posttoday

จินดามณี (6)

13 สิงหาคม 2562

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำไปพูดกระตุ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คงจะต้องตั้งหลักกันให้ดี ไม่เช่นนั้น แทนที่จะเห็นคุณค่า และคุณประโยชน์ของจินดามณี ก็อาจทำให้คนสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ถูกยัดเยียดให้กล้ำกลืนกับ “อะไรก็ไม่รู้”

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

อ.ฉันทิชย์ สันนิษฐานว่า จินดามณี ที่พระโหราธิบดีแต่งนั้น มีทั้งสิ้น 5 เล่ม มิใช่แค่เล่มเดียวตามที่ปรากฏหลงเหลืออยู่มาทุกวันนี้ ทั้งนี้ อ.ฉันทิชย์ แสดงเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรก คือ “กลบทสิริวิบูลกิจของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง)” ซึ่งมีข้อความว่า “... จินดามณี มีเสร็จสุด สมุดเล่มหนึ่ง ถึงเล่มสอง ต้องเล่มสาม ตามเล่มสี่ มีเล่มห้า"

หลักฐานข้อสองคือ หนังสือเรียนภาษาไทยที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) รจนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มี 5 เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหะนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน และพิศาลการันต์ หนังสือมูลบทบรรพกิจที่ท่านอาจารย์น้อยรจนาขึ้นนั้น “เมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้วจะเห็นว่า หลักในการรจนาไม่ผิดไปจาก ‘จินดามณี’ เลย น่าเชื่อว่าท่านคงจะได้รับมรดก ‘จินดามณี’ 5 เล่ม จากหลวงบรรเทา ทุกขราษฎร์ พี่ชายของท่านมาเป็นหลักฐานในการแต่ง ‘มูลบทบรรพกิจ’ กับตำราเรียนต่อมาอีก 5 เล่มนั้นด้วย”

อ.ฉันทิชย์ ได้สรุปประวัติท่านอาจารย์น้อยว่า “ชาติภูมิดั้งเดิมของท่านอยู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านเริ่มเรียนหนังสือไทยกับหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ พี่ชาย มาตั้งแต่อายุได้ 6-7 ขวบ เมื่ออายุได้ 13 ปี ท่านจึงได้เข้ามาอยู่กับสามเณร (ทัด) ที่วัดสระเกศ ได้ศึกษาหนังสือไทยและขอม ตลอดจนได้ร่ำเรียนวิชาการต่างๆ กับอาจารย์ผู้มีชื่อในยุครัชกาลที่ 3 อีกหลายสำนัก

เช่น เรียนสารสงเคราะห์ ณ สำนักสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เรียนมงคลทีปนีกับพระอาจารย์สุข เรียนมูลกัจจายน์กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) เรียนวุตโตทัย ในสำนักหม่อมเจ้าอ้น บ้านถนนโรงครก เป็นต้น รวมการศึกษาของท่านก่อนอุปสมบทจนถึงอุปสมบทได้ 11 ปีพอดี และขณะที่อยู่ในสมณเพศ ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ได้เปรียญ 9 ประโยค”

ข้อสันนิษฐานว่า จินดามณี ที่พระโหราธิบดีแต่งมี 5 เล่มนี้ ผู้รู้น่าจะได้ศึกษาหาข้อยุติต่อไป ถ้ามี 5 เล่มจริง จินดามณี ก็เป็นขุมทรัพย์ที่หายสาบสูญไปถึง 4 ใน 5 ส่วน

สำหรับ ฉบับที่หลงเหลือมานี้ เมื่อกรมหลวงวงศาธิราชสนิทนิพนธ์ฉบับของท่านออกมา ท่านถือเอาฉบับพระโหราธิบดีเป็นเล่ม 1 และของท่านเป็นเล่ม 2 เพิ่มเติมเนื้อหาคำสอนตอนภาคหลัง ซึ่ง อ.ฉันทิชย์ สรุปเรื่องจินดามณีฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทว่า “ทรงเอา ‘จินดามณี’ ตำราเรียนภาษาไทยดั้งเดิมของพระโหราธิบดีนั่นเอง

มาเป็นชื่อและเป็นหลักทรงแต่งเป็นฉันท์วสันตดิลก ไหว้ครูแล้วจำแนกอักษรเป็นสามหมู่ คือ สูง กลาง ต่ำ แล้วแจกลูกตั้งแต่ แม่ ก.กา จนถึงเกย จบแล้วอธิบายลักษณะโคลงต่างๆ แล้วพรรณนาเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน ‘จินดามณี’ เล่มที่ทรงใหม่นี้ ได้แต่งเป็นกระทู้โคลงสลับกาพย์สอนพระขัตติยวงศ์ตาม พระราชโองการไว้อีกด้วย”

