posttoday

“1989”

30 สิงหาคม 2562

ศุภมิตร ปิติพัฒน์

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

*****************************

ถ้าหาก อาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร ยังมีชีวิตอยู่ ผมแน่ใจว่าอาจารย์จะเขียนบทความเพื่อระลึกถึงการทลายกำแพงเบอร์ลินที่กำลังจะครบรอบ 30 ปีเต็มในเดือนพฤศจิกายนวันที่ 9 นี้อย่างแน่นอน

คราวหนึ่ง ผมเคยเรียนถามอาจารย์ว่า อาจารย์เป็นคนสอนและเป็นคนถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสื่อต่างๆ มาเนิ่นนาน ถ้าให้อาจารย์เลือกปีใดปีหนึ่งที่เห็นว่าเป็นปีที่มีเหตุการณ์สร้างผลสะเทือนมากที่สุดต่อการเมืองระหว่างประเทศร่วมสมัยของเรา อาจารย์จะเลือกปีไหน?

เวลา อาจารย์ประทุมพร พูดกับคนรู้จักสนิท อาจารย์แทนตัวเองว่าตุ้ง อาจารย์ตอบคำถามผมอย่างแทบไม่ต้องหยุดคิดเลยว่า “ตุ้งว่า Nineteen eighty-nine อาจารย์ว่าปีไหนล่ะคะ?” อาจารย์ถามผมกลับ

หลายปีต่อมา ขณะที่กำลังตรวจผลงานวิชาการที่มีคนส่งมาให้อ่าน อาจารย์ไชยวัฒน์ ค้ำชูถามความเห็นผมคล้ายๆ กันนี้ว่า ถ้าให้เลือกปีสิ้นสุดสงครามเย็น หรือปีที่เราจะใช้เป็นจุดตัดระหว่างระเบียบโลกสมัยสงครามเย็นกับระเบียบโลกหลังสงครามเย็น อาจารย์จะเลือกปีไหน? อาจารย์ถามเพราะอยากทราบว่าผมเห็นด้วยกับปีที่คนเขียนเสนอในต้นฉบับที่อาจารย์กำลังอ่านอยู่ไหม

เมื่อตอบอาจารย์แล้ว ผมเลยทราบว่าอาจารย์ประทุมพรและอาจารย์ไชยวัฒน์ ซึ่งจัดรายการวิทยุ “หมุนตามโลก” ทางวิทยุจุฬาฯ คู่กันให้คนฟังได้รับสาระความรู้และความรื่นรมย์ต่อเนื่องมานานหลายปี ทั้งที่อาจารย์ทั้ง 2 ก็เห็นอะไร ในการเมืองโลกบางทีไม่ค่อยจะตรงกันนัก เถียงกันออกอากาศอย่างน่ารักให้แฟนคลับที่ติดตามฟังได้ยิ้มก็หลายครั้ง แต่อาจารย์ทั้ง 2 เห็นตรงกันในเรื่องนี้ และเรา 3 คนเลือกปี ’89 เป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองโลกร่วมสมัย

ตอนนั้นอาจารย์ประทุมพรบอกเหตุผลผมด้วยว่าทำไมถึงเลือกปี ’89 อาจารย์ว่า ในแง่ของตุ้ง ตุ้งเกือบจะเป็นคนเดียวในเมืองไทยก็ว่าได้ที่สอนและเขียนงานเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกมา บุกเบิกเส้นทางชวนใครต่อใครให้ไปเที่ยวด้วย แต่เดี๋ยวนี้การเมืองยุโรปตะวันออกในงานชุดนั้นของตุ้งล้าสมัยไปหมดแล้ว อย่างโปแลนด์หรือเช็กเดี๋ยวก็เปลี่ยนมาอยู่ยุโรปกลาง ใครไปพูดว่าเป็นกลุ่มยุโรปตะวันออก เขาจะเคืองเอาได้

อาจารย์ยังเล่าถึงการนำเรื่องล้มระบอบเชาเชสกูในโรมาเนียมาเป็นฉากหลังในนวนิยายของ ‘ดวงใจ’ เรื่อง ดาวยังไม่ดับแสง หรือพูดอีกแบบ คืออาจารย์เขียนนวนิยายเรื่องนี้เพื่อจะได้ใช้ข้อมูลสัมภาษณ์ที่อาจารย์เก็บจากที่นั่นมานำเสนอบรรยากาศการลุกฮือของประชาชนจนระบอบคอมมิวนิสต์โรมาเนียต้องล้มลงไป

