posttoday

ควันหลงจากการไล่ล่า ผบ.สูงสุดอิหร่าน

16 มกราคม 2563

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

******************************

คงไม่สายเกินไปในการวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ล่าสุดในตะวันออกกลาง หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาแสดงเหตุผลและความจำเป็นในการสั่งโจมตีและสังหาร พลตรี กอซิม สุลัยมานี ผบ.ทหารสูงสุดของอิหร่าน ที่กำลังเดินทางไปประชุมกับผู้แทนซาอุดิอาราเบียในอิรัก มีคำถามตามมาจากคนไทยที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง สรุปว่า

หนึ่ง ความขัดแย้งจะขยายตัวจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สามหรือไม่ คำตอบคือไม่มี เพราะประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน แม้แต่สหรัฐเอง ก็ไม่ต้องการให้ขยายไปมากกว่านี้ ทุกฝ่ายรู้ดีว่าสงครามโลกครั้งต่อไป คือความหายนะของโลก ทรัมป์คงวิเคราะห์แล้วว่า มหาอำนาจอื่นคงไม่เข้ามาแทรกแซง และคงมีการติดต่อทางลับทันทีกับผู้นำรัสเชีย จีน เรียบร้อยแล้วถึงเหตุผลและความจำเป็น

สอง จะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะอิหร่านรู้ดีว่า ศักยภาพทางทหารของตนสู้สหรัฐไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง แต่ขอให้อิหร่านได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาหน้าตัวเอง ซึ่งอิหร่านก็ได้ทำไปแล้วด้วยการยิงจรวดถล่มที่ตั้งทหารอเมริกันในอิรัก เรียกว่าซัดกันคนละหมัดแล้ว ส่วนหมัดใครหนักกว่านั้นเป็นอีกเรื่อง หลังจากสั่งสอนอิหร่านไปแล้ว เวลานี้ สหรัฐอยู่เฉยๆ ก็ได้เปรียบพราะทั่วโลกกำลังประณามอิหร่านที่ยิงเครื่องบินโดยสารของยูเครนตก ผู้นำอิหร่านต้องลดท่าที่แข็งกร้าวลง แต่อิหร่าน คงหาทางเอาคืนทีเผลออีก โดยมีผลประโยชน์ของสหรัฐทั่วโลกเป็นเป้าหมาย

สาม ความขัดแย้งจะไม่ขยายออกนอกพื้นที่ตะวันออกกลางใช่หรือไม่ คำตอบคือน่าจะเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ไม่รวม "เป้าหมายอ่อน" อันเป็นผลประโยชน์ของอเมริกันที่กระจายอยู่ทั่วโลก เช่นสถานทูต สายการบิน โรงแรม เป็นต้น ที่อาจถูกอิหร่านใช้กลุ่มก่อการร้ายโจมตีเอาคืน เมื่อโอกาสเปิดให้ รับรองว่ามีแน่ๆ

สี่ ทำไมสหประชาชาติไม่แสดงบทบาทในการระงับ ป้องปราม ไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวออกไป โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งเงียบผิดปกติ ผิดกับกรณีอื่นๆ คำตอบคือ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส พวกเดียวกันเป็นสมาชิกถาวร และคงมีการตกลงกันไว้แล้วว่าจะไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้ามายุ่ง แต่คนก็สงสัยว่า รัสเซีย และจีน เงียบผิดปกติในเรื่องนี้

ห้า คนอเมริกันและคนชาติอื่นสงสัยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐมีอำนาจในการประกาศสงคราม หรือเที่ยวสั่งให้ทหารไปไล่ฆ่าคนอื่นแบบนี้ ได้มากน้อยขนาดไหน เรื่องนี้ต้องย้อนไปศึกษารัฐธรรมนูญของสหรัฐ

หก สถานการณ์จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร และไทยต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้างแม้ว่าไทยไม่ได้เป็นคู่กรณีด้วย

