posttoday

จินดามณี (7)

20 สิงหาคม 2562

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

********************************

เหตุแห่งความวิปลาสคลาดเคลื่อน และสับสนในหนังสือจินดามณีที่พิมพ์แพร่หลายต่อๆ กันมา ทำให้อ่านยากหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจหรือถึงขั้นเข้าใจไม่ได้นี้ ใน “คำชี้แจงในการจัดพิมพ์” ของหนังสือที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งผู้เรียบเรียงคือ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ อธิบายไว้แตกต่างจากที่ อ.ฉันทิชย์ อธิบาย ดังนี้

“ด้วยเหตุที่จินดามณีเป็นหนังสือแบบเรียนใช้กันแพร่หลายมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์ ผู้ที่ต้องการฉบับตำราเรียนจึงจำเป็นต้องขวนขวายหาต้นฉบับมาคัดลอกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ของตน เมื่อคัดลอกต่อกันสืบมาหลายยุคหลายต่อเข้าก็ย่อมวิปลาสคลาดเคลื่อนไป ผู้เป็นเจ้าของสมุดเมื่อได้เรียนรู้อันใดเห็นเป็นความรู้ใหม่ก็จดเพิ่มเติมลงในสมุดนั้น หรือที่เห็นมีหน้าว่างในสมุดก็คัดเรื่องอื่นเพิ่มเติมลง โดยที่สุดเมื่อสมุดขาดก็เอาต้นต่อกลาง กลางต่อท้าย ปลายต่อต้น เป็นเหตุให้ฉบับที่ตกทอดมาปะปนสับสนและมีที่แตกต่างกันมากกว่าหนังสือวรรณคดีเรื่องอื่นๆ”

ในคำชี้แจงยังได้ชี้ว่า “หนังสือจินดามณีซึ่งมีมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีข้อควรสังเกตว่าจะมิใช่หนังสือที่ใช้สำหรับหัดอ่านเขียนเบื้องต้น และหากพิจารณาเนื้อหาของหนังสือแล้วจะเห็นว่าจินดามณีเป็นตำราที่ผู้แต่งได้รวบรวมถ้อยคำที่อาจเขียนผิดง่าย จำพวกคำยาก คำที่มีเสียงพ้อง และคำศัพท์ซึ่งมิใช่คำพูดกันตามธรรมดาสามัญ แต่เป็นคำที่ใช้ในภาษาเขียน หรือถ้อยคำที่ต้องการคำอธิบาย คำแปลเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวมตัวอย่างและบอกวิธีแต่งคำประพันธ์ต่างๆ ไว้ด้วย จึงสันนิษฐานว่าจินดามณีจะเป็นหนังสือเรียนสำหรับผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ หรือเป็นตำราสำหรับผู้ที่จะฝึกหัดเป็นกวีในสมัยนั้น”

ข้อความในคำชี้แจงนี้ หนังสือจินดามณีฉบับที่สำนักพิมพ์เพชรกะรัตพิมพ์จำหน่าย นำไปเป็น “คำอธิบาย” โดยไม่ได้ระบุที่มา

คำชี้แจงนี้ เนื้อความคล้ายคลึงมากกับที่นายธนิต อยู่โพธิ์ เขียนไว้ใน “บันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี” เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2485 ดังนี้

“โดยเหตุที่หนังสือจินดามณีเปนตำราแบบเรียนภาษาไทย และใช้กันแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยซึ่งยังไม่มีการพิมพ์เช่นนั้น จำเปนอยู่เองที่ผู้ใคร่ความรู้จะต้องขวนขวายหาต้นฉบับมาขอคัดลอกไว้และสมุดที่ใช้คัดลอกก็ไม่มีอะไรยั่งยืนและสะดวกไปกว่าสมุดไทย จึงเมื่อคัดลอกกันสืบๆ มาหลายยุคหลายต่อเข้า ก็ย่อมวิปลาสคลาดเคลื่อนไป ซ้ำผู้มีสิทธิเปนเจ้าของสมุดได้ความรู้ ความเห็นอันใดมาจากไหนใหม่ ก็เขียนเพิ่มเติมลงไปในสมุดนั้น หรือเห็นมีหน้ากระดาษว่าง ก็คัดเขียนเรื่องอื่นบรรจุลงไป โดยที่สุดตำรายาเกร็ด เมื่อสมุดขาดก็อาจเอาต้นต่อกลาง กลางต่อท้าย ปลายต่อต้น ตามเรื่องของสมุดไทย จึงเปนเหตุให้ปะปนสับสนกัน เหตุนั้น ฉบับที่มีอยู่จึงแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง อันเปนธรรมดาของหนังสือที่ใช้เปนแบบเรียน ไม่จำเพาะแต่จินดามณี แม้หนังสือกลอนสวดอื่นๆ และตำราเรียนบาลีที่มีฉบับอยู่ในหอสมุดฯ เดี๋ยวนี้ ถ้าฉบับใดมีผู้นิยมมากและใช้เรียน ใช้สวดกันแพร่หลายแล้ว ย่อมวิปลาสคลาดเคลื่อนแตกต่างกันมาก ยิ่งมีมากฉบับ ก็ยิ่งมีต่างกันออกไปมากขึ้น หนังสือ    จินดามณี ซึ่งนับว่าแพร่หลาย และใช้เปนแบบเรียนกันมานมนานเพิ่งเลิกใช้เปนแบบเรียนกันเสียเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจขึ้นเปนแบบเรียนหลวง ในตอนต้นรัชกาลที่ 5 จึงน่าจะถูกต่อเติมหรืออาจถูกตัดทอนได้มาก”

