posttoday

การเมืองหรือการก่อการร้าย  

15 สิงหาคม 2562

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*************************************

บทความนี้อาจจะช้าต่อสถานการณ์ไปสักหน่อย  แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ  ที่สรุปได้ว่า  มีผู้ก่อเหตุประมาณ 15 คน มีการแบ่งงานกัน บางแห่งทีมละ 2 คน บางแห่งก็คนเดียว  ส่วนย่านประตูน้ำมี 4 คนซึ่งแยกย้ายนำระเบิดไปวางรวม 9 จุด  มือระเบิดทั้งหมดซึ่งแยกย้ายปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 15.00 น. โดยตั้งเวลาให้ระเบิดตรงกันระหว่างเวลา 08.00-09.00 น.ของวันที่ 2 สิงหาคม 2562

เจ้าหน้าที่จับได้รวม 3 คนแล้ว และกำลังขยายผลการสืบสวนเพื่อนำไปสู่การจับกุมต่อไป   ผู้ปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่   จากการสอบสวนเบื้องต้นของตำรวจพบว่า  พวกนี้ไปรับแผนมาจากแกนนำที่ไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน    หลังปฏิบัติการวางระเบิดที่ กทม. ต่างคนต่างหลบหนีออกไปซ่อนตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งทำได้ในฐานะบุคคลสองสัญชาติ

เมื่อเสียงระเบิดดังขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ในขณะที่ไทยกำลังเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจาที่ กทม.  เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า  เอาอีกแล้วหรือ  เหตุการณ์จะซ้ำรอยกับปี 2552 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนและผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่มาประชุมที่พัทยา  ต้องหนีหัวซุกหํวซุนกลับประเทศ  เพราะคนไทยกลุ่มหนึ่งเล่นการเมืองโดยจับเอา “ชาติบ้านเมืองเป็นตัวประกัน” จนไทยไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน  ศักดิ์ศรีของประเทศแทบไม่เหลือ  แล้วปี 2562 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนอีกครั้งและเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะแก้ตัว   แต่กลับมีระเบิดขึ้นใจกลางกรุง  หมายความว่าอะไร  ประเทศไทยถูกจับเป็นตัวประกันอีกแล้วหรือ

เมื่อตั้งสติได้  เราก็ต้องใจเย็น ๆ และตอบคำถามเป็นข้อ ๆ คือ   (1) ใครทำ  (2) ทำไมเขาต้องทำตอนนี้  (3) คนทำหวังผลอะไร (4) ใครได้ใครเสียจากผลที่เกิดขึ้น  (5) เราจะปรับปรุงมาตรการการข่าวและการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง  โดยไม่จำเป็นต้องตอบคำถามเรียงข้อ   ข้อไหนตอบได้ก่อนก็เอาข้อนั้น  แล้วมันจะโยงไปตอบคำถามข้ออื่นเอง

 “คนทำ”คือใคร   ยืนยัน ได้ว่าผู้ปฏิบัติการเป็นกลุ่มก่อการร้ายจากชายแดนภาคใต้  เพราะมือระเบิด ยอมรับ  ดังนั้น  ตำรวจก็ต้องขยายผลไปสู่ “ผู้วางแผน” และ “มาสเตอร์ไมด์” ว่าคือใคร  เวลานี้อาจรู้แล้วก็ได้  ซึ่งคงเป็นแกนนำขบวนการที่หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง

ทำไมเขาต้องทำช่วงนี้ทำไมไม่ทำก่อนหน้านี้หรือหลังจากนี้   คำตอบก็คือ คนวางแผนตั้งใจเลือกที่จะทำในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน  ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศนับร้อยคนมาชุมนุมทำข่าวที่ประเทศไทย  มีผู้แทนจากประเทศอาเซียนและคู่เจรจามาอยู่ที่ กทม. ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะเผยแพร่ขาวนี้ไปทั่วโลก   มีแนวโน้มว่า องค์กรก่อการร้าย บี.อาร์.เอ็น น่าจะอยู่เบื้องหลัง  การเลือกกระทำในช่วงนี้นอกจากเหตุผลข้างต้น   เขาอาจถือโอกาสเป็นการสร้างผลงานในวันครบรอบก่อตั้งกองกำลัง บี.อาร์.เอ็น. 1 สิงหาคม ด้วยก็ได้