อาจารย์ว่ากรณีโรมาเนีย การล้มระบอบโดยประชาชนที่นั่นนับเป็นการเปิดศักราชใหม่จริงๆ เพราะเหตุการณ์เกิดในเดือนธันวาคมขณะที่เชาเชสกูอยู่ระหว่างการเยือนอิหร่าน เมื่อทหารแปรพักตร์ เขาเลยถูกจับประหารในวันคริสต์มาสปีนั้นเพื่อหยุดกระแสประท้วงและความโกรธแค้นของประชาชนที่ลุกลาม โรมาเนียเป็นที่เดียวที่การลุกฮือของประชาชนในยุโรปตะวันออกปีนั้นถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง เชาเชสกูตัดสินใจผิดที่ใช้กำลังปราบ ทำให้คนโกรธกันมาก การประท้วงแทนที่จะหยุดเลยยิ่งขยาย อิหร่านเลยพลอยเสียชื่อ เพราะว่ากันว่าคำสั่งปราบปรามจากเชาเชสกู เขาสั่งการตอนที่อยู่ระหว่างการเยือนที่นั่น พอหนังสือพิมพ์อิหร่านรู้เข้า เลยออกมาโจมตีรัฐบาลกันยกใหญ่

ผมถือโอกาสนั้นถามคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงจากอาจารย์ อาจารย์ประทุมพรเป็นคนติดตามงานทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ถึงกับจะมีศรัทธาในน้ำยาของทฤษฎีที่มีอยู่ว่าจะอธิบายอะไรได้แน่นอนแม่นยำ และวิชาที่อาจารย์สอนปกติก็ไม่ใช่วิชาทางด้านทฤษฎี แต่เป็นอาณาบริเวณศึกษาและประเด็นปัญหาระหว่างประเทศร่วมสมัย พออาจารย์ได้คำถามจากคนที่ยืนประจำการสอนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างนั้น อาจารย์เลยได้ที ย้อนถามผมว่า อาจารย์ตอบตุ้งมาก่อนว่า แล้วมีทฤษฎีไหนไหมคะ ที่สามารถอธิบายและคาดการณ์ถึง “1989” ได้บ้าง?

ถ้าให้ตุ้งอธิบาย อาจารย์บอก ตุ้งคงเริ่มอธิบายที่มาและเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ “1989” ที่โปแลนด์ก่อน แต่เมื่อจะตั้งต้นอธิบายที่การเกิดขบวนการ Solidarity ของโปแลนด์ เราก็ไม่อาจละเลย historic visit ของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ไปได้ การเยือนโปแลนด์ในปี 1979 ของสมเด็จพระสันตะปาปาครั้งนั้นสร้างพลังแรงบันดาลใจที่มีผลสะเทือนสูงมากต่อการรวมตัวของประชาชนที่นั่น ทั้งที่เกิดขึ้นในระหว่างการเยือน และหลังจากนั้นต่อมา รวมทั้งสำนึกว่าการรวมตัวกันได้แบบนี้มีพลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยสันติได้ ในปีต่อมา ขบวนการ Solidarity ก็เกิดขึ้น

แต่ที่ “1989” เปลี่ยนอย่างไม่รุนแรง ยกเว้นที่โรมาเนียนั้น อาจารย์บอกว่า คำอธิบายที่เน้นการรวมตัวกันของขบวนการประชาชนอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะรัฐแบบเยอรมนีตะวันออกนั้น เราต้องรู้ว่าเขามีความสามารถจะใช้ความรุนแรงเหมือนที่เกิดในโรมาเนียได้แน่นอน และคนออกมาชุมนุมบนท้องถนนตอนนั้นก็คิดว่าการปราบยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ที่ไม่รุนแรง อาจารย์ว่าต้องให้เครดิตแก่ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟด้วย ไม่ใช่แค่นโยบายเปิด-ปรับกลาสนอสท์และเปเรสตรอยกาเท่านั้น แต่รวมถึง Sinatra Doctrine ในนโยบายของเขาต่อประเทศบริวารของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก

Sinatra Doctrine ที่อาจารย์พูดถึง คือนโยบายที่ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟตัดสินใจเปิดทางให้ประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองภายในของตนเองได้เอง สหภาพโซเวียตจะไม่เข้าแทรกแซงเหมือนสมัยเบรซเนฟ ให้แต่ละประเทศมีสิทธิตัดสินใจตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับตน เหมือนกับเพลงแฟรงก์ ซินาตรา ท่อนที่โด่งดัง “I did it my way.”

ถ้าอาจารย์ยังอยู่ ผมคงชวนอาจารย์เขียนคำอธิบายเหล่านี้ออกมาให้เป็นระบบกว่าที่ผมเก็บจากความทรงจำมาเล่าข้างต้น อาจารย์ก็คงไม่ปฏิเสธ แต่อาจบอกว่า ตุ้งจะเขียนให้อาจารย์อ่านแน่ แต่ขอเป็นเดือนพฤศจิกาฯ หรือไม่ก็เดือนธันวาฯ เถิดนะคะ จะได้ตรงกับครบรอบจริงๆ ถ้าให้ตุ้งเขียนเดือนนี้ ต้องเรื่องฮ่องกงเท่านั้นค่ะ

แต่อาจารย์ไม่อยู่แล้ว และผมก็เขียนแทนอาจารย์ไม่ได้