นอกจากเรื่องประวัติอักษรไทย และความเป็นมาของหนังสือจินดามณีแล้ว อ.ฉันทิชย์ ได้กล่าวถึงเรื่องผู้แต่งจินดามณี โดยหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ เรียกจินดามณีว่า “พระคัมภีร์” โดยระบุว่าผู้แต่งคือ “พระโหราธิบดี     เดอมอยู่เมืองศุโขทัยแต่งถวาย แต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเมืองลพบุรี”

ในฉบับของกรมศิลปากร เขียนอักขรวิธีแตกต่างไปเล็กน้อย แต่ความหมายเหมือนกันคือ “จินดามุนีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุกโขทัยแต่งถวายครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าลพบุรีย” (น.27) แต่ใน “คำอธิบายวิธีแต่ง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์” กลับมีข้อความที่แตกต่างออกไป ดังนี้

o ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ   เปนโหรประเสริฐ        ปัญญาชำนาญ

ชาวโอฆบุรี  สวัสดีไพศาล     ข้าพระภูบาล    เจ้ากรุงพระนคร

o น้าวเอาตำนาน         ตำเนอรอรรถการ         ตำนานเกลากลอน

ผูกไว้เป็นฉันท์    พากย์ครูอักษร...

คำว่าชาวโอฆบุรี นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ 1 เล่ม 5 พ.ศ. 2475 ว่า “จินดามณีเปนตำราเรียนหนังสือไทย แต่งไว้พิสดารตั้งแต่หัดอ่านเขียนจนถึงหัดแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน บอกไว้ในตำนานนั้นว่า พระโหราชาวโอฆบุรี (คือ เมืองพิจิตร) เปนผู้แต่งและมีหนังสืออีกเรื่องหนึ่งคือพระราชพงศาวดาร (ซึ่งหอสมุดสมมติชื่อเรียกว่า “ฉบับหลวงประเสริฐ” นั้น) ใน บานแผนก ข้างต้นว่า สมเด็จพระนารายณ์ดำรัสสั่งให้พระโหราแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2223...”

แต่ใน “บานแพนก” จริงๆ มีข้อความว่า “ศุภมัสดุ 1042 ศกวอกนักษัตร ณ วน 412  5 ค่ำ ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งว่าให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราธิบดีเขียรไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุ ซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงศาวดารนั้นให้คัดเข้าด้วยกัน เปนแห่งเดียว ให้ละดับศักราชกันมาจึงเท่าบัดนี้”

คำว่า “ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียนไว้แต่ก่อน” เป็นนัยว่า “พระโหรา” คงจะได้สิ้นชีวิตไปแล้ว หรือ “อาจหมายถึงว่าให้เก็บจดหมายเหตุโหรที่มีอยู่แต่ก่อนพระโหราสมัยสมเด็จพระนารายณ์” มารวบรวมเรียบเรียงใหม่ก็ได้ เป็นเรื่องที่นักวิชาการควรจะได้ศึกษาและหาข้อยุติต่อไป

อ.ฉันทิชย์ ตั้งประเด็นในเรื่องนี้ว่า “มีเรื่องสำคัญสำหรับหนังสือ ‘จินดามณี’ ที่ยังเป็นปัญหามืดมนอยู่มากเรื่องหนึ่งคือเรื่องใครเป็นผู้รจนา ตามตำนานที่เขียนก็แจ้งไว้สั้นๆ ว่า ‘พระโหราธิบดี ชาวโอฆบุรี เป็นผู้นิพนธ์’ แต่พระโหราธิบดีกับพระมหาราชครู เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือเปล่า? วินิจฉัยกันมามากแล้ว ไม่ยุติแน่นอนลงได้ อันที่จริงก็น่าเห็นใจ เพราะความเชื่อถือเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะผู้มีศรัทธา ดังนั้นถ้าใครมีเหตุผลและหลักฐานอ้างถึงได้เป็นที่แน่ชัด ก็เป็นอันแน่ใจว่าความเห็นของบุคคลนั้นจะเป็นผู้ชนะในที่สุด ในที่แห่งนี้ใคร่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า หลายบทหลายคำใน ‘จินดามณี’ เหมือนหรือคล้ายกับ ‘พระลอลิลิต’ เช่นคำ ‘นานตื่น’ เป็นต้น”

ส่วนข้อความที่ว่า “จินดามณี นี้ พระโหราธิบดีเดิมอยู่เมืองศุโขทัยแต่งถวาย” อ.ฉันทิชย์ วินิจฉัยว่า “เป็นถ้อยคำที่เขียนขึ้นในชั้นหลัง ไม่ได้เขียนในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ สังเกตเป็นถ้อยคำคนรุ่นหลังเขียนบอกไว้ และถ้าจะสันนิษฐานก็เห็นจะอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระหรือพระเจ้าบรมโกศ เพราะนักเรียนยุคนั้นหลายท่านเคยทันได้เรียนหนังสือในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” (น.111)

ก็เป็นประเด็นที่นักวิชาการควรศึกษาหาข้อยุติต่อไป