริงความขัดแย้งทางการเมืองได้เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นปีการก่อตั้งของกลุ่มพันธมิตร

กล่าวได้ว่าในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยไม่ปกติ มีกลุ่มที่จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ ๆ และเป็นการชุมนุมในท้องถนนที่ยืดเยื้อ รวม 3 กลุ่ม คือกลุ่มพันธมิตร กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในช่วงปี 2548-2549 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นการเผชิญหน้ากับรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียและการฟ้องร้องไม่มากนัก แต่ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการรัฐประหารในปี 2549

อย่างไรก็ดี คณะรัฐประหารได้อำนวยให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งโดยเร็ว จึงไม่ถือเป็นภาคีหนึ่งในความขัดแย้ง การจัดชุมนุมยืดเยื้ออีกครั้งของกลุ่มพันธมิตรในปี 2551 เป็นความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่สูงขึ้น มีการสูญเสียและการฟ้องร้องกันมากขึ้น และน่าจะเป็นปัจจัยโดยอ้อมปัจจัยหนึ่งของการยุบพรรคพลังประชาชน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล

ความขัดแย้งจึงเปลี่ยนมาเป็นการเผชิญหน้าระหว่าง นปช. กับรัฐบาลใหม่ การชุมนุมยืดเยื้ออีกครั้งในระหว่าง เมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้มีการสูญเสียและการฟ้องร้องกันมากขึ้นไปอีก พออำนาจการเมืองเปลี่ยนอีกครั้งหลังเลือกตั้ง ก็ถึงคราวที่ กปปส. จะออกโรง การจัดชุมนุมอย่างยืดเยื้อของ กปปส. น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการรัฐประหารในปี 2557 แต่คราวนี้คณะรัฐประหารคิดจะอยู่ยาว จึงกลายเป็นขั้วการเมืองขึ้นมาอีกขั้วหนึ่ง

ความขัดแย้งเดิมก็เคลื่อนตัวมาเป็นความขัดแย้งระหว่างทหารการเมือง กับฝ่ายที่เห็นว่าทหารควรอยู่ในกรมกอง ปัจจุบันทหารการเมืองได้เปรียบเพราะควบคุมข้าราชการประจำโดยเฉพาะทหารด้วยกันเองได้ดีกว่า และมีนักกฎหมายที่ชอบการปกครองแบบทหารมาช่วยสร้างความชอบธรรมอำพราง ประกอบกับการชวนเชื่อว่าคบกับทหารแล้วจะมั่นคง (ไม่มีการชุมนุมยืดเยื้อที่พยายามจะมาล้มรัฐบาล) มั่งคั่ง (เศรษฐกิจจะดี เพราะนักธุรกิจชอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ อีกทั้งจะปราบโกงอย่างจริงจัง) และยั่งยืน (เพราะเราจะปรองดองกัน) ทว่า สิบห้าปีมีแต่ความขัดแย้ง ผู้มีอำนาจมีแต่บอกว่าจะสร้างความปรองดอง

มหาวิทยาลัยขอนแก่นผลิตตำราเล่มหนึ่งในปี 2560 ชื่อ “ว่าด้วยความปรองดอง” เขียนโดยศิวัช ศรีโภคางกุล เนื้อหาภาคที่ 1 เป็นเชิงแนวคิด ภาคที่ 2 เป็นตัวอย่างต่างประเทศที่มีประสบการณ์สร้างความปรองดอง โดยการเปลี่ยนมุมมองเหตุบาดหมางในอดีต หันมาเยียวยาและให้เกียรติกันในปัจจุบัน บทที่ 1 มีชื่อเหมือนชื่อหนังสือคือ “ว่าด้วยความปรองดอง” บทนี้จำแนกเรื่องที่ควรทำเพื่อให้เกิดการปรองดองดังนี้ (1) การทำความจริงให้ปรากฏ (2) การดำเนินการต่อผู้ก่อความรุนแรง (3) การช่วยเหลือเยียวยา (4) การให้อภัย (5) การรักษาความทรงจำในอดีต (6) การปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคง ผู้เขียนได้นำบางหัวข้อไปขยายความในบทถัด ๆ ไป

คณะรัฐประหารได้ยึดและครองอำนาจต่อมา (โดยอาศัยกติกาเข้าข้าง) นานร่วม 6 ปีแล้ว น่าจะถึงเวลาที่จะทำตามสัญญาในเรื่องการสร้างความปรองดองเสียที ขั้นตอนแรก ๆ ของการปรองดองคือการทำความจริงให้ปรากฏ คือ ศาลได้วินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการขัดแย้งทางการเมืองมาหลายคดีแล้ว ผู้เกี่ยวข้องแม้จะชอบบ้างไม่ชอบบ้างกับการตัดสิน ก็ต้องยอมรับคำวินิจฉัยในระดับหนึ่งในฐานะพลเมืองของประเทศนี้

ข้อเท็จจริงได้ปรากฏจากคำวินิจฉัยไม่มากก็น้อย ส่วนใหญ่ก็วินิจฉัยว่าผู้นำการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตร กลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส. ก็มีการกระทำผิดต่อรัฐและต่อผู้อื่น (มีแต่กลุ่ม คสช. ที่แม้จะทำผิดต่อรัฐ แต่ก็ยกโทษให้ตนเองไปแล้ว) ผู้นำบางคนยังถูกจำคุกอยู่ บางคนพ้นโทษมาแล้ว ถือได้ว่าได้ดำเนินการต่อผู้ก่อความรุนแรง (ข้อที่ (2) ของขั้นตอนการปรองดอง) รวมทั้งเยียวยาผู้เป็นเหยื่อของความรุนแรง (ข้อที่ (3))ไปแล้วไม่มากก็น้อย

จึงขอเสนอว่าสังคมไทยควรเดินหน้าต่อไปในขั้นตอนการปรองดอง และพิจารณาให้อภัยแก่ผู้นำพันธมิตร ผู้นำ นปช. ผู้นำ กปปส. ในการกระทำที่ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง โดยการนิรโทษกรรมในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต เพื่อจะได้ช่วยสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ขั้นตอนที่ (5) คือ “การรักษาความทรงจำในอดีต” ที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันคิด เช่น จะนำอัฐิของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 2549 – 2557 ไปไว้ที่ไหนดี จะมีพิธีรำลึกการสูญเสียของฝ่ายต่าง ๆ ร่วมกันไหม หรือมีวิธีใดที่จะช่วยเยียวยาสังคม เพื่อจะเดินหน้าไปด้วยกัน

ส่วนการปรองดองกับทหารการเมืองก็ย่อมทำได้ ถ้าจะยอมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้มีความยุติธรรม ความสมดุล และลอกคราบบทบัญญัติแปลก ๆ ที่ถูกล้อเลียนว่า “ออกแบบมาเพื่อเรา” ออกไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการถกแถลงเรื่องการปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคงอย่างจริงจัง และขอให้ผู้นำทหารเข้าร่วมด้วย โดยมีข้อคำนึงว่า “อำนาจที่ได้มาโดยมิชอบ เอาไปใช้ในชาติหน้าไม่ได้”

แต่ผมเป็นห่วงผู้นำการชุมนุมในอดีตหลายคนที่รอฟังคำพิพากษาของศาลอยู่ หรือถูกจองจำอยู่ สังคมจะได้มากกว่าเสียถ้ายอมให้อภัย ยอมรับการนิรโทษกรรม เพราะหมายถึงการให้อภัยส่วนหนึ่งของตัวเราเองด้วย