posttoday

ในรอยต่อ

27 ธันวาคม 2562

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

****************************

“ระหว่างอดีตกับอนาคต คุณจะไม่เลือกอนาคตหรือ?” ผมถามเขาระหว่างการสนทนา

แต่เขาหลีกคำถามประเภทถ้าไม่อย่างนี้-ก็ต้องเลือกอีกอย่างหนึ่งของผมไปด้วยความชำนาญ เขาว่า “ในคำถามของอาจารย์ ยังเหลืออีกทางเลือกหนึ่งนะครับ ระหว่างอดีตกับอนาคต มันยังมีปัจจุบัน”

“อย่าบอกผมนะว่าคุณพอใจเลือกปัจจุบัน” ผมท้วง

“ก็ทำไมผมจะไม่เลือกล่ะครับ” เขาตอบ “แต่จะว่าพอใจก็ไม่เชิง แต่เป็นเพราะมันอยู่กับเราทุกขณะ ถึงจะไม่เลือกมัน ปัจจุบันก็อยู่กับเราอยู่แล้ว แต่ที่ผมเลือกปัจจุบันตอบอาจารย์ เพราะผมชอบความที่มันอยู่ในรอยต่อ”

“กลายเป็นปรัชญาไปอีก ไหน บอกผมที รอยต่ออะไรของคุณ?”

“รอยต่อระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เป็นไปได้ครับ” เขาตอบ แล้วตั้งใจอธิบายต่อว่า “ในความเป็นไปได้จำนวนมากที่มีโอกาสเกิดขึ้นมาได้ อดีตได้เลือกหยิบอย่างหนึ่งในนั้นส่งให้เราโดยเฉพาะ โดยไม่ได้สนใจว่าเราอยากรับหรือไม่อยากรับมา และอดีตก็ไม่อาจตามมาดูได้ว่า เมื่อส่งให้เรามาแล้ว มันจะทำอะไรกับเราบ้าง ในขณะที่เราต้องรับสิ่งที่อดีตมอบให้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่เรามีทางเลือกในปัจจุบันว่า จะทำอะไรกับสิ่งที่อดีตให้มา และจะทำอย่างไรต่อไปกับสิ่งที่มันได้ทำไปแล้ว อดีตกับอนาคตเลยมาเจอกันอยู่ในรอยต่อของปัจจุบัน ซึ่งทำให้ความตั้งใจและการลงมือทำของเราอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามในรอยต่อนี้ มีผลต่อทั้งอดีตและต่ออนาคต”

“แล้วอย่างหนึ่งอย่างใดที่ว่านี่ คุณว่าในปัจจุบันมันเป็นแบบไหน พอจะให้อนาคตฝากความหวังได้บ้างไหม?” ผมถามต่อ

“อนาคตใหม่ท่าจะลำบากอยู่นะครับ ส่วนความหวังใหม่นั้นดับไปนานแล้ว” เขากลับพูดตลกหน้าตาย แล้วถามผมว่า “อาจารย์เห็นกระแสประท้วงทั่วโลกตอนนี้คิดอย่างไรบ้างครับ อาจารย์เห็นความเป็นไปได้อะไรในนั้น?”

“ทำไมถามเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ผมนึกถึงงานของ Zbigniew Brzezinski แฮะ”

“โห ! ย้อนไปหารุ่นเก่าขนาดนั้นเลย แล้วนักยุทธศาสตร์ประจำตัวจิมมี่ คาร์เตอร์มีอะไรบอกเราในปัจจุบันได้หรือครับ ว่าแต่ เขาไปแล้วใช่ไหมครับ?”

“ใช่ รุ่นนั้นเหลือแต่คาร์เตอร์นี่แหละที่ยังคงอมตะ คิสซินเจอร์อีกคน ลืมไม่ได้ แต่ที่คุณถามและพอฟังคุณว่าอนาคตเราจะลำบาก ผมเลยนึกถึงเบรษซินสกี้ขึ้นมา โดยเฉพาะงาน Between Two Ages ของเขาน่ะ”

“อาจารย์ชอบงานเก่าๆ ที่คนไม่อ่านกันแล้วจริงๆ เล่มนี้มีอะไรดีหรือครับ?”

