posttoday

ประชาธิปไตยแบบดิจิตัล : ประชานิยมแบบทั่วถึง (2)

26 ตุลาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************************

การเมืองกำลังเผชิญกับสงครามแบบใหม่ “ไซเบอร์วอร์”

กลุ่มหัวข้อหนึ่งในการประชุมทางวิชาการประจำปีในปีนี้ของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกันที่ผู้เขียนได้ไปร่วมรับฟังมาก็คือ “Politics and Cyber War” ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือ สงครามการเมืองซึ่งแต่เดิมเป็นการกระทำระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผ่านสื่อแบบเก่าๆ เป็นต้นว่าตัวบุคคลและสื่อสาธารณะแบบเดิมๆ ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์นั้น เป็นสิ่งที่ “ล้าสมัย” ไปเสียแล้ว เพราะสงครามการเมืองสมัยใหม่ได้กลายเป็นสงครามที่กระทำผ่าน “สื่อดิจิตัล” ที่สำคัญก็คืออินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีอานุภาพมากมายยิ่งกว่า โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการทำลายล้างคู่ต่อสู้ ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับนานาชาติ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองในระดับนานาชาติอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “สงครามเย็น” อันเกิดจากการที่ประเทศต่างๆ ในโลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ภายใต้อุดมการณ์และลัทธิการเมืองที่แตกต่างกัน คือโลกเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตรัสเซีย อาวุธที่ใช้กันตอนนั้นก็คือ “การโฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) ด้วยการนำเสนอ “ภัยร้าย” ในลัทธิของแต่ละฝ่าย เพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนในประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นบริวาร ร่วมกับการแข่งขันกันผลิตและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงว่าอาจจะเกิด “วันสิ้นโลก” แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั้งสองฝ่ายก็ต้องเลิกราต่อกัน เพราะความเจริญของการสื่อสารทำให้ผู้คนได้รู้ได้คิด จนกระทั่งการข่มขู่ดังกล่าวไม่ได้ผล

ยังมีอาวุธสมัยใหม่อีกมากที่น่ากลัวได้ถูกผลิตในช่วงสงครามเย็นนั้น เช่น อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ ที่ได้ถูกนำมาใช้ในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะสงครามที่เกิดจากฝีมือของผู้ก่อการร้ายหลายๆ กลุ่ม ทำให้ผู้คนประหวั่นพรั่นพรึงกับอาวุธดังกล่าวอยู่ไม่น้อย แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่น่ากลัวเท่าอาวุธที่เรียกว่า “ปัญญา” ที่ฝรั่งใช้คำว่า Intelligence และเมื่อนำมาใช้ร่วมกันกับรูปแบบของการสื่อสารสมัยใหม่ คืออินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มอานุภาพของ “ปัญญา” นั้นเกิดความน่ากลัวขึ้นได้อย่างมากมายมหาศาล นั่นก็คือการเกิดขึ้นของ “สงครามทางปัญญา” ผ่านระบบการสื่อสารสมัยใหม่ ที่เรียกกันว่า “ไซเบอร์วอร์” ดังกล่าว

แรกเริ่มเดิมทีไซเบอร์วอร์จะหมายถึงการกระทำที่เป็นการแทรกแซงเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ที่เรียกว่า “แฮ็ค” (Hack) พร้อมกับการทำลายระบบการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ของฝ่ายตรงข้าม เช่น การปล่อยไวรัสหรือสปายแวร์ ให้ระบบการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ของฝ่ายตรงข้ามใช้การไม่ได้ ซึ่งต่อมาแต่ละฝ่ายก็ได้สร้างระบบป้องกันการแทรกแซงและการทำลายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ของตน ต่างฝ่ายจึงพยายามหาวิธีที่จะก่อสงครามไซเบอร์ด้วยวิธีการใหม่ๆ อันเป็นที่มาของการสร้างข่าวเท็จ ที่เรียกว่า Faked News และข่าวชั่ว ที่เรียกว่า Bullying ผ่านโซเชียลมีเดีย ดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ในหัวข้อการบรรยายหนึ่งในเรื่องไซเบอร์วอร์ ผู้บรรยายได้ชี้ให้เห็นว่าไซเบอร์วอร์ในโลกยุคใหม่ได้เปลี่ยนจาก “การทำสงครามใหญ่” (General War) มาเป็น “การทำสงครามจำเพาะ” (Particular War) จากรูปแบบเดิมๆ ที่เน้นการบ่อนทำลายกันใน “ระดับชาติ” มาเป็นการสร้างความร้าวฉานใน “ระดับบุคคล” และไม่นิยมที่จะกระทำการใหญ่อย่างกว้างขวางไปเสียทุกๆ เรื่อง แต่จะทำ “ทีละเรื่องทีละจุด” แล้วให้มันขยายตัวออกไปเอง อย่างที่เรียกว่า “ไวรัลเอฟเฟ็ค” (Viral Effect) หรือการแพร่เชื้อโรคร้ายผ่านโซเชียลมีเดียเหล่านั้น

ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างถึง Cyber Campaigning หรือการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และโซเชียลมีเดีย ว่าเริ่มมีการใช้กันมาสัก 20 กว่าปีนี่เอง โดยในสมัยก่อนที่โซเชียลมีเดียจะเฟื่องฟู การสื่อสารทางคอมพิวเตอร์จำพวกอีเมล์และข้อความสั้น (SMS) ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ ในการแข่งขันเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบิล คลินตัน ใน พ.ศ. 2535 ได้นำสื่ออิเล็คทรอนิคส์ทั้งสองแบบนั้นมาใช้อย่างจริงจัง

จนกระทั่งอีก 12 ปีต่อมาในการเลือกตั้งในสมัยที่บารัค โอบามาได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก โซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุคก็ถูกนำมาใช้เข้มข้น แต่ลักษณะการใช้จะเป็นไปเพื่อ “การยกย่องเชิดชู” ผู้สมัครหรือข้อดีของผู้สมัคร รวมถึงการเผยแพร่นโยบาย และการสื่อสารในความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกัน เรียกว่าเป็น Positive Usage หรือนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์และในด้านที่ดีเป็นหลัก แม้ว่าจะมีการใช้โจมตีหรือให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามบ้าง ก็ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายและแสดงออกอย่างเกิดเผย

พอมาถึงการหาเสียงเมื่อ 3 ปีก่อน ในสมัยที่นายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง การรณรงค์เลือกตั้งเต็มไปด้วยความดุเดือด ซึ่งรวมถึงการใช้สื่อสมัยใหม่ทั้งหลายนี้ด้วย โดยโซเชียลมีเดียได้ถูกนำไปใช้ในการสื่อสารเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นกระทำที่เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายหรือผิดกฎหมาย เช่น การใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และการโจมตีให้ร้าย(ผ่านข่าวเท็จและข่าวชั่วทั้งหลาย) รวมถึงการทำลายระบบการสื่อสารของฝ่ายตรงข้ามนั้นด้วย

ซึ่งผู้บรรยายบอกว่าสงครามไซเบอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่สงครามระหว่างชาติที่เป็นศัตรูกันดังที่เคบเป็นมานั้นแล้ว แต่ได้กลายมาเป็นสงครามระหว่างกลุ่มการเมืองและคู่แข่งขันทางการเมือง ที่นับวันจะมี “ความรุนแรงและร้ายแรง” ขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นสังคมโลกจึงควรตระหนักถึงภัยของไซเบอร์วอร์นี้ ที่กำลังคุกคามเข้ามาถึงชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่สามารถทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกัน ไม่แพ้สงครามนิวเคลียร์ อาวุธเคมีและชีวภาพ อย่างที่เราเคยเผชิญมาแล้วนั่นเลย

สัปดาห์หน้าจะขอจบเรื่องประชาธิปไตยแบบดิจิตัล ด้วยไซเบอร์วอร์ในทางการเมืองไทย ที่ดูเหมือนว่าจะเลียนแบบความเลวร้ายได้ไม่น้อยไปกว่าที่เป็นอยู่ในประเทศอื่นๆ นั้นเลย

**********************************