จินดามณี ที่ตกมาถึงพวกเรานี้ อ.ฉันทิชย์สรุปว่า “เป็นเดนจากไฟไหม้แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้เหลือมาถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์เพียงเล่มเดียว (หนึ่งสมุดไทย) นั้น เป็นการเหลืออย่างเคราะห์ดีที่สุด และบังเอิญเป็นเล่มต้นเสียด้วย”

ใครที่ได้กลับไปอ่านจินดามณี จะพบว่าอ่านยากมาก เนื้อหากระท่อนกระแท่นไม่เป็นระบบ อ.ฉันทิชย์ สรุปไว้ชัดเจนมากว่า มีสภาพ “ขาดตกบกพร่อง การลำดับความสำคัญของอักษร พยัญชนะและการแจกลูกอักษร ไม่อยู่ตามลำดับความยากง่าย”

อ.ฉันทิชย์ ชี้ว่า หนังสือ ‘จินดามณี’ ที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นลายมือเขียนในรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น ไม่มีเก่าไปกว่านั้น ตามรูปลักษณ์ที่ปรากฏในเล่มสมุดไทยจะพิสูจน์ได้ว่า ‘จินดามณี’ นั้น ได้มารวบรวมกันขึ้นใหม่ เท่าที่จะหาต้นฉบับได้ เมื่อได้อะไรมาก่อนก็จารจดลงไว้ ‘จินดามณี’ ลายมือเขียนในรัชกาลที่ 3 จึงกระท่อนกระแท่นปะปนสับสนกันมากจนทำให้ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นตำราสอนกุลบุตรธิดาชั้นต้นได้เลย”

การที่ พล.อ.ประยุทธ แนะนำให้รัฐมนตรีไปท่อง อาจจะทำได้ เพราะรัฐมนตรีแต่ละท่านน่าจะมีผู้รู้ให้คำแนะนำชี้ช่องทางได้ โดยเฉพาะบางท่านเป็นพหูสูตอยู่แล้ว อย่าง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับประชาชนทั่วไปอ่านจินดามณีแล้วแทนที่จะเกิดศรัทธา และภาคภูมิใจใน “สมบัติล้ำค่า” ก็อาจมึนงง สับสน และเกิดความรู้สึกตรงข้ามก็เป็นได้

แท้จริงแล้ว จินดามณี เป็นอย่างที่ อ.ฉันทิชย์ สรุปว่า จินดามณีฉบับดั้งเดิมจะต้อง “ดีวิเศษ” เป็นแน่ เพราะมิใช่ “วิสัยคนขนาด ‘ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ’ จะเขียนหนังสืออย่างจินดามณีเท่าที่มีอยู่ในบัดนี้ จินดามณีที่แท้จริงคงสูญหายไปเสียเกือบหมดแล้ว แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก” และเพราะวิธีการ “สืบมารวมกันขึ้นใหม่ ได้ตำราอย่างไรมาก็ใส่เข้าไว้เท่าที่จะพึงหาได้”

ทำให้จินดามณีที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติแต่ละฉบับ จึงไม่เหมือนกันเลยสักฉบับเดียว และอยู่ในลักษณะ “ยำใหญ่” “คือปนเปกันยุ่งเหยิงไปทั้งสมุด จนหมดความสำคัญที่จะเป็นตำราสอนภาษาไทยชั้นต้น นักเลงอ่านหนังสือทุกคนพอเห็นจะยืนยันได้ทันทีว่าเป็นการรวบรวมอย่างเหวี่ยงแห หาสิ่งใดมาได้ก็จดจารกันลงไว้”

นอกจากการรวบรวมอย่างเหวี่ยงแห ทำให้หนังสือสับสน จับต้นชนปลายไม่ใคร่ถูกแล้ว อ.ฉันทิชย์ เชื่อว่ามีการแต่งเติมเพิ่มเข้าไปอีกด้วย โดยชี้ว่า “หลายบทใน ‘จินดามณี’ แสดงให้รู้ว่า เป็นถ้อยคำที่แต่งในรัชกาลที่ 3 เช่นคำว่า ‘ยิ่งค้า เมืองจีน’ เป็นต้น ในรัชกาลที่ 3 นิยมค้าเมืองจีนเพียงไร นักศึกษาวิชาวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว ข้อสำคัญที่สุดที่จะเว้นเสียมิได้ก็คือ มีสำนวนใหม่ๆ ของนักนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 ปะปนอยู่ด้วยเป็นอันมาก แม้สำนวนของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสก็มีอยู่หลายบท...”

