posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น

12 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**************************

ไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาดสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ชาวโลกและชาวไทยในเวลานี้ คงจะแพร่ระบาดต่อไปอีกนานแรมเดือนหรืออาจยาวนานแรมปี จะเป็นภัยคุกคามต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่สมควรศึกษาและติดตาม

โรคนี้เป็น “โรคใหม่” หรือ “โรคอุบัติใหม่” (Emerging Diseases) ซึ่งอุบัติในโลกเป็นระยะๆ เหมือนโรคอุบัติใหม่หลายโรคในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส โรคเมอร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ การ “เหลียวหลัง” ดูประวัติและลักษณะการระบาดของโรคเหล่านี้ จะมีส่วนสำคัญในการเข้าใจกับโรคไวรัสโคโรนาจากหวู่ฮั่นได้ดี ทั้งสถานการณ์ปัจจุบันและจะช่วยในการ “แลหน้า” ไปในอนาคตของการระบาดในครั้งนี้ด้วย

แม้โรคนี้เพิ่งจะ “อุบัติ” ขึ้นเป็นรายแรกเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2562 นี้เอง แต่เพราะโลกปัจจุบัน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดครั้งนี้ ที่ปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากกว่าเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนที่เกิดการระบาดของโรคซาร์สเป็นอันมาก

ขนาดเศรษฐกิจของจีนก้าวขึ้นมาเป็นที่สองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว และในไม่ช้าด้วยขนาดประชากรที่มากกว่าสหรัฐราว 4 เท่า เชื่อว่าจะแซงสหรัฐไปได้ในอนาคตอีกไม่ยาวไกลนัก ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แม้โดยภาพรวมจีนจะยังตามหลังสหรัฐ แต่เทคโนโลยีบางอย่าง เช่นเทคโนโลยีการสื่อสารจีนก็แซงหน้าสหรัฐ จนสหรัฐภายใต้การนำของ “นักเลงโต” อย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องออกมา “หาเรื่อง” “เตะตัดขา” ด้วยการก่อสงครามการค้าในเวลานี้

จากประสบการณ์อันเลวร้ายกรณีการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อน ซึ่งเวลานั้นจีนยังเจริญน้อยกว่านี้มาก และจีนเสียชื่อมากจากการระบาดครั้งนั้น ทำให้จีน “เรียนรู้” และ “จัดการ” กับการระบาดครั้งนี้ดีกว่าครั้งเกิดโรคซาร์สมาก กรณีการระบาดของไวรัสโคโรนาจากหวู่ฮั่นครั้งนี้ จึงนอกจากน่าศึกษาเพื่อ “รับมือ” กับการแพร่ระบาดที่จะยังคงดำเนินต่อไปแล้ว วิธีการ “รับมือ” และ “จัดการ” กับการแพร่ระบาดครั้งนี้ของจีนยังเป็นเรื่องน่าศึกษาติดตามด้วย

ดังกล่าวแล้วว่า โรคนี้ถือว่าเพิ่ง “อุบัติ” ขึ้นในจีนเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2562 ผ่านไปไม่ถึงเดือนจีนก็มี “สมมุติฐาน” ที่ค่อนข้างชัดเจน และน่าเชื่อถือว่าโรคนี้น่าจะเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) โดยแหล่งกำเนิดโรคน่าจะแพร่มาจากค้างคาวเหมือนกรณีโรคซาร์ส

อันที่จริงเชื้อโรคที่จะก่อให้เกิดโรคในสิ่งมีชีวิตใดๆ ได้ จะต้องมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมหลายประการ ที่สำคัญคือเชื้อโรคนั้นสามารถจะเข้าสู่ร่างกายของ “เหยื่อ” และไปเจริญเติบโตหรือเพิ่มจำนวนได้มากจนทำอันตรายเหยื่อได้ โดยที่ร่างกายของสัตว์และมนุษย์มีธรรมชาติทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกันมาก การที่เชื้อโรคที่อยู่ในตัวสัตว์จะ “ข้าม” สายพันธุ์เข้าสู่มนุษย์จึงไม่ใช่ง่าย “โรคอุบัติใหม่” ที่เกิดจากเชื้อในสัตว์เข้ามาสู่คน และทำให้เกิดการระบาดได้ จึงเกิดขึ้น “ประปราย” “นานๆ ครั้ง” ไม่เกิดขึ้นบ่อย แม้มนุษย์กับสัตว์จะอยู่ “ร่วมโลก” กันก็ตาม

การที่เชื้อจากสัตว์อย่างค้างคาวสามารถ “กระโดดข้าม” มาก่อโรคจนกลายเป็น “โรคระบาด” ในคน เพราะมนุษย์ “อุตริ” ไป “สัมผัส” กับค้างคาวมากพอ และนานพอจนเชื้อโรคมีเวลาในการ “กระโดดข้ามสายพันธุ์” และมีเวลาในการปรับตัวจนก่อให้เกิดโรคในคน และต่อมายังปรับตัวให้สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ในที่สุด

กรณีการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2545-2546 ณ ปัจจุบัน แม้โรคจะถือว่า “สงบ” ลงแล้ว เพราะตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ไม่มีรายงานการพบโรคนี้อีก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ “ตายใจ” ยังคง “เฝ้าระวัง” ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ถือว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรง ระยะแรกๆ ที่พบโรคใหม่อัตราตายสูงมาก ราวครึ่งต่อครึ่ง เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้วิธีที่จะ “รับมือ” กับมัน วิธีการรักษาผู้ป่วยก็ยัง “มืดแปดด้าน” แต่ช่วงระยะเวลาการระบาดซึ่งยาวนานราว 8 เดือน ความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ “อัตราป่วยตาย” (Case Fatality Rate) ค่อยๆ ลดลง จนเหลืออยู่ที่ร้อยละ 9.6 ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นโรคร้ายแรง

โรคนี้นักวิทยาศาสตร์มีข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า เชื้อก่อโรคเป็นเชื้อไวรัสโคโรนา “สายพันธุ์ใหม่” ในตระกูลไวรัสโคโรนา (Coronavirus) และตั้งชื่อแล้วว่า ไวรัสโคโรนาซาร์ส (SARS Coronavirus) ตัวย่อคือ “ซาร์สโควี” (SARS CoV)

ซาร์ส (SARS) เป็นชื่อย่อมาจากคำว่า Severe Acute Respiratory Syndrome (กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ตามลักษณะอาการของโรคที่เชื้อไวรัสเข้าไป “โจมตี” ระบบทางเดินหายใจ โดย “ตัวรับ” (receptor) เชื้อโรคนี้ในคนอยู่ที่ถุงลมในปอด ซึ่งเป็น “ทางเดินหายใจส่วนล่าง” (Lower respiratory tract) และมีพื้นที่รับโรคได้ใหญ่โตมโหฬารมาก จึงทำให้เกิดอาการรุนแรง และทำให้ผู้ป่วย เสียชีวิตในอัตราสูง

โรคนี้นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าเชื้อก่อโรคคือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส การที่นักวิทยาศาสตร์สรุปเช่นนั้น เขาสรุปตาม “หลักของโค้ค” (Koch’s Postulates) ซึ่งเป็นชื่อของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต ชื่อเต็มคือ โรเบิร์ต โค้ค (Robert Koch)

ที่จริงผู้เสนอหลักนี้คนแรก คือ เอฟ.จี. จาค็อบ เฮนเล (F.G. Jakob Henle) แต่ปรับปรุงโดย โรเบิร์ต โค้ค เมื่อ ปี 2420 และขยายความอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2425 หลักดังกล่าวกำหนดว่าการจะสรุปว่าเชื้อโรคใดเป็นเชื้อก่อโรคต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริง 4 ข้อ ได้แก่ (1) ต้องพบเชื้อนั้นในผู้ป่วยทุกราย (2) ไม่พบเชื้อนั้นในโรคอื่น (3) เชื้อที่แยกได้สามารถก่อโรคได้ในสัตว์ทดลอง และ (4) โรคที่เกิดจากการทดลองนั้น ต้องสามารถแยกเชื้อนั้นได้

เชื้อที่ก่อโรคซาร์ส ตรวจและยืนยันโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ (US Centers for Disease Control and Prevention : CDC) และห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาแห่งชาติแคนาดา เมื่อเดือนเมษายน 2546 โดยประกาศพันธุกรรมของซาร์ส (SARS Genome) และนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอิราสมุส (Erasmus University) ที่กรุงรอตเตอร์ดาม ประเทศเนเทอร์แลนด์ เป็นผู้พิสูจน์ว่าเชื้อนี้เป็นต้นเหตุโรคซาร์ส เพราะเข้าตาม “หลักของโค้ค” โดยการทดสอบกับลิงมาเค้ก (Macaques) แล้วปรากฏอาการโรคซาร์ส ปลายปี 2546 แยกเชื้อนี้ได้จากชะมด (masked palm civets : Paguma sp.) ซึ่งไม่มีอาการของโรค ต่อมาในปี 2548 พบเชื้อนี้ในค้างคาว

การศึกษาสายพันธุกรรมบ่งว่า “มีความเป็นไปได้สูง” (High Probability) ที่เชื้อจากค้างคาวแพร่สู่คน โดยตรงหรือผ่านสัตว์อื่นในตลาดขายสัตว์ป่าในจีน ปลายปี 2549 พบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับเชื้อใน ชะมด เดือนธันวาคม 2550 พบถ้ำในป่ายูนนาน เป็นถิ่นฐานของ “ค้างคาวเกือกม้า” (Horesshoe bats) ที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นเหตุการระบาดของซาร์ส รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Public Library of Sciences Pathogen (ห้องสมุดสาธารณะของเชื้อโรคทางวิทยาศาสตร์) โดยนักวิทยาศาสตร์จาก “สถาบันไวรัสหวู่ฮั่น” (Wuhan Institute of Virology)

น่าสังเกตว่าที่หวู่ฮั่นมีสถาบันไวรัสวิทยาซึ่งการศึกษาเรื่อไวรัสโคโรนามาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นพื้นฐานที่ดีทำให้สามารถค้นพบการระบาดของโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว

*************************