posttoday

ยุโรปรวนหนักทางออกกรีซ ซ้ำไร้นโยบายชัดสกัดหนี้ลุกลาม

13 กรกฎาคม 2554

หลังปล่อยให้วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซยืดเยื้อจวนเจียนจนแทบไปไม่รอดและส่อเค้าลุกลามทั่วยุโรป

หลังปล่อยให้วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซยืดเยื้อจวนเจียนจนแทบไปไม่รอดและส่อเค้าลุกลามทั่วยุโรป

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

หลังปล่อยให้วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซยืดเยื้อจวนเจียนจนแทบไปไม่รอดและส่อเค้าลุกลามทั่วยุโรป ในที่สุดรัฐมนตรีการคลังของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ก็ต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ด้วยการตอบรับมาตรการผิดนัดชำระหนี้บางส่วนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตหนี้กรีซ

แม้หลายฝ่ายรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะยังคงปฏิเสธเสียงกร้าวว่า ข้อตกลงที่รัฐมนตรีการคลังเห็นชอบกันนี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ถึงแผนการการผิดนัดชำระหนี้บางส่วน แต่จากท่าทีที่แสดงออกและแถลงการณ์ของที่ประชุม ล้วนบ่งชี้ว่าอียูไม่ได้รังเกียจหากจะยอมให้กรีซต้องผิดนัดชำระหนี้บางส่วนบ้าง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในการประชุมครั้งก่อนๆ หน้า ผู้แทนของสมาชิกยูโรโซนยุโรปได้ยืนยันอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าจะไม่ยอมให้กรีซกลายเป็น “หนี้เสีย” เป็นอันขาด ทว่าในการประชุมครั้งนี้กลับเล่นลิ้นว่าความคิดไม่เอาด้วยดังกล่าวนั้นเป็นความเห็นของอีซีบีเท่านั้น ไม่ใช่ของยุโรปทั้งหมด

นั่นเท่ากับว่า ภาคเอกชนจะต้องร่วมแบกภาระหนี้ของกรีซบ้างแล้ว ดังที่ ฌอง โคลด จุงเกอร์ ประธานอียู แถลงข่าวยืนยันว่า “อียูพร้อมจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยเหลือกรีซด้วย”

นอกจากจะเริ่มมีท่าทีอ่อนลงให้กรีซกลายเป็นหนี้เสีย บรรดารัฐมนตรีคลังจาก 17 ชาติสมาชิกกลุ่มยูโรโซน อาจจะนำมาตรอื่นๆ มาช่วยบรรเทาอาการไข้ของกรีซหลายประการอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล การแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ และการให้ภาคเอกชนเปลี่ยนมาถือพันธบัตรที่มีอายุยาวนานขึ้น เพื่อช่วยให้หนี้ของกรีซมีเสถียรภาพมากขึ้น

 

ยุโรปรวนหนักทางออกกรีซ ซ้ำไร้นโยบายชัดสกัดหนี้ลุกลาม

ทั้งนี้ สถานการณ์หนี้ของกรีซในขณะนี้เข้าขั้นเลวร้ายจนถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีจอร์เก ปาปันดรู ของกรีซ กล่าวว่า กรีซไม่มีเวลาเหลือสำหรับความลังเลหรือความผิดพลาดอีกต่อไป พร้อมเรียกร้องอียูให้จริงจังกับปัญหาของกรีซมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรีซเพิ่งจะปฏิเสธแผนการของฝรั่งเศสที่จะให้กรีซเจรจากับภาคเอกชนเพื่อขอยืดอายุพันธบัตรของกรีซออกไปอีก 30 ปี เนื่องจากแผนดังกล่าวถือว่ากรีซต้องจ่ายแพงเกินไปกับอัตราดอกเบี้ยที่ต้องคิดทบต้นทบดอกไปอีก ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีก็เสนอแผนที่คล้ายคลึงกัน โดยมีระยะเวลาที่สั้นกว่าเพียง 7 ปี

