posttoday

ความสุขใต้ร่มศักดินา

31 สิงหาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

********************************

คนไทยอาจจะยังมีความสุขสบายดีจึงยังไม่อยากเป็นประชาธิปไตย

เราถูกสอนให้ท่องจำมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ และอีกความหมายหนึ่งที่พูดกันติดปากก็คือ การปกครองโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน อย่างที่อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น ท่านว่าไว้ แต่แท้จริงนั้น การเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยเกิดจากความต้องการที่จะมี “เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และความยุติธรรม”

ใน พ.ศ. 2525 ที่ผู้เขียนเข้าศึกษาระดับปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิชาปรัชญาการเมืองการปกครองที่สอนโดยศาสตราจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ท่านได้มอบหมายให้นิสิตแต่ละคนไปทำรายงานในเรื่อง “ประชาธิปไตย” โดยเน้นไปในแต่ละด้าน เป็นต้นว่า กำเนิด พัฒนาการ นักปราชญ์ และแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ทำรายงานเรื่อง จอห์น ล็อค นักปราชญ์ชาวอังกฤษที่มีแนวคิดเกี่ยวกับจุดกำเนิดของประชาธิปไตย นั่นคือแนวคิดเกี่ยวกับ “เสรีภาพและความเท่าเทียม”

ในหนังสือ The Two Treaties of Government ของล็อค ที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ไปอ่าน ได้กล่าวถึงสภาพความทุกข์ยากในภาวะธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์ถูกสังคมต่างๆ ที่แวดล้อมนั้นบีบคั้นอยู่ตลอด แต่ด้วยสิ่งที่มนุษย์มีคือ “ความคิด” จึงทำให้มนุษย์พยายามหาทางหลุดพ้นจากสภาพที่บีบคั้นทั้งหลาย ซึ่งสิ่งที่มนุษย์แสวงหานั้นเรียกว่า “เสรีภาพ” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมนุษย์สามารถมี “ทางเลือก” เช่น เลือกที่จะอยู่จะกิน จนถึงเลือกที่จะให้ใครมาปกครองดูแล

ล็อคได้สร้างหลักการที่เรียกว่า “การปกครองด้วยความยินยอม” (Government by Consent) ด้วยการสร้างกติกาให้ทุกคนยอมรับร่วมกัน นั่นคือระบบนิติรัฐหรือการปกครองด้วยกฎหมาย แนวคิดของล็อคมีอิทธิพลต่อนักคิดแนวประชาธิปไตย อย่าง ฌัง ฌาร์ค รุซโซ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสในสมัยต่อมาเป็นอย่างมาก นั่นก็คือแนวคิด “เจตจำนงร่วมกัน” (General Will) คือการปกครองที่เกิดจากความเห็นชอบของผู้คนทั้งหลาย อันเป็นที่มาของการมีผู้แทนราษฎร หรือการปกครองในระบอบรัฐสภา ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดของล็อคยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างชาติและการเขียนรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้นำถ้อยคำในแนวคิดของล็อคไปเขียนไว้อย่างชัดเจน

จากนั้นก็มีการขยายความแนวคิดของล็อคเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นในชาติต่างๆ ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือหลักของความเสมอภาคเท่าเทียม เช่น 1 คน 1 เสียง (หลัก ONE Man One Vote) และหลักอำนาจที่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย (Limited Power) เป็นต้น ซึ่งเชื่อมมาถึงการสร้างกระบวนการยุติธรรม คือการใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม การถ่วงดุลอำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจ เหล่านี้คือหลักการที่สำคัญของระบอบการปกครองที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากจะสรุปความตามหลักการทั้งหลายนี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ระบอบการปกครองที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งมวลนั่นเอง”

ทั้งสามประเทศที่เป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตย คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ที่แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีประวัติศาสตร์ของการสร้างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน แต่ประเทศทั้งสามก็มีหลักการหรือแนวคิดอันเดียวกัน นั่นก็คือ หนึ่ง ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกผู้ปกครอง หรือหลักของเสรีภาพ สอง ประชาชนต้องมีสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายเสมอกัน หรือหลักความเสมอภาคเท่าเทียม และสาม ประชาชนต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยดีอย่างถูกต้อง หรือหลักของความยุติธรรม

ประเทศอังกฤษมีประวัติการสร้างประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุด คือเมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว โดยกลุ่มขุนนางได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านการใช้อำนาจตามอำเภอใจของกษัตริย์ แล้วให้กษัตริย์ลงนามใน Magna Carta เมื่อ ค.ศ. 1215  ที่ถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก ด้วยการประกาศให้กษัตริย์ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยกษัตริย์จะปกครองตามอำเภอใจไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องปรึกษาหารือกับตัวแทนของประชาชน ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม อันเป็นที่มาของกระบวนการการปรึกษาหารือหรือระบบรัฐสภา (Parliament มาจาก Parlor แปลว่าห้องสำหรับการประชุมพูดคุย) โดยการจะบริหารประเทศจะต้องผ่านกระบวนการของการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนของประชาชนเป็นหลัก และกษัตริย์ก็ต้องตกลงยินยอมเห็นชอบ

ในกรณีของสหรัฐอเมริกาก็สร้างประชาธิปไตยขึ้นจากความต้องการที่จะหนีการกดขี่จากผู้ปกครองเดิมเช่นกัน โดยคนอเมริกันก็คือคนยุโรปโดยเฉพาะคนอังกฤษที่อพยพมาที่ทวีปอเมริกาเหนือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เพื่อแสวงหา “เสรีภาพ” แต่ผู้ปกครองเดิมคืออังกฤษและฝรั่งเศสก็ยังตามมาแสดงความเป็นผู้ครอบครอง จึงมีการลุกฮิอขึ้นต่อต้าน ที่สุดผู้อพยพเป็นฝ่ายชนะ จึงประกาศอิสระภาพและร่างรัฐธรรมนูญ โดยประกาศใช้ใน ค.ศ. 1776 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นเสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็สร้างกลไกที่โดดเด่นให้เป็นระบอบของอเมริกันเองอีกด้วย นั่นก็คือการตรวจสอบถ่วงดุล หรือ Check and Balance คือการคานอำนาจกันของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้สามารถตรวจสอบและควบคุมกันได้ ซึ่งก็ได้ทำให้การเมืองอเมริกันมีเสถียรและมั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน

กรณีของฝรั่งเศสก็เกิดขึ้นภายใต้การต่อสู้ที่รุนแรง เนื่องจากมีการสังหารกษัตริย์และผู้สนับสนุนจำนวนมาก แต่ผู้ทำการปฏิวัติก็อ้างว่าเพื่อ “ถอนรากถอนโคน” ระบอบเก่า แต่คงเป็นด้วยความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1789 ระบอบใหม่ของฝรั่งเศสก็ล้มลุกคลุกคลานมาอีกเกือบ 200 ปี จนประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอโกลด์ได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ.1958

ประชาธิปไตยคือการต่อสู้เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยมุ่งให้ทุกคนมีเสรีภาพและได้รับความยุติธรรม แต่สำหรับประเทศไทยเราคงเป็นประชาธิปไตยได้ยาก เพราะคนจำนวนมากยังมีความสุขความพอใจที่จะยอมตนให้ผู้มีอำนาจบางกลุ่มให้การคุ้มครองดูแล วันๆ ก็เอาแต่ร้องเพลง “ความสุขใต้ร่มศักดินา”

**********************************