posttoday

ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ ปี 2563

09 มกราคม 2563

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

******************************

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่รัฐบาลประยุทธ์ จะต้องเผชิญ เพื่อเตรียมตัวรับมือ หลีกเลี่ยง ลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด หากเลี่ยงไม่ได้ ปรากฏว่า มีผู้อ่านบางท่านได้กรุณาแสดงความห่วงใยในประเด็น "อาชญากรรมข้ามชาติ" ที่รัฐบาลควรเอาใจใส่ด้วย

"อาชญากรรมข้ามชาติ" ที่ยังคงเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในปี 2563 คือ "ภัยจากยาเสพติด" แม้ทางการสามารถสกัดกั้น จับกุม ยึด ทั้งยาบ้าและยาไอซ์ได้มากมายแทบเป็นรายวัน แต่ก็ยังมีจำนวนมหาศาลที่เล็ดรอดไปยังแก๊งค์ใหญ่ ๆ ก่อนกระจายไปยังผู้บริโภคในประเทศ และลงใต้ผ่านไปยังมาเลเชีย อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย ไทยเป็นทั้งประเทศปลายทางและประเทศทางผ่าน

ข้อจำกัดของไทยในเรื่องนี้ก็คือ แหล่งผลิตยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นยาบ้าหรือยาไอซ์ อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านตอนเหนือ ที่รัฐบาลประเทศนั้นปราบไม่ได้ หากเป็นสหรัฐอเมริกา เขาคงส่งกำลังข้ามพรมแดนเข้าไปปราบปรามแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเรียบร้อยแล้ว แต่ไทยทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะขีดความสามารถจำกัด อีกทั้ง เป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน ทางการไทยทำได้แค่ส่งกำลังไปคอย สะกัดกั้นที่ชายแดนภาคเหนือ จับกุมและสกัดกันเท่านั้น

การที่ไทยมีทะเลสวยงามจนชาวต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปนิยมมาท่องเที่ยวและ พักผ่อนชายทะเลภาคใต้ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ตามมาด้วยกลุ่มมาเฟียที่เข้า มาอยู่ตามจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ในภาคใต้ หลอกลวงต้มตุ๋น นักท่องเที่ยวสัญชาติเดียวกับตน ส่วนแก๊งมาเฟียจีนก็ยังคงหากินกับการเงินอีเล็คโทรนิกส์ต่อไป

วันนี้จะเขียนถึงความเสี่ยงและสิ่งท้าทายจากต่างประเทศที่รัฐบาลควรเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศได้เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกอธิปไตยและอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องเฝ้าดู และติดตามอย่างใกล้ชิด

ในปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ ประเทศเล็กๆ เช่นไทยต้องเฝ้าจับตาดูและระมัดระวังอยู่สองเรื่องใหญ่ คือ ความสัมพันธ์ของอภิมหาอำนาจโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเชีย สหภาพยุโรป และมหาอำนาจหาเศรษฐกิจ เช่นจี 20 ซึ่ง เป็นผู้กำหนดทิศทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ของโลกว่าจะไปทิศทางใด ไทยจะต้องจับดูทิศทางนั้นให้ทันและถูกต้อง เพื่อปรับผลประโยชน์ของชาติให้ สอดคล้องกับกระแสโลก

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะที่มีเขตแดนติดต่อกันเป็นเรื่องที่จับตาดู เพราะประเทศเพื่อนบ้านอาจทำให้เราเป็นสุข หรือ สร้างปัญหาให้กับเราได้ เหมือนกับเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน

ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ จะเปิดศักราชใหม่ของการเมืองโลกในปี 2563 พิจารณาจาก "โอกาสที่จะเกิดขึ้น" และ "ความรุนแรงของเหตุการณ์หาก เกิดขึ้น" เรียงตามลำดับได้ดังนี้

(1) ปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยเข้าสู่วงจรของเศรษฐกิจโลก แล้ว ในอดีต เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโยงไปยังการเมืองภายในของไทยด้วย

(2) ปัญหาสงครามการค้ารอบ 2 ระหว่างสหรัฐกับจีน ต่อเศรษฐกิจไทยดังที่เคยเป็นมาแล้วในรอบแรกช่วงสองสามปีที่ผานมา สหรัฐจะกดดันจีนมากขึ้น

(3) ทิศทางของโลกในปี 2563 ที่กำหนดโดยอภิมหาอำนาจของโลก และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น "ตัวละครหลัก" ความขัดแย้ง เฉพาะหน้าที่เกิดอย่างปัจจุบันทันด่วน เช่น สงครามจำกัดเขตรอบใหม่ ระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน เป็นต้น หากจำเป็นต้องเลือกข้าง ไทยจะได้ เลือกข้างได้ถูกต้อง หรือหาทางเกาะเกี่ยวผลประโยชน์จากประเทศใหญ่

(4) แนวโน้มราคาน้ำมันโลก เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขัดแย้งในตะวันออกกลาง ล่าสุดคือสงครามจำกัดเขตระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโดยตรง

(5) ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา (Maritime Conflict)ระหว่างสหรัฐกับจีน โดยสหรัฐและญี่ปุ่นดึงอินเดียซึ่งขัดแย้งกับจีนมาร่วมด้วย ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของอาเซียน เพราะเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับจีนเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ อาจนำเรื่องนี้เข้าสู่เวที่อาเซียน แม้ไทยไม่มีข้อปัญหาในทะเลจีนใต้ แต่ก็มีประเด็นน้ำในแม่น้ำโขงกับจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำ

(6) การเปลียนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศโลก โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ที่จะส่งผลกระทบต่อภัยแล้งและน้ำท่วมในไทย ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรง ขึ้นในปีนี้ ควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านที่รุนแรงขึ้น

(7) ปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และลัทธิสุดโต่งซ้ายและขวา ผลประโยชน์ของคู่ขัดแย้งต่างชาติในไทยอาจตกเป็นเป้าหมายการโจมตี เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยเป็นทั้งประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง

(8)ปัญหาชาวโรฮิงยาในพม่า ที่ไทยจะถูกกดดันให้เข้าไปมีส่วนร่วมให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในฐานะสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน

ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายข่าวกรองจะต้องมองและแจ้งปัญหา ความเสี่ยงจากปัจจัยนอกประเทศให้รัฐบาลได้ทราบ ที่สำคัญต้องระบุถึงความหนักเบาของปัญหาด้วย เพื่อรัฐบาลจะได้กำหนด "ความสำคัญเร่งด่วน" ของปัญหาที่จะป้องกัน หลีกเลี่ยง แก้ไข หรือใช้การเจรจาต่อรองเป็น "โซ๊คอัพ" ลดแรงสะเทือน ของปัญหา หากมีสิ่งไม่คาดฝันหรือนอกเหนือจากที่มองไว้ ข้างต้นเกิดขึ้น รัฐบาลก็ต้องปรับยุทธวิธีในการรับปัญหานั้น