“ใครได้เสียจากผลที่เกิดขึ้น ” แน่นอน  รัฐบาลไทยย่อมได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น  ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์นอกจากขบวนการ บี.อาร์.เอ็น  และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแล้ว  พรรคและกลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลย่อมได้ประโยชน์เพราะความน่าเชื่อถือของรัฐบาลถูกกระทบโดยตรง  แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่กล้าที่จะแสดงออกอย่างเปิดเผยเพราะจะถูกหาว่ากำลังเล่นกับความเสียหายของชาติบ้านเมือง  ที่อาจเกิดกระแสตีกลับส่งผลลบต่อฝ่ายค้านได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าการก่อเหตุร้ายทั้งลอบวางระเบิดและวางเพลิงไม่ได้หวังผลในการก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงและเสียชีวิต  เหมือนกับระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่ต้องการให้เกิดเสียงดังมากกว่า  มีการวิเคราะห์ว่า  เป็น “ระเบิดเชิงสัญลักษณ์” กล่าวคือ  แม้ไม่ได้วางระเบิดที่พื้นที่เป้าหมายโดยตรง  โดยไปวางไว้ใกล้ ๆ เป้าหมาย 

แต่สะท้อนให้เห็นว่า  1) ระเบิดที่ศูนย์ราชการ  เป็นการโจมตีสัญลักษณ์ของการบริหารราชการของไทย    (2) สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม   เป็นการโจมตีสัญลักษณ์ของศูนย์อำนาจทางการทหาร  ซึ่งส่งทหารไปปราบปรามพวกเขา   (3)  เป้าหมายใกล้เคียงตึก สยามพารากอน  อาคารมหานคร ประตูน้ำ เป็นสัญลักษณฺด้านเศรษฐกิจชาติ  (4) บีทีเอส. เป็นเป้าหมายด้านคมนาคมคนกรุง   (5)  ตึกคิงพาวเวอร์ ซึ่งยังตีความไม่ออกว่าหมายถึงอะไร หรือเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางเศรษฐกิจ  (6) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เป็นสัญลักษณ์แห่งการใช้อำนาจจับกุมคุมขัง

ที่น่าสังเกตคือ  ยังไม่มีองค์กรก่อการร้ายใดประกาศรับผิดชอบระเบิดดังกล่าว   เพราะใครประกาศตัวว่าเป็นคนทำก็จะถูกคนไทยและทั่วโลกก่นด่า  เป็นที่น่าสังเกตว่า  หลังการระเบิด  กลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาลและกลุ่มก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ยังเงียบอยู่  ไม่มีการขยายผลในเรื่องนี้อย่างที่ควรจะเป็น  แม้แต่การเร่งรัดให้มีการพบปะพูดคุยเร็วขึ้น

จากการสอบสวนเบื้องต้น    มีการวางแผนปฏิบัติการแบบมืออาชีพ  อาทิ มีการแบ่งงานกันทำ  หรือ “ตัดตอนการทำงาน” เพื่อไม่ให้รู้จักกันทั้งหมดหากถูกจับกุม  จะได้ไม่มีการให้การพาดพิงไปถึงคนอื่น  ตามหลักการของการปฏิบัติงานลับ       มือระเบิดได้ไป “สำรวจสถานที่ เป้าหมายก่อนการลงมือทำงานเพื่อให้รู้ทางหนีทีไล่  จุดเข้าและออกจากพื้นที่เป้าหมายที่ปลอดภัยที่สุด   ผู้ปฏิบัติงานมารับระเบิดจากมือประกอบระเบิด ณ จุดนัดพบใน กทม.  ก่อนเวลาปฏิบัติการไม่นาน เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติการเสี่ยงต่อการถูกจับ

โดยผู้ปฏิบัติการจะครอบครองระเบิดไว้ในเวลาที่สั้นที่สุด  เพราะระเบิดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย  มีการปิดบังหน้าด้วยผ้ากันฝุ่นซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในเมืองหลวง  แต่งตัวใส่เสื้อแขนยาวเรียบร้อยแบบนักศึกษา    การปฏิบัติงานลงมือทำงานอย่างใจเย็น  แสดงว่ามีประสบการณ์  จากนั้นแยกย้ายกันกลับ  เปลี่ยนแท็กซี่สองทอดและเปลี่ยนเสือผ้าเพื่อป้องกันการสะกดรอยติดตาม    มีการตั้งเวลาให้ระเบิดในเวลาใกล้เคียงกันคือรุ่งเช้าของวันรุ่งขึ้น  ส่วนมือระเบิดรีบเดินทางกลับหรือออกห่างพื้นที่ปฏิบัติการให้มากที่สุดก่อนระเบิดวันรุ่งขึ้น 

