posttoday

ได้เวลาปฏิรูปรัฐธรรมนูญกันแล้ว

09 พฤศจิกายน 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

************************

รัฐธรรมนูญไทยไม่ต้องแก้ แต่ต้องปฏิรูปใหม่หมด

“การปฏิรูป” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ เช่น การปฏิรูปการเมืองใน พ.ศ. 2540 ที่ต้องการเปลี่ยน “การเมืองเลว” ให้เป็น “การเมืองดี” จนทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” และยังมีอีกชื่อหนึ่งด้วยว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง”

ตอนที่ คสช.ทำรัฐประหารใน พ.ศ.2557 หลายๆ คน(รวมถึงผู้เขียนด้วยคนหนึ่ง)เคยหวังว่า ทหารคณะนี้น่าจะเป็นทหารที่ดี คิดจะปฏิรูปประเทศที่หมักหมมมานานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกทางการเมือง แต่พอปล่อยให้ทำงานไปสักระยะหนึ่งก็เริ่ม “เห็นลาย” ว่า น่าจะไม่ใช่ทหารที่ดีจริงๆ และยิ่งมาล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานยกร่าง ก็ยิ่งทำให้เสื่อมความเชื่อถือทหารคณะนี้ไปอีกมาก เพราะแม้แต่อาจารย์บวรศักดิ์ก็ยังพูดถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเขวี้ยงทิ้งว่า “เขาอยากอยู่ยาว” ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า “เขา” ในคำพูดนี้ก็คือ “ทหาร” ที่มีอำนาจมากที่สุดนั่นเอง

ครั้นมีการยกร่างใหม่โดยคณะของ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ก็ยิ่งทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึง “ความอยากอยู่ยาว” ดังกล่าว หลายคนมองว่าเรื่องนี้น่าจะมีการ “สมคบคิด” กันมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยการทำงานกันเป็นทีมของ “แม่น้ำ 5 สาย” อันประกอบด้วย คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้หลักคิดอันเดียวกันว่า ปัญหาการเมืองไทยสั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน มีเรื่องที่จะต้องทำมาก และจะต้องไม่ทำโดยนักการเมืองโดยลำพัง ควรจะทำโดย “ผู้หวังดี” ที่เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างพวกแม่น้ำ 5 สายนี้ จึงคิดแผนการณ์ไปในรูปแบบของการวาง “ยุทธศาสตร์ชาติ” ว่าจะต้องใช้เวลาแก้ปัญหาต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20

โดยในช่วง 5 ปีแรกนี้จะต้องให้พวกแม่น้ำ 5 สายนี่แหละช่วยกำกับดูแล พร้อมกับการวางแผนยึดครองอำนาจในรัฐสภา ด้วยการเขียนกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งให้เป็นไปในแนวที่คณะผู้หวังดีเหล่านี้ต้องการ เป็นต้นว่า การสร้างพรรคการเมืองของ คสช. ที่ยอมแม้กระทั่งไปรวบรวมเอานักการเมืองเก่าๆ ที่ตนเองเคยตำหนิและยึดอำนาจมา เข้ามาจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ผนวกเข้ากับนโยบายที่สืบเนื่องกันจากรัฐบาลของ คสช. เกี่ยวกับ “ประชารัฐ” ทั้งหลาย ร่วมกับการกีดกันพรรคการเมืองที่ไม่ยอมมาเข้าเป็นพวก หรือไม่ก็ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มีความเข้มแข็ง แต่ที่น่าสมเพชมากๆ ก็คือ การให้วุฒิสภาที่ล้วนคัดสรรมาจากกลุ่มผู้หวังดี ให้มีอำนาจมหาศาล จนกระทั่งไม่สนใจว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไร เพราะถึงอย่างไรก็มีวุฒิสภานั้นคอยค้ำจุนปกป้องรัฐบาลอยู่

