posttoday

อินเดียวันนี้ (19)

28 มกราคม 2563

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*******************************

ช่วงที่มีข่าวยานจันทรา 2 ในอินเดียนั้น มีข่าว “ไม่น่ายินดี” เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกประจำปี 2563 ของ “เดอะไทมส์” (The Times Higher Education World University Ranking 2020 ) ซึ่งปรากฏว่ามหาวิทยาลัยในอินเดียหลุดจาก 300 อันดับแรกทั้งหมด

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกดังกล่าว คัดจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกเกือบ 1,400 แห่ง จาก 92 ประเทศ พิจารณาจากผลประกอบการตามตัวชี้วัด 13 ตัว ซึ่งครอบคลุมเรื่องการสอน (teaching) การวิจัย (research) การถ่ายทอดความรู้ (knowledge transfer) และภาพลักษณ์นานาชาติ (international outlook) ผู้ทำการประเมินตรวจสอบ (audit) เป็นผู้ตรวจสอบจากองค์การตรวจสอบอิสระของบริษัทไพรศ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers) และตัวแทนที่น่าเชื่อถือจากทั่วโลก ทั้งนักศึกษา ครู ตัวแทนภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 4 คือ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แห่งสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ตกลงไปเป็นอันดับ 3 ในการจัดอันดับครั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (The California Institute of Technology) หรือ แคลเทค (Caltech) เลื่อนขึ้น 3 อันดับ ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, เยล, ฮาร์วาร์ด และ อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ติด 10 อันดับแรก (Top ten)

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้คะแนนรวม 95.4 โดยคะแนนการสอนได้ 90.5 , คะแนนการวิจัยได้ 99.6, คะแนนการอ้างอิง (Citation) ได้ 98.4 , รายได้จากภาคอุตสาหกรรม (Industry Income) ได้คะแนน 65.5 และภาพลักษณ์นานาชาติได้ 96.4 สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ติดกลุ่มรวมทั้งสิ้น 16 แห่ง โดยอยู่ในกลุ่ม 601-800 จำนวน 3 แห่ง เรียงตามลำดับ คือ (1) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

(2) มหาวิทยาลัยมหิดล (3) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เหลือ 13 แห่ง ติดอันดับ 1,000 ขึ้นไป ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (3) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ (6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (7) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (8) มหาวิทยาลัยนเรศวร (9) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (10) มหาวิทยาลัยศิลปากร (11) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ (13) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อินเดียเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้อินเดียจะเป็นประเทศยากจนแต่ให้ความสำคัญสูงกับการศึกษา ในเชิงปริมาณ อินเดียมีมหาวิทยาลัยราว 800 แห่ง วิทยาลัยและสถาบันระดับอุดมศึกษาอื่นอีก 39,000 แห่ง มีมหาวิทยาลัยติดการจัดอันดับนี้ รวม 56 แห่ง เป็นลำดับ 5 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในจำนวนนี้ ไม่มีแห่งใดติด 300 อันดับแรกเลย ซึ่งเป็นการหลุด 300 อันดับแรก เป็นครั้งแรกนับจากปี 2012 (พ.ศ. 2555) แต่จำนวนที่ติดอันดับ เพิ่มจาก 49 แห่ง ในปี 2551 เป็น 56 แห่งในปีนี้

มหาวิทยาลัยในอินเดีย ติด 500 อันดับแรก 6 แห่ง ในการจัดอันดับ ปี 2020 เพิ่มขึ้น 1 แห่งจากปี 2019 สถาบันที่ติดอันดับต้นๆ 350 อันดับแรก คือ สถาบันเทคโนโลยีอินเดียโรปาร์ (Indian Institute of Technology, Ropar) และสถาบันวิทยาศาสตร์อินเดีย (Indian Institute of Science) ชื่อย่อคือ ไอไอเอสซี (IISc) ที่เบงกาลูรู ที่ก่อตั้งโดยนักอุตสาหกรรมจัมเสตจี ทาทา ผู้ก่อกำเนิดกลุ่มอุตสาหกรรมทาทา ตามคำแนะนำของสวามีวิเวกานันทะ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตกอันดับ จากกลุ่มลำดับที่ 250-300 ไปอยู่ในกลุ่ม 301-350 การหล่นอันดับนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลอินเดียให้ความสนใจ จะต้องหาทางปรับปรุงแก้ไข เพื่อรักษาอันดับให้ดีขึ้น