“อ้าว คุณ งานเก่าก็มีเครื่องมือพาคิดอะไรต่อได้อยู่เหมือนกันนา อ่านให้ดีๆ ก็พอตามอะไรใหม่ๆ ได้อยู่ ผมได้รู้จักชื่อฟูโกต์หรือเลสเซก โควาคอฟสกีกับเขาทีแรกก็จากเล่มนี้ เบรษซินสกี้เป็นอนุรักษนิยมที่อ่านงานซ้ายเก่าซ้ายใหม่และพวกวิพากษ์ซ้ายกว้างขวางทีเดียว Between Two Ages เล่มนี้ถ้าว่าตามที่คุณพูดถึงรอยต่อ เขาก็พูดถึงสภาวะของผู้คนที่ต้องตกอยู่ในช่วงรอยต่อนั่นแหละ แต่ของเขาเป็นรอยต่อของยุค ของวิถีชีวิต ที่ถูกเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเปลี่ยนแปลง ฟังคล้ายๆสมัยนี้ไหมล่ะ บทวิเคราะห์เขาเกี่ยวกับความคิดความเชื่อของผู้คนและขบวนการที่ออกมาขับเคลื่อนปัจจุบันในตอนโน้น ซึ่งก็คือช่วงที่มีกระแสประท้วงทั่วโลกตอนปลายทศวรรษ 1960 น่าสนใจทีเดียว พลังคนหนุ่มสาวยุคเบบี้บูมสมัยนั้นเชี่ยวแรงไม่แพ้สมัยนี้หรอก นับๆ ดู อายุหนังสือเล่มนี้น่าจะร่วมๆ 50 ปีได้แล้วล่ะ เพราะ 1968 ก็เพิ่งครบ 50 ปีไป”

“น่าสนใจว่าเขาเห็นความเคลื่อนไหวยุคนั้นเป็นอย่างไรหรือครับ”
“มนุษย์ตายแล้ว !” ผมบอก
“อะไรนะครับ?” เขาชะงัก
“ก็เบรษซินสกี้เขาอ้างฟูโกต์เพื่อจะบอกว่าความคิดเกี่ยวกับมนุษย์ทั้งตอนนั้นและในอนาคตไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ความคิดเกี่ยวกับมนุษย์แบบเก่าตายเหมือนความคิดเรื่องพระเจ้าที่เป็นมาแต่ดั้งเดิมตายไปก่อนหน้านี้น่ะ นี่ว่าจากความจำนะ ถ้าต้องการมากกว่านี้ ต้องขอเปิดโน้ตเก่าดูนิดนึง เดี๋ยวผิด”

“ดีเลยครับ เรื่องกระแสการประท้วงระบาดไปทุกพื้นที่แทบจะทั่วโลกกำลังเป็นที่สนใจกันมากว่า มันมีลักษณะอะไรร่วมกันของยุคสมัยอยู่บ้างไหม ถ้าคิดว่าโลกเดี๋ยวนี้มันถึงกันหมดแล้ว ผมเห็นนักวิเคราะห์บางคนเขาใช้อดีตมาเป็นตัวเทียบ บ้างก็ว่ากระแส Anarchist กำลังกลับมา บางคนก็ให้จับตาขบวนการ Neo-Luddism จากการที่โรบอทกับ AI เข้ามาแทนแรงงานหลายประเภท ผสมกับพวกที่รู้สึกไม่มั่นคง ไม่ชินกับที่จะต้องเปลี่ยนงานและต้องเรียนรู้หรือเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลา เลยอยากฟังว่าเบรษซินสกี้ของอาจารย์เขาเสนออะไร"

“เขาไม่ใช่ของผมนะคุณ… เอ้า เจอโน้ตละ หลักๆ ได้มาจากบท “The Age of Volatile Belief” ในเล่มนี้ผมชอบบทนี้แหละเพราะเห็นว่ามีอะไรให้คิดต่อได้มากอยู่ ลองฟังดูนะ ผมสรุปที่เขาว่าไว้อย่างนี้ :

