posttoday

ขงเบ้งไม่เคยใช้กลยุทธ์ซ้ำ

23 เมษายน 2560

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็น “ซาก๊กนั๊ง” “ซาก๊กนั๊ง” เป็นคำที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซือแป๋แห่งซอยสวนพลูประดิษฐ์คิดค้นขึ้น

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็น “ซาก๊กนั๊ง”

“ซาก๊กนั๊ง” เป็นคำที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซือแป๋แห่งซอยสวนพลูประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เพื่ออธิบายความเป็นตัวตนของท่านในเรื่องความสามารถในการหยั่งรู้ฟ้าดินและการวางกลยุทธ์ทางการเมืองการปกครอง เช่นเดียวกันกับ “ขงเบ้ง” ตัวเอกในเรื่องสามก๊ก อันเป็นที่มาของคำว่า “ซาก๊กนั๊ง” จากภาษาแต้จิ๋วง่ายๆ คือ ซา แปลว่า สาม ก๊ก แปลว่า กลุ่มหรือพวก และนั๊ง แปลว่า คน

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า ท่านถูกพี่สาวคือ ม.ร.ว.บุญรับ บังคับให้อ่านหนังสือเรื่องสามก๊กตั้งแต่เด็กๆ ราว 4-5 ขวบ ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ นัยว่าให้ฝึกออกเสียงวรรณยุกต์ต่างๆ เพราะชื่อจีนมีเสียงวรรณยุกต์ที่หลากหลาย โดยใช้ธูปจี้ให้อ่านไปทีละบรรทัด บางทีอ่านช้า อ่านผิด หรือสะกดผิด ก็จะถูกไม้ก้านธูปเล็กๆ นั้นตีเบาๆ แต่ตามประสาเด็กก็มักชอบจะขี้แย ก็ร้องไห้ไปด้วย อ่านไปด้วย น้ำตาจึงเลอะลามก้านธูป หยดเป็นทางให้หนังสือมีสีแดงอยู่ทั่วไป แนวก้านธูปที่กวาดไปทีละบรรทัดนั้นก็ทำให้ดูเหมือนข้อความที่อ่านถูกไฮไลต์ อย่างปากกาเรืองแสงในสมัยนี้ยังไงยังงั้น (นี่ก็เป็น “พรรณนาโวหาร” ตามสไตล์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ฟังหรืออ่านแล้วทำให้เห็นภาพด้วยการเปรียบเปรยกับสิ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคย)

หนังสือสามก๊กที่ “แต่ง” โดยเจ้าพระยาพระคลังหน ช่วยให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เก่งภาษาไทย ที่ใช้คำว่าแต่งไม่ใช้คำว่าแปล ก็เพราะว่าในการเรียบเรียงเรื่องสามก๊กนี้ (ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์สนพระทัยในเรื่องจีนมาก มีเสนาบดีและคหบดีรับสนองพระราชนิยมนั้นด้วยการหาเรื่องจีนต่างๆ มาแปลถวายให้ทรงอ่าน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีโรงพิมพ์เกิดขึ้น ก็มีการพิมพ์เรื่องจีนเหล่านี้เผยแพร่จนเป็นที่นิยมกันมาก) เจ้าพระยาพระคลังหน ได้จ้างซินแสที่มีความรู้เรื่องสามก๊กดีและแปลเป็นภาษาไทยได้ มาอ่านเรื่องสามก๊กจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยให้ท่านฟัง แล้วท่าน (คือเจ้าพระยาพระคลังหน เจ้าพระยาพระคลังนี้คือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีด้านการค้าและการต่างประเทศ มีหลายคน จึงมีชื่อเดิมตามมาให้เข้าใจว่าเป็นผู้ใด อย่างพระยาพระคลังท่านนี้เดิมชื่อว่าหน จึงใช้ชื่อว่าเจ้าพระยาพระคลังหน) ก็เขียนเป็นสำนวนไทย อย่างฉากที่ทหารของเล่าปี่ฝ่าฟันความหนาวเหน็บออกรบ ซินแสแกอ่านตัวหนังสือจีนแล้วพูดเป็นคำไทยว่า “มองฟ้าเลี้ยวหนาวฉิกหาย ดิงก็แห้ง ม้าก็ม่ายมีหญ้าจะกิง” (ตามสำนวนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จินตนาการ จริงหรือเท็จก็ไม่ทราบได้ ฮา)

เจ้าพระยาพระคลังหนท่านก็ “แต่ง” เป็นว่า “ยามหนาวอันแสนสาหัสนี้ จะมองดินก็กว้าง มองฟ้าก็สูง ความแห้งแล้งปรากฏอยู่ทั่วไป เห็นหญ้าจะมิพอปากม้า” อ่านแล้วหนาวเข้ากระดูกและแสนเศร้าจริงๆ

ในเรื่องสามก๊กนี้ “ขงเบ้ง” ที่เป็นกุนซือหรือเสนาธิการใหญ่ของฝ่ายกองทัพเล่าปี่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าดินและมีความสามารถในการวางแผนการสู้รบ รวมถึงศิลปะในทางการทูตและการเมืองการปกครองที่โดดเด่นยิ่ง จากการวิเคราะห์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่ากลยุทธ์ต่างๆ ที่ขงเบ้งใช้ในการศึกสงครามและการดำเนินการทางการเมืองการปกครองจนประสบความสำเร็จนั้น “ไม่มีซ้ำกันสักกลยุทธ์เดียว” อันเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ขงเบ้งมีความยิ่งใหญ่ เพราะคู่ต่อสู้ไม่อาจจะคาดเดาหรือล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อันเนื่องมาจากขงเบ้งไม่ได้ “สร้างบทเรียน” หรือสอนตำราพิชัยยุทธ์ใดๆ ให้ใครลอกเลียน

ผู้เขียนเล่าเรื่องความเชี่ยวชาญเรื่องสามก๊กของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มานี้ก็เพื่อรำลึกถึงท่าน เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน ถ้าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่มาถึงวันนี้ก็จะมีอายุได้ 106 ปี ในยุคสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นก็ถือได้ว่าท่านได้ใช้ความคิดความสามารถประคับประคองประชาธิปไตยของไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มีความมั่นคงมาได้พอควร จนได้สมญานามจากสื่อมวลชนและสาธารณชนว่า

“เสาหลักประชาธิปไตย” ซึ่งผู้เขียนในฐานะศิษยานุศิษย์ หรือ “เด็กสวนพลู” คนหนึ่งก็ได้นำนิวาศสถาน คือ “ซอยสวนพลู” ที่เป็นที่พำนักของท่านนั้นมาตั้งเป็นชื่อคอลัมน์นี้

อีกอย่างหนึ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ปรอทและเข็มทิศ” ของสังคมไทย ที่สามารถบอกกระแสสังคมว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จะ (เดือด) ร้อนจะ (สงบร่ม) เย็นอย่างไรต่อไป มีบางคนเปรียบเทียบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่าเป็น “ขงเบ้งแห่งซอยสวนพลู” ท่านมีส่วนสำคัญในการแก้ไขหลายๆ วิกฤตของประเทศ และหลายๆ คนยังคิดถึงท่านอยู่ รวมทั้งที่ยังอยากทราบความเห็นของท่านว่า “ท่านจะแก้ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้อย่างไร”

ท่านเคยเตือนทหารใหญ่ในยุคปฏิวัติว่า การปฏิวัตินั้นแก้ไขปัญหาอะไรของไทยไม่ได้ ถ้าทหารยังคิด “ซ้ำๆ” อยู่แบบเดิมๆ นั่นก็คือ “การยึดอำนาจเพื่อรักษาอำนาจ” รวมถึงที่ยังใช้กลยุทธ์แบบเดิมๆ ด้วยการวางแผนที่จะ “สืบทอดอำนาจ” ผ่านกลไกของรัฐ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญไปจนถึงระบบราชการทั้งระบบ อันทำให้ทหารสร้างประชาธิปไตยไม่สำเร็จ

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังบอกอีกว่า ประชาธิปไตยต้องสร้างจากประชาชน ประชาชนอาจจะทะเลาะกัน แต่เขาก็เป็นคนไทยด้วยกัน คงไม่ถึงกับที่จะฆ่าแกงกันให้ตาย เว้นแต่มันจะเกิดเป็นสงครามมีการเอาคนออกมารบกันนั่นแหละ ทหารจึงจะออกมาปราบปรามสงบศึก

แล้วอย่าไปร่วมฆ่าประชาชนเสียเล่า!