posttoday

ทหารผ่านศึกที่ถูกลืม

13 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์

เชื่อว่าคนกรุงเทพทุกคนหรือเกือบจะทุกคนเคยผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาแล้ว หลายคนอาจมองแล้วผ่าน บางคนอาจมองว่าอนุสาวรีย์ที่มีรูปแหลมๆ สูงขึ้นไปคืออะไร ทำไมถึงต้องมีทหารยืนอยู่รอบด้าน หากใครผ่านอนุสาวรีย์นี้ในเวลาเช้าของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปีซึ่งเป็น “วันทหารผ่านศึก” จะเห็นพิธีวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์แห่งจี้ เช่นเดียวกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เพิ่งผ่านมา

อนุสาวรีย์แห่งนี้ เมื่อ “มองด้วยตา” จะเห็นเพียงแท่งปูนซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นรูปอะไรอนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2485 เป็นแท่งคอนกรีตเสริมเหล็กประกอบด้วยหินอ่อน สูงประมาณ 50 เมตร ที่เห็นเป็นแท่งสูงสี่แฉกขึ้นไปคือ “ดาบปลายปืน” โดยมีรูปปั้นของทหารบก เรือ อากาศ ตำรวจ และพลเรือนยืนล้อมรอบ ได้รูปปั้นมีแผ่นทองแดงจารึกชื่อผู้สละชีพเพื่อชาติในสงครามต่างๆ ระหว่างปี 2483-2497 รวม 801 นาย

แต่ถ้า “มองด้วยใจ” จะเห็นว่าอนุสาวรีย์นี้เต็มไปด้วยเลือด เนื้อ ชีวิตของทหาร ตำรวจ พลเรือนที่สละชีพเพื่อชาติในสงครามใหญ่น้อยที่ผ่านมา จารึกชื่อของทหาร ตำรวจ และวีรชนที่สละชีวิตในสงครามข้อพิพาทดินแดนปกป้องดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดไปจากประเทศไทย สงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่สอง) สงครามเกาหลี

เป็นอนุสาวรีย์เทิดทูนวีรชนผู้เสียสละชีพเพื่อชาติ เพื่อให้ชาติไทยดำรงเอกราชมาตราบเท่าทุกวันนี้ ชาติไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงมาได้ก็ด้วยบรรดาวีรชนนักรบไทยผู้ซึ่งได้สละชีพเพื่อชาติตลอดมา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะมีผู้แทนของกองทัพบก เรือ อากาศ ตำรวจ ระยะหลัง มีผู้แทนจาก “สงครามที่ไม่ประกาศ” ในประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมด้วย (ส่วนรายชื่อผู้ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไทยได้แยกไปไว้ที่อนุสรณ์สถานตรงสามแยกดอนเมือง)

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่พระมหากษัตริย์ไทย นักรบไทยและคนไทยได้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อเอกราชของชาติ ทหารผ่านศึกเหล่านี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตไปแล้วตามวัย หากมีชีวิตอยู่ก็ชราภาพมาก หลายคนพิการ ทุกเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เราจะเห็นทหารผ่านศึกที่ชราภาพมากแต่ยังกระฉับกระเฉง บางท่านพิการ มาร่วมงานดังกล่าว หากมองเข้าไปในดวงตาของท่าน เราจะเห็นประกายตาอันกล้าแกร่ง เด็ดขาด แสดงความภาคภูมิใจในสิ่งที่ท่านและเพื่อนๆ ได้เสียสละให้กับชาติบ้านเมือง ประเทศมีความทรงจำมากมายเกี่ยวกับความเสียสละและความกล้าหาญของท่านเหล่านี้ ที่ท่านมีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาบ้านเมืองและเกียรติภูมิของชาติเพื่อลูกหลานไทยสืบมา รักษาแผ่นดินเพื่อให้ลูกหลานไทยส่วนหนึ่งด่าชาติ ด่าแผ่นดินเกิดของตนในขณะนี้

สีแดงของ “ดอกป๊อปปี้” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันทหารผ่านศึก คือ สีของเลือดที่วีรบุรุษของแผ่นดินได้หลั่งรดทาแผ่นดิน เพื่อรักษาแผ่นดินนี้ให้ลูกหลานอยู่กินอย่างสงบสุขจนถึงขณะนี้ รักษาเอกราชและแผ่นดิน

ยังมีทหารที่บาดเจ็บและพิการจำนวนมากจากการสู้รบปกป้องประเทศชาติและบาดเจ็บพิการจากสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ทหารพิการหลายคนเป็นนักกีฬาคนพิการไปแข่งขันนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ หากท่านได้พูดคุยและมองที่ดวงตาของทหารผ่านศึกพิการเหล่านี้ จะเห็นแววตาที่มีความเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวพร้อมจะปกป้องบ้านเมืองแม้สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ความพร้อมของกองทัพ ความสามัคคีและความรักชาติ ความเสียสละของคนไทยผู้กล้าเป็นการ “ป้องปราม” ไม่ให้เกิดสงครามภายในและภายนอกประเทศในหลายสิบปีที่ผ่านมา ตรงไหนที่ตำรวจและฝ่ายบ้านเอง “เอาไม่อยู่” ซึ่งอาจกระทบต่อรูปแบบของรัฐและรูปแบบการปกครองประเทศ เช่น ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยามเมื่อบ้านเมืองไปไม่ไหวทหารก็ต้องเข้าช่วยเพื่อไม่ให้ประเทศต้องกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ก็ต้องจำทนให้นักการเมืองบางพวกมาด่าว่าอีก

องค์กรขนาดใหญ่มากเช่นกองทัพ แม้เป็นองค์กรที่มีระเบียบวินัยมากที่สุด ก็จริง แต่ย่อมมีปัญหาด้านการบริหารจัดการและบุคลากรบ้างไม่มากก็น้อยซึ่งเป็นเรื่องปกติ หากมีปัญหาสิ่งใดแม้เป็นเรื่องร้ายแรงก็ต้องแก้ไขและป้องกันเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์กรหรือเรื่องส่วนตัวหรือผสมกัน องค์กรต้องศึกษาบทเรียนและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก มีปัญหาอะไรก็แก้กันไป แต่ไม่ใช่คนไทยจุดไฟเผาบ้านกันเลย

อย่าให้วิญญาณของทหารผ่านศึกและบรรพบุรุษที่สละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อแผ่นดินไทยต้องเดือดร้อนไปด้วย เพราะเวลานี้ ท่านคงหงุดหงิดพอแล้วกับลูกหลานบางคนที่พยายามเผาบ้านเผาเมืองตัวเอง

หลายคนอาจมีอาการแบบผู้เขียนเพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้บริโภคข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าและเหตุร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นที่นครราชสีมาจน “เอียน” ดังนั้น วันนี้จึงขอเขียนในสิ่งที่ดีๆ บ้าง เพื่อรำลึกถึงวันทหารผ่านศึก “วีรบุรุษของชาติ” ที่เพิ่งผ่านไป

ตามมาด้วยวันมาฆบูชาซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นอกจากเป็นการรำลึกเหตุการณ์สำคัญของพุทธศาสนาแล้ว ยังสอนให้คนเรามี “สติ” อยู่กับตัวตลอดเวลา ส่วนวันพรุ่งนี้ที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็น “วันวาเลนไทน์” หรือ “วันแห่งความรัก” เมื่อคนเรามีความรักอย่างมีสติ ก็จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสังคม เหตุร้ายหรือการทำร้ายกันก็ลดลง