เบรษซินสกี้เห็นคล้ายที่แฮริงตันเสนอ… แฮริงตันนี่ก็น่าอ่านเหมือนกัน คงออกมาก่อนหลังไล่ๆ กันไม่นานนัก อาจารย์ผมเลยจับให้อ่านคู่กัน เล่มแฮริงตันที่ว่าคือ The Accidental Century… เอ้า ต่อ ทั้งคู่เห็นว่า :

ผลจากความสำเร็จอันเกิดจากการคิดด้วยเหตุผลของมนุษย์ ไม่เพียงทำให้มนุษย์ได้ความรู้ความเข้าใจธรรมชาติ เปลี่ยนฐานะจากการที่ต้องขึ้นต่อธรรมชาติ มาเป็นการเข้าควบคุมและใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเข้าไปเปลี่ยนธรรมชาติมารับใช้และยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองได้มากและในเวลาอันรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่ความสำเร็จจากการคิดด้วยเหตุผลยังเปลี่ยนความเข้าใจของมนุษย์ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับโลกรอบตัวและกับพระผู้สร้างในโลกเบื้องบนไปด้วย มนุษย์เปลี่ยนมาเห็นตัวเองว่าเป็นศูนย์กลาง เป็นเป้าหมายปลายทาง เป็นที่มาสูงสุดที่จะเป็นผู้สร้างกฎปกครองตัวเอง ความคิดเรื่องความเสมอภาคเมื่ออยู่เบื้องหน้าพระผู้สร้าง เปลี่ยนมาเป็นความเสมอภาคของพลเมืองเมื่ออยู่เบื้องหน้ากฎหมายที่เกิดมาจากตัวเอง

แต่ศตวรรษที่ 20 ก็ได้มาทำลายความมั่นใจนั้นลงไป
เพราะสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจากการคิดด้วยเหตุผล ทั้งในแง่ระบบการจัดการความสัมพันธ์อย่างกฎหมายและระบบราชการ หรือความสำเร็จทางวัตถุอย่างอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือเป้าหมายปลายทางอย่างการสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคสำหรับคนทุกคน มันกลับบิดเบี้ยวออกมาเป็นสงครามโลก เป็นระบอบนาซี ระบอบสตาลิน เป็นการฆ่าล้างพันธุ์ เป็นพลังชาตินิยมอันรุนแรง มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในโลกทางวัตถุและตัดขาดจากโลกเบื้องบนไปแล้วเลยยืนงงงันกับการฆ่าฟัน เศษซากความพินาศทางวัตถุ ระบบเหตุผลที่กลายเป็นกรงขัง การสูญเสียความเชื่อมั่นในยูโทเปียของตัวเอง ทั้งหมดนี้สั่นคลอนความหมายของมนุษย์ในการเป็นผู้สร้าง สั่นคลอนความมั่นใจว่าการกำหนดและลงมือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของตนเองจะทำได้และได้ผลอย่างที่หวัง

เมื่อยูโทเปียของสังคมเสมอภาคผลิตความทารุณภายใต้สตาลินออกมาในความเป็นจริงและวาดดิสโทเปียแบบ 1984 ออกมาในฝันร้าย และเมื่อ ‘rational humanism’หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำได้อย่างมากเพียงยกการปกป้องสิทธิมนุษยชนขึ้นเป็นเป้าหมายที่ต้องหาทางทำให้เป็นจริงแทนยูโทเปียอื่นๆ ก็เท่ากับว่า การมองมนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้สร้าง ได้ถูกถอนมนต์ขลังออกแล้ว เช่นเดียวกับที่พระเจ้าเคยถูกถอนมนต์ขลังนั้นมาก่อน”

“ป่า แม่น้ำ สัตว์ และระบบนิเวศก็ต้องการสิทธิที่จะได้รับการปกป้องอย่างนั้นเหมือนกันนะครับ ถ้าเราฟังเกรียตา ทุนแบร์ย เราไม่เพียงสูญเสียยูโทเปียไป ไม่ว่าจะเป็นยูโทเปียในทางศาสนาหรือในทางโลก แต่เรากำลังขโมยความฝันของเด็ก ๆ และริบความฝันของอนาคตไปด้วย” เขาเอ่ยขึ้น “แล้วคนรุ่น ’68 ที่ออกมาเคลื่อนไหว ความคิดเป็นแบบไหนครับ?” เขาถามต่อ