สหรัฐยังเป็นผู้นำในเรื่องนี้ โดยมี 60 มหาวิทยาลัย ติด 200 อันดับแรก ซึ่ง 10 แห่ง มาจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

มหาวิทยาลัยที่ติด 25 อันดับแรก เรียงตามลำดับ ดังนี้ (1) ม.ออกซ์ฟอร์ด (2) สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (3) ม.เคมบริดจ์ (4) ม.สแตนฟอร์ด (5) สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซตส์ (เอมไอที) (6) ม.พรินซ์ตัน (7) ม.ฮาร์วาร์ด (8) ม.เยล (9) ม.ชิคาโก (10) อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (11) ม.เพนน์ซิลเวเนีย (12) ม.จอห์นส์ฮอปกินส์ (13) มี 2 แห่ง คะแนนรวมเท่ากันคือ ม.แคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบอร์คเลย์ และ ม.ซูริค (ในสมาพันธรัฐสวิส) (15) ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน (16) ม.โคลัมเบีย (17) ม.แคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (18) ม.โตรอนโต (19) ม.คอร์เนล (20) ม.ดุ๊ค (21) ม.มิชิแกน-แอนน์อาร์เบอร์ (22) ม.นอร์ทเวสเทิร์น (23) ม.ซิงหัว (24) ม.ปักกิ่ง (25) ม.แห่งชาติสิงคโปร์

จะเห็นได้ว่าใน 25 อันดับแรก เป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐถึง 16 แห่ง สหราชอาณาจักร 4 แห่ง จีน 2 แห่ง แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ประเทศละ 1 แห่ง

น่าสังเกตว่าสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรราว 5 ล้านคน น้อยกว่าประเทศไทยกว่า 10 เท่า และเพิ่งก่อตั้งประเทศมาเมื่อ 50 กว่าปีมานี้เอง สามารถพัฒนามหาวิทยาลัยให้ติดอันดับที่ 25 ของโลกได้ คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) และยังมีอีกแห่งหนึ่งคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยางที่ติดอันดับที่ 48

สำหรับสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรพอๆ กับประเทศไทย และเคยล้าหลังกว่าเรา เพราะประเทศพินาศย่อยยับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้องแยกเป็น 2 ประเทศ และยังมีสงครามต่อมาอีกหลายปี แต่สามารถพัฒนาประเทศ และพัฒนาด้านการอุดมศึกษาจนมีมหาวิทยาลัยติดอันดับในบัญชีนี้ถึง 33 แห่ง โดย 2 อันดับแรก อยู่ในลำดับที่ 64 คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล และอันดับ 89 คือ มหาวิทยาลัย ซุงคยุนกวาน (SKKU) มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่ม 101-200 มี 4 แห่ง, กลุ่ม 201-300 จำนวน 1 แห่ง, กลุ่ม 301-400 และ 401-500 กลุ่มละ 3 แห่ง, กลุ่ม 501-1,000 จำนวน 12 แห่ง, กลุ่ม 1,001 ขึ้นไป 8 แห่ง

ที่น่าสนใจ คือ ไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรราว 1 ใน 3 ของไทย มีมหาวิทยาลัยอยู่ในบัญชีนี้รวม ถึง 35 แห่ง ลำดับที่ดีที่สุด คือลำดับที่ 120 และที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ ฮ่องกง เกาะเล็กๆ มีประชากรเพียง 7.5 ล้านคน มีมหาวิทยาลัยติดอันดับถึง 6 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอันดับต้นๆ คือ อันดับที่ 35 มหาวิทยาลัยฮ่องกง อันดับที่ 42 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง อันดับที่ 57 มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง อันดับที่ 127 มหาวิทยาลัยนครแห่งฮ่องกง (City University of Hong Kong)

น่าสังเกตว่า ข่าวนี้เป็นข่าวเล็กๆ ในประเทศไทย ไม่อยู่ในความสนใจของสื่อที่จะกระพือข่าวเหมือนข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้สาว

********************************