มีคำถามสำคัญที่ใคร ๆ ก็อยากรู้  คือ   ระเบิดดังกล่าวเป็น “ ระเบิดการเมือง ” ที่มีนักการเมืองวางแผนก่อกวนและยืมมือผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งได้ประโยชน์ร่วมกันในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล    หรือเป็น “ ระเบิดก่อการร้าย” จากฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน 

ส่วนคนที่ถูกจับได้ทั้งหมดล้วนเป็นผู้ก่อความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น  เคยถูกใช้มาแล้วโดยนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับพวกนี้โดยมีผลประโยชน์ร่วมทางการเมือง   หลายปีที่ผ่านมา  เวลานักการเมืองจะสร้างสถานการณ์  ก็มักจะจ้างพวกนี้ให้ขึ้นมาก่อเหตุ  เพราะเวลานี้  คนที่ก่อการร้ายได้ก็เหลือแต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี่แหละ  ก่อเหตุก็หนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน  ตำรวจไทยจับไม่ได้   เมื่อจับไม่ได้  ความลับว่าใครคือมาสเตอร์ไมด์ก็ไม่ถูกเปิดเผย

ตำรวจไทยอาจสืบไม่ถึงว่าใครคือ “มาสเตอร์ไมด์”  แต่ตำรวจสันติบาลน่าจะรู้ดี

ดูเหมือนว่า  ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆที่มาประชุม ไม่ได้วิตกกังวลกับระเบิดที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด  คนไทยก็ยังดำเนินชีวิตตามปกติ  ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด  แต่กลับกลายเป็นว่า  ฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลฉวยโอกาสปล่อยข่าวโจมตีว่ารัฐบาลทำเองเพื่อสร้างสถานการณ์บ้าง   เป็นการขัดแย้งภายในบ้าง   มีคนที่ไม่พอใจที่ถูกลดอำนาจจึงสร้างสถานการณ์ขึ้นบ้าง ฯลฯ แต่ไม่ได้ผลเพราะสังคมไม่เชื่อว่ารัฐบาลทำเอง  นอกจากนั้น  ยังถูกสังคมโจมตีว่า พวก ไทย อนาลิติก้า” เอาเรื่องบ้านเมืองมาเป็นเรื่องการเมืองได้ทุกเรื่องทุกเวลา

นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคง   เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่อย่าให้น้ำหนักด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ  การรักษาความปลอดภัยสถานที่ประชุม  ที่พัก  เส้นทางไป-กลับการประชุม  การชุมนุมในประเทศ  ฯลฯ  อย่างเดียว   แต่ต้องระวังและป้องกันการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นต้องถือว่าเป็นบทเรียนสำหรับชาว กทม.และปริมณทล  ที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลสิ่งผิดปกติรอบตัว  เหตุการณ์ครั้งนี้พบว่า  ผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้แต่งตัวคล้าย ๆ กัน กล่าวคือ เป็นคนรุ่นหนุ่ม  แต่งตัวดีคล้ายนักศึกษา  สะพายเป้  ปิดหน้า  อาจมีท่าทางพิรุธ  หรือไปเลียบ ๆ เคียง ๆ ดูสถานที่ราชการ ฯลฯ อย่างผิดสังเกต  คนที่เข้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้าตามห้องน้ำห้างสรรพสินค้า  สงสัยใครให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ  แต่อย่าแกล้งกัน   คนขับรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ซึ่งครั้งนี้ช่วยเหลือสังคมได้มากให้ช่วยกันสังเกตผู้โดยสารที่ทำตัวผิดปกติ  ร้านค้าต่าง ๆ ก็ต้องดูแลตัวเองมากขึ้น   เจ้าของห้องเช่า แฟลต  คอนโดฯลฯ ควรให้ความสนใจกับผู้เข้าพักที่ผิดปกติด้วย

พระเอกของเรื่องนี้ก็คือ  โทรทัศน์วงจรปิด ที่คนร้ายคิดไม่ถึงว่า สุดท้ายตัวเองจะแพ้เจ้ากล้องวงจรปิดนี่เอง