posttoday

3ปีที่ไม่ปรองดอง

21 พฤษภาคม 2560

พรุ่งนี้ 22 พ.ค. 2560 ก็จะครบ 3 ปีของการรัฐประหารโดยคณะ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

“รักพี่เสียดายน้องปรองดองยาก

รักมากรักน้อยคอยถกเถียง

รักข้างโน้นรักข้างนี้มีลำเอียง

รักพอเพียงคือให้อภัยกันฯ”

พรุ่งนี้ 22 พ.ค. 2560 ก็จะครบ 3 ปีของการรัฐประหารโดยคณะ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยได้เชิญคู่ขัดแย้งทางการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ นปช. และ กปปส. มาหาทางสงบศึกกันที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต แต่เมื่อไม่มีทีท่าว่า “จบเรื่อง” กันได้ ทหารจึงตัดสินใจจับตัวนักการเมืองจำนวนหนึ่งไปแยกขังไว้ตามที่ต่างๆ “เพื่อปรับพฤติกรรม” ให้เกิดสำนึกบางอย่าง ที่ถ้าหากเป็นคนปกติที่มีผิวหนังไม่หนามาก ก็คงจะได้สำนึกบ้างแล้วว่า “ถ้าพวกคุณไม่รักกัน พวกคุณก็ต้องอยู่ในความทุกข์ทรมาน” ดังเช่นที่ต้องไปถูกคุมขัง “ต่างคน ต่างอยู่” อย่างนั้น

ทั้งยังพาคนไทยทุกข์ทรมานมา 3 ปีนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัญหาของการสร้างความปรองดองที่ไม่ประสบความสำเร็จ เราก็คงไปโทษ “ความไร้สำนึก” ของนักการเมืองเหล่านั้นไม่ได้ เราคงจะต้องโทษ “ความไม่เข้าใจสันดานคนไทย” ของ คสช.และคนที่ทำงานให้ คสช.ทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ที่พยายามแก้ปัญหานี้แบบ “จับปูใส่กระด้ง” รวมทั้งพยายามที่จะเป็น “แม่ปูสอนลูกปู” (อะไรที่เกี่ยวกับ “ปู” นี่ช่างสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยเหลือเกิน) แบบว่า คสช.พยายามที่จะสอนคนอื่นให้ปรองดอง แต่เนื้อในของ คสช.เองก็ไม่ได้ปรองดองอะไรกันนัก

โชคร้ายของผู้เขียนที่บังเอิญไปได้ยินมาว่า คสช.มีการแบ่งความคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการสร้างความปรองดองออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งเห็นว่าจะต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยความ “เด็ดขาดฉับพลัน” เรียกว่าพวก “สายเหยี่ยว” อีกพวกหนึ่งกลับเห็นว่าต้องแก้ด้วยความ “ยืดหยุ่นหนุนเนื่อง” เรียกว่าพวก “สายพิราบ” ซึ่งในระยะแรกสายเหยี่ยวเป็นผู้ชนะ แต่ก็ชนะในแบบผิวเผินคือเฉพาะเปลือกนอก เช่น การจัดการทางด้านคดีความต่างๆ ให้แกนนำของคนเข้าคุก หรือการป้องปรามด้านสังคมที่ไม่ให้นักการเมืองเหล่านี้ออกมาก่อกวนวุ่นวาย แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาไปถึงเนื้อในคือการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน ให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง จึงมาเข้าทางของสายพิราบที่ต้องการจะสร้างความปรองดองอย่างละมุนละม่อม

ว่ากันว่า ขณะนี้ คสช.กำลังจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ว่านี้ ด้วยการ “ประนีประนอมผ่อนปรน” ซึ่ง คสช.ก็จะได้ประโยชน์ถึง 2 อย่าง

หนึ่งก็คือ น่าจะทำให้ คสช.ได้อยู่ทำงานไปอีกระยะหนึ่ง ที่อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างน้อยก็จนกว่าความปรองดองจะเริ่มก่อตัวขึ้นได้ และต้องมีความเป็นไปได้ด้วยว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองนั้นอีก อย่างเช่นที่มีการพูดกันใน คสช.ว่า หากไม่ปรองดองก็จะไม่มีการเลือกตั้ง หรือถ้าเลือกตั้งไปแล้วถ้าไม่สงบเรียบร้อยก็ไม่ควรจะรีบให้มีการเลือกตั้ง อย่างนี้เป็นต้น