ผมเลยยกโน้ตให้เขาอ่าน
“ข้อเสนอหลักของเบรษซินสกี้มีอยู่ว่า ฝ่ายซ้ายใหม่ของคนรุ่น ’68 เหมือนว่าเป็นกระแสที่มาปลุกความหวังขึ้นมาใหม่ว่า การรวมตัวกันอย่างมีพลังจะสามารถนำความเปลี่ยนแปลงพาสังคมไปสู่เป้าหมายตามอุดมคติได้ แต่พวกเขาก็ทำไม่ได้ เพราะตกอยู่ในเงื่อนไขข้อจำกัดทางสังคมและความคิดที่แตกต่างจากฝ่ายซ้ายรุ่นเก่าอย่างเลนิน

ข้อจำกัดใหญ่เลยเมื่อเทียบกับรุ่นเก่าคือ ซ้ายเก่าอย่างเลนิน หรือผู้นำชาตินิยมรุ่นเก่าอย่างการิบัลดี มีพิมพ์เขียวการเปลี่ยนสังคมที่ยังไม่ถูกความเป็นจริงจากการปฏิบัติมาทำให้อุดมคติในนั้นแปดเปื้อน จึงสร้างการรวมใจผู้คนข้ามพื้นที่ด้วยอุดมคตินั้นได้มาก นอกจากนั้น ในขณะที่สิทธิธรรมของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกท้าทาย แต่รัฐและอำนาจศูนย์กลางในการบังคับบัญชาการปกครองของรัฐมิได้ถูกท้าทายไปด้วย

การที่อุดมคติใหม่จะประกอบกับพรรคที่จัดตั้งเป็นพรรครวมศูนย์และประกาศสนับสนุนเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ หรือประกอบกับชาตินิยมและการสร้างรัฐเอกราชที่มุ่งรวมชาติและรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางจึงเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจและรวมพลังคนให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อการต่อสู้ได้มาก ความคิดแบบนี้ยังสอดคล้องกับระบบการจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในภาคการผลิตที่สร้างระบบศูนย์กลางมาควบคุมการแบ่งงานกันทำตามสายพานการผลิต

แต่เมื่อข้ามมาถึงทศวรรษ 1960 สภาวะเช่นที่กล่าวมาข้างต้นกลับตาลปัตรไปหมด หนึ่ง คนไม่เชื่อในสิ่งที่เบรษซินสกี้เรียกว่า ‘institutionalized beliefs’ อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ ของพรรค ของสถาบันความคิด หรือของศาสนจักร สอง ไม่อาจหวังถึงการยอมรับสิทธิธรรมในอำนาจการนำและบังคับบัญชาจากศูนย์กลางแบบรวมหมู่โดยไม่มีการตั้งคำถามได้อีกแล้ว การท้าทายตั้งคำถามกับสิทธิอำนาจทุกๆ แหล่งในสังคมกลายเป็นภาวะปกติ และ สาม เบรษซินสกี้สังเกตว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นขับเคลื่อนไปโดยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการคิดที่ใช้เหตุผล เช่น ความโกรธ ความกังวลใจ ความรู้สึกไม่มั่นคง หรือแม้กระทั่งความเบื่อหน่ายและต้องการแสวงหาความตื่นเต้นและการได้รับความยอมรับจากการแสดงออก

สภาวะแบบนี้ นำมาสู่การคาดการณ์ของเบรษซินสกี้ว่า “In the absence of social consensus, society’s emotional and rational needs may be fused -mass media make this easier to achieve- in the person of an individual who is seen as both preserving and making the necessary innovations in the social order. Given the choice between social and intellectual disorder… and authoritarian personal leadership, it is very probable that even some present constitutional and liberal democratic societies would opt for the latter.”

“โอ !” เขาบอก “เบรษซินสกี้แทงหวยสหรัฐฯ ถูกเป๊ะ ได้ออกมาเป็นทรัมป์ตรงตำรับเลยครับ”.