คนอเมริกันมีทั้งที่พอใจและไม่พอใจการกระทำของทรัมป์ อีกทั้งมองว่า นี่เป็นวิธีการหนึ่งในการหาเสียงของทรัมป์ สำหรับการลงสมัครับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่ก็ไม่อยากให้ทรัมป์ใช้วีธีการเช่นนี้อีก เพราะเสี่ยงเกินไป สมาชิกรัฐสภารีบกลับไปเปิดดูรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ให้อำนาจประธานาธิบดีในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ในที่สุดก็พบว่า มีรัฐบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการประกาศสงครามของประธานาธิบดีเรียกว่า "รัฐบัญญัติว่าด้วยอำนาจในการประกาศสงคราม พ.ศ. 2514" (WarPowers Act of 1973) ในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน เพื่อจำกัดอำนาจประธานาธิบดีในการประกาศสงคราม หรือยกระดับการใช้กำลังทหารอเมริกันในต่างประเทศ

ตามรัฐบัญญัติดังกล่าว ประธานาธิบดีต้องหารือกับฝ่ายนิติบัญญัติทั้งก่อนและระหว่างการใช้กำลังทหารในกรณีมีความจำเป็นที่สหรัฐต้องส่งทหารไปปฏิบัติการในต่างประเทศเป็นครั้งแรก หรือในกรณีที่จำเป็นใช้กำลังทหารที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศ ปฏิบัติการ หากลงมือทำไปแล้ว ประธานาธิบดีต้องแจ้งให้สภาผู้แทนราษรและวุฒิสภาทราบภายใน48 ชั่วโมง เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็น รวมทั้งระยะเวลาที่อาจต้องใช้การปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว หากมีข้อมูลเพิ่มเติม ประธานาธิบดีต้องแจ้งความคืบหน้าจนกว่าจะยุติการปฏิบัติการทางทหารประธานาธิบดีก็ต้องแจ้งให้สภาทราบความคืบหน้าเป็นระยะ เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ จนกว่าจะยุติการใช้กำลังทหาร ทั้งหมดเพื่อเป็นการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

อย่างไรก็ดี หากเกรงว่าสภาอาจไม่อนุมัติ หรือเกรงว่าข่าวจะรั่วไปถึงหูข้าศึกก่อน ประธานาธิบดีก็มีทางเลือกอื่น โดยใช้อำนาจในฐานะ"ผู้บัญชาการทหารสูงสุด" หรือจอมทัพสั่งการไปก่อน แล้วค่อยชี้แจงต่อสภาที่หลัง ซึ่งเป็นอีกทางออกหนึ่งของฝ่ายบริหาร ในกรณีอิหร่านครั้งล่าสุด ประธานาธิบดีคงใช้อำนาจนี้ สั่งก่อนแล้วแจ้งที่หลัง

มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารนอกประเทศต่อ "กลุ่มก่อการร้าย" ทั้งปฏิบัติการสังหารหัวหน้ากลุ่ม อัล กออิดะ และ ไอชิส ประธานาธิบดีได้รับความร่วมมือจากรัฐสภาอย่างดี เพราะทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติต่างตระหนักถึงภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ ที่ครั้งหนึ่งเคยบุกโจมตีถึงใจกลางสหรัฐ ทำให้คนอเมริกันบาดเจ็บล้มตายหลายพันคนในปี 2544 รัฐสภาออก "กฎหมายการให้อำนาจในการใช้กำลังทหาร"อีก 2 ฉบับในปี 2544 และ 2545 ให้อำนาจประธานาธิบดีในการใช้กำลังทหารปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายสากลอย่างครอบคลุมมากขึ้น

ดังเช่นการปฏิบัติการสังหารผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิหร่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นปฏิบัติการทางรุกเชิงป้องกัน โดยการโจมตีข้าศึกก่อนที่ข้าศึกจะโจมตีพลเรือนและทหาร
อเมริกัน เป็นปฏิบัติการทางรุกเชิงป้องกัน โดยการโจมตีข้าศึกก่อนที่ข้าศึกจะโจมตีพลเรือนและทหารอเมริกัน เพราะชีวิตของคนอเมริกันและทหารอเมริกันมีค่ามากกว่าสิ่งใด ใครเป็นประธานาธิบดีก็ต้องทำอย่างนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่พอเข้าใจได้

ในสัปดาห์หน้า จะเขียนถึงว่า แล้วประเทศไทยซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่ต้องเตรียมตัวรับมือในเชิงป้องกันอย่างไรบ้าง