posttoday

ภาพลักษณ์ของ ครม.ชุดใหม่

20 มิถุนายน 2562

มีการกล่าวถึงโฉมหน้าครม. มีอดีตรัฐมนตรี ส.ส.ที่มีปูมประวัติทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นผู้มีอิทธิพล ร่วมด้วย จึงอยู่ที่นายกฯจะจัดการปัญหานี้อย่างไร 

มีการกล่าวถึงโฉมหน้าครม. มีอดีตรัฐมนตรี ส.ส.ที่มีปูมประวัติทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นผู้มีอิทธิพล ร่วมด้วย จึงอยู่ที่นายกฯจะจัดการปัญหานี้อย่างไร

...........................

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์  อดีตผู้อำนวยสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

เวลานี้ ประชาชนกำลังเฝ้ารอดูหน้าตาของคณะรัฐมนตรีฃุดใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ และกำลังภาวนาว่าอย่าให้ “ขี้เหร่” เหมือนกับคณะรัฐมนตรีใน รัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ ที่หลายคนมีประวัติเสียหายมาก มีภาพลักษณ์ของการทุจริตคอรัปชั่นที่สังคมรู้ดี หรือเป็นผู้มีอิทธิพล ฯลฯ สำหรับครั้งนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลต้องมีส่วนรับผิดชอบชั้นแรกในการคัดเลือกคนในพรรคที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ส่งคนไม่ดีเข้ามาเพราะเกรงใจกลุ่มก๊วนในพรรค แล้วปล่อยให้เป็นภาระนายกรัฐมนตรี พอคนที่เสนอไม่ได้เป็นรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคก็โดยความผิดให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อเอาตัวรอด

ประชาชนมีความหวังว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้จะมีคนดี มีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ท่านต้องไม่ตั้งคนที่มีประวัติเสียหายเป็นรัฐมนตรี ประชาชนที่มีคุณภาพและสื่อมวลชนจะต้องช่วยกันตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของรัฐมนตรีอย่างเข้มงวด

หากนายกรัฐมนตรีเลือกคนที่ไม่มีประวัติเสียหายหรือเสียหายน้อยที่สุดเข้ามา หรือให้นักการเมืองที่มีประวัติเสียหายส่งบุตรหรือญาติเข้ามาแทน ก็เท่ากับเอา “น้ำดีค่อย ๆ ไล่น้ำเสีย” แล้วรัฐบาลจะได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนส่วนใหญ่ในทางบวก หรืออย่างน้อยก็ไม่มีเสียงร้อง “ยี้” ตามมา การบริหารประเทศโดยมีประชาชนหนุนหลังก็จะไม่ยุ่งยากจนเกินไป นายกรัฐมนตรีจะได้ทุ่มเวลาในการบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มที่

ในประเทศประชาธิปไตยเช่น ญี่ปุ่น หากว่าที่รัฐมนตรีคนนั้นไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชน นายกรัฐมนตรีก็ไม่แต่งตั้งเพราะขัดกับ “ศรัทธา” ของประชาชน เขาไม่ได้พิจารณาประเด็นกฎหมายอย่างเดียว นักการเมืองที่ติดคดีมักอ้างว่าศาลยังไม่ได้ตัดสินจนถึงที่สุด (ยกเว้นคดีลหุโทษหรือหมิ่นประมาท) แต่เขาพิจารณาพฤติกรรมทางจริยธรรม ศีลธรรม ความดีความเลวด้วย พฤติกรรมทางจริยธรรมสะท้อนความมีคุณธรรมธรรม นอกจากรัฐมนตรีต้องไม่เคยทำสิ่งที่ผิดกฎหมายแล้ว จะต้องไม่ผิดศีลธรรมและผิดคุณธรรมด้วย

คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการตั้งคณะรัฐมนตรีเหมือนกับสมัย คสช. เพราะครั้งนี้ เป็นรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองต้องคัดกรองมาในชั้นหนึ่งก่อน หากมีอะไรเกิดขึ้นในภายหลัง หัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลนั้น ๆ ต้องรับผิดชอบด้วย สำหรับครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์คงทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ทำได้บ้างก็ยังดี อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีตั้งใจจริงที่จะทำ เพราะความจริงก็คือ การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทำกันได้ภายในชั่วข้ามคืน ไม่ใช่เปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ แต่ใช้ “ทฤษฎีต้มกบ” คือ ค่อย ๆ กำจัดคนไม่ดีออกไป ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถช่วยนายกรัฐมนตรีได้ในการเปิดโปงพฤติกรรมของคนไม่ดี และร่วมกันเป็นพลังหนุนนายกรัฐมนตรีไม่ให้เลือกคนไม่ดีสู่อำนาจ

เวลานี้ มีชื่อของอดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.ที่มีประวัติเสียหายโดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นอย่างร้ายแรง แต่รอดจากเงื้อมมือของ ป.ป.ช.ไปได้ในครั้งก่อน เสนอหน้าที่จะมาเป็นรัฐมนตรีอีก รัฐบาลชุดนี้ต้องเน้นการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น จึงตกเป็นภาระของนายกรัฐมนตรีที่ต้องกล้าไม่เอาคนพวกนี้มาร่วมรัฐบาล โดยให้พรรคเสนอคนขึ้นมาใหม่ แม้จะทำอะไรได้ไม่มากกว่านี้ก็ยังดีที่จะปล่อยให้ “คนโกง” เข้าสู่อำนาจ

นอกจากไม่เอาคนที่มีประวัติทุจริตคอรัปชั่น ผู้มีอิทธิพลมาร่วมรัฐบาลแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องไม่นำคนที่ขาดจิตสำนึกในชาติ ขาดความสามัคคี ขาดความเป็นไทย มาร่วมรัฐบาลเป็นอันขาด

ประชาชนยังมีอำนาจในการตรวจสอบและถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ เพื่อสร้างหลักประกันว่า ประชาชนจะได้ผู้แทนที่ดีไปใฃ้อำนาจแทนประชาชนเพื่อประโยชน์ของประชาชน เวลานี้ ประชาชนและสื่อมวลชนมีเครื่องมือในการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เราต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้คุ้มค่าโดยช่วยกันตรวจสอบประวัติที่มาที่ไปของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี

เราไม่อาจเปลี่ยนประเทศได้ชั่วข้ามคืน แต่เราค่อย ๆ เปลี่ยนไปโดยเริ่มจากอย่าเอาคนไม่ดีเข้ามาร่วมรัฐบาลก่อน หากยังเกรงใจกันก็ขอให้เขาส่งภรรยา สามี หรือบุตร เข้ามาแทนก็ยังดี แม้รู้ว่า ภรรยา บุตร จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสามีหรือบิดาก็ตาม อย่างน้อยภาพลักษณ์ก็ดีขึ้นนิดหนึ่ง เมื่อประชาชนคอยตรวจสอบอย่างเข้มงวด ก็น่าจะทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดนี้ไม่เหมือนกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดที่ผ่าน ๆ มา ประชาชนต้องช่วยนายกรัฐมนตรีเติมน้ำดีเพื่อไล่น้ำเสีย

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลต้องน้อมนำเอาพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2512 มาใช้ในการตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งนี้

“ .... ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความเป็นปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้....”

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลต้องไม่พลาดโอกาสที่จะทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดนี้เป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยคนดี มีความรู้ความสามารถ ในการสานต่องานเพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคง สงบเรียบร้อย เศรษฐกิจก้าวหน้า และประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคีกัน