posttoday

ระลึกชาติ ๒๕๒๑

14 ธันวาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*********************

ไม่อยากมองการเมืองปีหน้า แต่ขอมองย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2521

ใน พ.ศ. 2521 ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นปี 3 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีการประท้วงป่วนปั่นในท้องถนน และไม่มีความวุ่นวายโหวกเหวกในสภา เพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และปกครองโดยรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทั้งสองท่านนี้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองไปได้อย่างสงบเรียบร้อยดีพอสมควร โดยให้ความหวังว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ผู้เขียนจำได้ว่าในปลายปี 2521 ทันที่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 คลอดออกมา ในห้องเรียนที่อาจารย์ผู้สอนท่านเป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวด้วยคนหนึ่ง ได้บรรยายให้เห็นถึง “คุณวิเศษ” ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “นี่คือรัฐธรรมนูญในฝัน” ที่จะทำให้สังคมไทยมีความสงบเรียบร้อยอย่างยั่งยืน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการ “ประสานอำนาจ” ไว้เป็นอย่างดี

ท่านบอกว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่อง “อำนาจเก่า” กับ “อำนาจใหม่” ที่ต่อสู้กันมาตั้งแต่ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475นั้นแล้ว โดยพวกอำนาจเก่าในความหมายของท่านก็คือ พวกที่นิยมพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ทหาร ข้าราชการ และคนไทยที่มีความคิดอนุรักษ์นิยม ในขณะที่พวกอำนาจใหม่ก็จะหมายถึง พวกหัวก้าวหน้า นักเรียนนอก ปัญญาชน และพวกต่อต้านกษัตริย์ ซึ่งในคณะราษฎรที่ยึดอำนาจรัฐเมื่อ พ.ศ. 2475 ก็จะเป็นคนกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งนายทหารและข้าราชการที่ร่วมทำรัฐประหารในครั้งนั้น ก็มีแนวความคิดที่ต่อต้านกษัตริย์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม พวกอำนาจเก่าก็ยังเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุดในทางการเมืองไทย ดังจะเห็นได้จากการล่มสลายของ “ระบอบพิบูลสงคราม” ใน พ.ศ. 2500 ที่กลุ่มทหารในฟากฝ่ายที่เชิดชูพระมหากษัตริย์ได้ขึ้นมามีอำนาจสืบแทน จนกระทั่งกลุ่มอำนาจใหม่ภายใต้การนำของปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัย ได้นำประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารออกไปในเหตุการณ์วันมหาวิปโยคเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่บ้านเมืองก็ไม่ได้สงบเรียบร้อย เพราะกลุ่มอำนาจเก่าก็จ้องจังหวะที่จะคืนสู่อำนาจอยู่ตลอดเวลา และเมื่อระบอบรัฐสภาหลังการเลือกตั้งในปี 2518 เต็มไปด้วยความวุ่นวาย พร้อมกับพวกหัวก้าวหน้าได้ใช้เสรีภาพอย่างฟอนเฟะ ทหารก็ทำการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งก็คือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นั่นเอง

ท่านอาจารย์ผู้นี้(ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว จึงขอที่จะไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากเป็นการไม่สมควร)ให้รายละเอียดว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เรียกนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ไปปรึกษาหารือถึงแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยได้อาศัยวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) มาเป็นแนวทางด้วยส่วนหนึ่ง ที่สุดได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ปัญหาของการเมืองไทยก็คือ “ความไม่สมดุลในอำนาจ” ระหว่างผู้ปกครองที่มาจากระบบราชการ กับผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง ดังเช่นที่ได้เห็นความล้มเหลวของระบบรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งในหลายๆ ยุคสมัย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 นั้นแล้ว

ดังนั้นถ้าหากได้มีการสร้าง “สมดุลอำนาจ” ด้วยการประสานให้มีการใช้อำนาจ “อย่างพอดีพองาม” ระหว่างกลุ่มผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายนี้ ก็น่าจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพมั่นคงขึ้น และก็จะส่งผลต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้สภาวะการเมืองที่มีความ “ร่วมมือกัน” ระหว่างผู้คนทั้งสองฝ่ายนั้น