วุฒิสภาเองก็ทะนงตนมากๆ ถึงขั้นที่มีสมาชิกวุฒิสภาบางคนออกมาพูดอย่างสอดคล้องกัน ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือถ้าหากมีการเสนอแก้ไข สมาชิกวุฒิสภาก็คงจะไม่ร่วมด้วย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้(2560)เขียนไว้ว่า วุฒิสภามีหน้าที่ต้องคอยประคับประคองรัฐบาลในช่วง 5 ปีแรกนี้ไปก่อน รวมถึงยังไม่ทราบว่าจะมีการปรับแก้ในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งถ้าคิดจะแก้ไขก็อาจจะไม่สำเร็จ เพราะต้องอาศัยเสียงวุฒิสภาสนับสนุน ทั้งในวาระที่ 1 และ 3 ในขั้นตอนของการแก้ไขนั้น นี่จึงอาจตีความได้ว่าวุฒิสภากำลังเป็น “จระเข้ขวางคลอง” นั่นเอง

ปัญหาเรื่องนี้จะไม่เกิดเลยถ้า คสช.ไม่คิดที่จะสืบทอดอำนาจ ด้วยการผ่านรัฐธรรมนูญของอาจารย์บวรศักดิ์ และใช้แผนปฏิรูปประเทศของ สปช.อย่างจริงจัง กับไว้ให้เป็นนโยบายแห่งรัฐหรือยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งแต่ตอนนั้น ประเทศไทยคงจะมีการเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2558 ถึงปีนี้ก็จะเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งชุดแรกนั้น แล้วก็อาจกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ การเมืองก็อาจจะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ หมุนเวียนไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย นั่นก็คือการให้ประชาชน “ร่วมคิด ร่วมทำร่วมรับผิดชอบ” ไม่ใช่ “สมคบคิด สมคบทำ” แต่ “โยนความรับผิดชอบ” ไปให้กับคนอื่นๆ อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้

คนไทยจำนวนหนึ่งคงจะสงสัยในความรับผิดชอบของผู้นำทหารว่า “ความไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” ของการแก้ไขปัญหาประเทศตลอดระยะเวลาหว่า 5 ปีที่ผ่านมาของคณะทหารชุดนี้ “ท่านจะร่วมรับผิดชอบอะไรหรือไม่” เพราะต่อมาหลังจากที่มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ตามที่วางแผนไว้พอสมควรแล้ว (ที่พลาดไปก็แค่ไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ที่คิดไว้ว่าจะกดหัว ส.ส.ไม่ให้กล้าหือ) ท่านก็ดูเหมือนจะปล่อยให้ปัญหาทั้งหลายเป็นความรับผิดชอบของผู้อื่น อย่างในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญท่าน(คือนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา)ก็บอกว่า “รัฐบาลไม่เกี่ยว” ซึ่งนอกจากจะแสดงความไม่จริงใจที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาของประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงภาวะที่ไร้ความเป็นผู้นำที่ปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าว

ผู้เขียนและคนที่เป็นห่วงอนาคตของประเทศคงจะมีความเห็นเหมือนๆ กันว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่” ควรให้มีการนำและขับเคลื่อนโดยผู้ที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง (ที่แต่เดิมคือแม่น้ำ 5 สาย แต่ตอนนี้น่าจะเรียกได้ว่า “แนวร่วมปากอ่าว” คือไหลมารวมและตกทะเลไปพร้อมๆ กันที่ปากอ่าวนั้นแล้ว) ควรที่จะออกมาแสดงความรับผิดชอบดังกล่าวให้ชัดเจน

อย่างน้อยก็ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีปัญหาที่จะต้องแก้อีกมาก สมควรที่จะต้องมีการ “ปฏิรูป” คือทำขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ที่อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร เช่นอาจจะต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ของทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้พร้อม ทั้งกระบวนการและเนื้อหาที่จะทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยใช้เวลาอันมากพอนี้ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทุกกระบวนการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เพื่อจะได้เกิดความรักความหวงแหนในรัฐธรรมนูญที่พวกเขาได้ร่วมสร้างขึ้น แล้วประชาชนก็จะขอบคุณทุกๆ ท่านที่ "เปิดใจกว้าง" ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อาจจะไม่ใช่ฉบับสุดท้าย แต่จะเป็นฉบับแรกที่รวมหัวใจของคนไทยทั้งชาติ ให้กลับมาสมานสามัคคีกันได้เป็นอย่างดี อันเป็นผลได้ที่สุดยอดยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญใดๆ นั้นเสียอีก

 

**********************************