การรวบรวมอย่างไม่มีระบบระเบียบ ทำให้มีโคลงของลิลิตพระลอบทหนึ่ง เข้ามาอยู่ในจินดามณี “บางฉบับ”บทที่รู้จักกันดี คือ“เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย” และทำให้มีข้อสรุปเกือบเป็นที่ยุติว่าจินดามณี แต่งขึ้นหลังลิลิตพระลอ เรื่องนี้ อ.ฉันทิชย์ ชี้ว่า ในจินดามณีฉบับเก่าที่สุด ลายมือเขียนก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่มีโคลงบทนี้อยู่เลย ฉบับที่มีโคลง “เสียงฤา...” นี้ มีเฉพาะในสมุดไทยลายมือเขียนตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ลงมา (น.120) อ.ฉันทิชย์ จึงสันนิษฐานว่า ลิลิตพระลอแต่งภายหลังจินดามณี “อย่างไม่น่าจะสงสัย”

มูลเหตุการแต่งจินดามณี ฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิท อ.ฉันทิชย์ เล่าว่า เพราะพระองค์เจ้าจินดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 3 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพลับ เมื่อ พ.ศ. 2370 เมื่อพระชนม์ได้ 22 พรรษาแล้ว ยังอ่านหนังสือไม่ออก จึงโปรดฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ครั้งยังเป็นกรมหมื่นวงศาสนิทแต่ง “จินดามณี เล่มสอง” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2392

การเขียนอักขรวิธีที่ผิดแผกกันไปมากในแต่ละต้นฉบับนั้น เพราะแต่ก่อนผู้คัดลอกมิใช่ผู้ที่ “แตกฉาน” ในภาษาไทย และสมัยก่อนก็ยังไม่มีการ “จัดระเบียบการเขียน” จนกระทั่งมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ระเบียบการใช้ตัวสะกด” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ พ.ศ. 2493 ทำให้มีคำที่ “เลอะเทอะ” อยู่ไม่น้อย อ.ฉันทิชย์ ระบุว่าสาเหตุ “เห็นจะไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากอ่านคนหนึ่ง จารคนหนึ่ง และนักจารก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอักขรวิธีด้วย เมื่อหูได้ยินอย่างไรก็จารลงไปอย่างนั้น ถ้อยคำจึงเลอะเทอะเช่นนี้” (น.131)

การที่จินดามณีที่คัดลอกต่อๆ กันมา เริ่มต้นจากการรวบรวมที่ไม่เป็นระบบระเบียบ “เป็นทำนองจะรวบรวมเอาต้นฉบับหลายฉบับมาจาร รวมกันเข้าไว้ และให้เป็นหลักฐานกันสูญหายเท่านั้น” โดย “เดิมคงจะได้ต้นฉบับกันมาอย่างขาดตกหลุดลุ่ย” ผลคือ “พอไหว้ครูแล้วก็กลายเป็นเอาอักษรศัพท์มาขึ้นต้นแทน ก.ข.เสียแล้ว”

“การแต่งตำราเรียนนี้เพื่อประสงค์ให้กุลบุตร กุลธิดา ได้เรียนรู้หนังสือ ถ้าแม้นผู้รจนาประสงค์แต่จะใช้ศัพท์แสงยากๆ ที่ไม่เหมาะกับสติปัญญาของเด็กแล้ว ก็น่าสงสัยว่าจะผิดกับพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะแทนที่เด็กๆ ผู้เริ่มศึกษาจะเข้าใจ ก็กลายเป็นเริ่มต้นด้วยการทรมานให้เด็กๆ ท่องศัพท์ หรือ นามศัพท์ เสียแล้ว...”

การที่ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส จุดประกายให้ผู้คนสนใจจินดามณีกันอย่างกว้างขวาง และพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำไปพูดกระตุ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คงจะต้องตั้งหลักกันให้ดี ไม่เช่นนั้น แทนที่จะเห็นคุณค่า และคุณประโยชน์ของจินดามณี ก็อาจทำให้คนสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ถูกยัดเยียดให้กล้ำกลืนกับ “อะไรก็ไม่รู้”