ด้วยเหตุนี้ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 จึงใช้ระบบ “สภาคู่” ที่ให้ทหารและข้าราชการยังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่ในวุฒิสภา พร้อมกับการทำงานร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎรที่ยังจำเป็นจะต้องมีวุฒิสภานั้นเป็น “พี่เลี้ยง” ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กีดกันทหารและข้าราชการออกจากการบริหารประเทศ คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดกว้างให้ทหารและข้าราชการประจำสามารถเป็นผู้นำรัฐบาลคือเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งที่เข้าไปกำกับนโยบายอยู่ในฝ่ายบริหารหรือเป็นรัฐมนตรีได้

ที่ผู้เขียน “ระลึกชาติ” ย้อนหลังอดีตบางอย่างในช่วง พ.ศ. 2521นี้ ก็เพราะได้นึกตามที่ท่านอาจารย์ผู้ร่วมร่างท่านได้ชี้แจง “สรรพคุณ” ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แล้วทำให้นึกเสียใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ได้เป็น “รัฐธรรมนูญในฝัน” อย่างแท้จริงแต่อย่างใดเลย เพราะ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทั้งที่เป็นผู้กำกับการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นผู้คัดเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นนายทหารกว่า 70 % รวมทั้งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งของสภาก็รับรองเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังอยู่ในอำนาจได้ไม่ถึงปี (เป็นนายกรัฐมนตรีวันที่12 พฤษภาคม 2522 ลาออกจากตำแหน่ง 29 กุมภาพันธ์ 2523) แม้ว่าต่อมาเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน แล้วอยู่ในตำแหน่งมาถึง 8 ปีกว่า ก็ไม่ใช่เพราะการจัดวางอำนาจของรัฐธรรมนูญ2521นั้นโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำที่แตกต่างกันระหว่างพล.อ.เกรียงศักดิ์กับ พล.อ.เปรมนั้น มากกว่า

เท็จจริงอย่างไรก็ยังไม่เป็นที่ยืนยัน แต่ฟังดูแล้วก็มีเหตุผลน่าเชื่อถือ ว่ากันว่าการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เกิดจากการที่เหล่านายทหารทั้งในกองทัพและในวุฒิสภา เกิดการเปลี่ยนแปลงใน “ความภักดี” ที่มีต่อผู้นำกองทัพ ด้วยการที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ หลุดพ้นจากตำแหน่งในกองทัพแล้ว อย่างที่เรียกว่า “ขาลอย” ก็ทำให้ความภักดีของนายทหารบางกลุ่มที่มีต่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ นั้นลดลง แล้วเปลี่ยนขั้วไปที่นายทหาร “ขาขึ้น” อย่างพล.อ.เปรม ที่มี “ข้อมูลใหม่” สนับสนุนว่า “มากบารมี ซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง” ซึ่งด้วยคุณสมบัติดังนี้ของ พล.อ.เปรม นี่เองที่ทำให้ พล.อ.เปรม สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาได้อย่างยาวนานดังกล่าว

ระลึกถึงการเมืองไทยในอดีตแล้วก็ทำให้อดนึกถึงการเมืองไทยในปัจจุบันไม่ได้ เพราะในโลกการสื่อสารสมัยใหม่ “ข้อมูลใหม่” นี้ยากที่จะพิสูจน์ให้เชื่อได้อย่างแท้จริง ในขณะที่ผู้คนบางกลุ่มก็ยังเชื่ออยู่ในเรื่องเหล่านี้ ทั้งที่เป็นเรื่องไม่บังควร เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเอามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง

นายทหารหลายคนที่เติบโตมาในยุคนั้นก็น่าจะ “จดจำ” เรื่องราวเหล่านั้นได้เช่นกัน

*******************************