สองก็คือ น่าจะมีเวลาให้ คสช.ได้ “วางกำลังคน” เข้าไปจัดการในส่วนต่างๆ ของโครงสร้างและกลไกทางการเมืองใหม่ๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นต้นว่า ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและในรัฐสภา รวมถึงในระบบราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อเอาไว้เป็น “แขนขา” ในการที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ของชาติในระยะยาว ซึ่งเรื่องการสร้างความปรองดองก็จะเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย

ผู้เขียนไม่มีความกังวลว่า คสช.จะอยู่ไปนานอีกสักเท่าไหร่ (ถ้าอยู่ได้) แต่มีความกังวลอยู่เพียงเรื่องเดียวว่า ถ้า คสช.ยังแก้ปัญหาความปรองดองแบบ “แยกดำออกจากขาว” หรือ “ตัดนิ้วร้ายทิ้ง” อย่างที่ได้ดำเนินการมาตลอด 3 ปีนี้ คสช.จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ควรที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้ง “แนวคิด ยุทธศาสตร์ กระบวนการ และวิธีการ” โดยจะต้องเริ่มในส่วนของแนวคิดนั้นเสียก่อน

แนวคิดที่ว่านี้ก็คือ “ความเป็นเครือญาติ” ที่ทำให้สังคมไทยมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นมาแต่โบร่ำโบราณ คนไทยจะนับถือกันเป็นพี่น้อง ลุงป้า น้าอา มาแต่ไหนแต่ไร แม้แต่ละคนนั้นจะต่างพ่อต่างแม่ ต่างที่ ต่างถิ่น ก็มักจะนับญาติกันเป็นปกติ ไม่ใช่แต่กับชั้นชาวบ้านด้วยกัน แต่ระหว่างชาวบ้านคือประชาชนทั้งหลายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีความรู้สึกแนบแน่นจนถึงขั้นนับญาติกันได้ โดยที่ยังมีความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุดนั้นอยู่ ดังที่คนไทยเรียกตนเองว่า “ลูก” และเรียกพระเจ้าอยู่หัวว่า “พ่อ”

 ผู้เขียนเคยอ่านงานเขียนของ ยาสุกุจิ ยาตาเบ (“บันทึกของทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475” แปลโดย เออิจ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2557) นักการทูตญี่ปุ่นที่เข้าเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลไทยในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.  2475 ได้กล่าวสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทรงใช้ความเมตตาแก้ปัญหาความขัดแย้งในช่วงเวลานั้น คือทรงเมตตาต่อประชาชนไม่ให้ต้องรบราฆ่าฟันกัน ด้วยการยอมลดพระเกียรติยศยอมรับการยึดอำนาจของคณะราษฎร จากนั้นท่านก็ทรงใช้ความเมตตานั้นหลอมรวมคณะราษฎรเข้าด้วยกันกับกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ จนที่สุดคณะราษฎรก็ลดความแข็งกร้าวลงไปถึงขั้นทำหนังสือขอพระราชอภัยโทษ (ยาตาเบใช้คำว่าทำพิธีขออภัยโทษ) ก่อนวันที่จะขอเข้ารับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ 10 ธ.ค. 2475 จำนวน 61 คน ซึ่งก็ทรงพระเมตตาพระราชทานอภัยโทษให้ทุกคน

ปัญหาของ คสช.ก็คือ จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเห็นว่า คสช.นี้กำลังปกครองด้วยความเมตตา ที่ปรารถนาให้ทุกคนในสังคมไทยนี้ยังคงความเป็นญาติพี่น้องระหว่างกันได้อย่างมั่นคงต่อไป และทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่ทำผิดนั้นสำนึกผิดและขออภัยต่อคนไทย เพื่อคนไทยจะได้ให้อภัยแก่คนเหล่านั้นต่อไป

หรือจะต้องทำประชามติถามคนไทยก่อน ?