และในครั้งนั้น แน่นอนว่า ธนาคารกลางยุโรป ยืนยันไม่เห็นด้วยกับแผนการของทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี และยังยืนยันชัดเจนว่า ทางออกของปัญหาหนี้กรีซจะต้องหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซ และกรีซจะต้องไม่เป็นหนี้เน่าเป็นอันขาด

การที่อียูต้องเปลี่ยนท่าทีมาพิจารณาถึงหนทางที่ตนเองพยายามบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตหนี้ของกรีซในครั้งนี้มีแนวโน้มที่ “สูงมาก” ที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ อีก หลังจากที่ไอร์แลนด์และโปรตุเกสนั้นโดนพิษสงไปแล้ว

“เราเห็นชอบที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้เกิดขึ้นในพื้นที่ยุโรป และพัฒนาระบบเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการระบาดในวิกฤตครั้งนี้” แถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีคลังอียูครั้งล่าสุดระบุ

ทั้งนี้ ประเทศที่มีแนวโน้มสูงที่อาจจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตต่อไปนั้น ก็คือ อิตาลี

อิตาลี คือความกังวลล่าสุดของยุโรป เนื่องจากอัตราหนี้สาธารณะของประเทศที่สูงเกิน 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยในปี 2553 ระดับหนี้สาธารณะของอิตาลีสูงถึง 119.0% ของจีดีพีทีเดียว ทำให้อิตาลีในขณะนี้มีสถานะเป็นประเทศที่มีภาระหนี้สาธารณะหนักหนามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศยุโรป และเป็นรองแค่กรีซเท่านั้น

แม้สถานการณ์ของอิตาลีจะมีภาษีดีกว่ากรีซตรงที่ว่าอิตาลีมีระบบแผนการทางการเงินที่สมจริงและดีเยี่ยม มีกลไกในการจัดการปัญหาหนี้ให้อยู่ในกรอบได้ดี จนทำให้อิตาลีมีเงินงบประมาณขาดดุลต่ำ และตลาดพันธบัตรมีความคล่องตัวสูง อีกทั้งพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ในมือ “คนในประเทศ” แต่กระนั้นทางด้าน เคธี เลียน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านการเงินของจีเอฟที ฟอเร็กซ์ ในนิวยอร์ก ยังเห็นว่า สิ่งที่อิตาลีมีอยู่อาจยังไม่เพียงพอที่จะหยุดความกลัวแบบไม่มีเหตุผลของบรรดานักลงทุนในตลาดได้

กระแสความหวาดกลัวต่อวิกฤตในอิตาลียังถูกย้ำด้วยเสียงเตือน จาก เจ.พี. มอร์แกน ที่เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ในอิตาลีกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงมหาศาล เพราะธนาคารเหล่านั้นต้องพึ่งพาการระดมเงินในจำนวนมาก ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารเหล่านี้ถืออยู่ก็มีสัดส่วนสูงถึง 6.33% ของพันธบัตรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากกว่าที่ธนาคารพาณิชย์ของสเปนถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่

ความเห็นดังกล่าว ส่งผลให้อาการหวาดวิตกของนักลงทุนลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้าง และทำให้นักลงทุนต่างพากันตัดภัยเสียแต่ต้นลม ด้วยการอยู่ให้ไกลพันธบัตรมะกะโรนี

โซน คาร์ล สชามอตตา นักกลยุทธ์อาวุโสจากเวสเทิร์น ยูเนียน บิซิเนส โซลูชัน ในเมืองคาลการีของแคนาดา มองว่า หากอิตาลีต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตหนี้สาธารณะตามที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกังวลกัน ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซก็จะกลายเป็นปัญหาเล็กน้อยไปในทันที

เพราะอย่าลืมว่าอิตาลี คือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซน!

เพื่อสกัดไม่ให้หนี้ลุกลาม อียูจึงต้องยอมรับทางเลือกที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บช้ำน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้อียูจะได้เลือกทางออกไว้เป็นที่เรียบร้อย แต่ดูเหมือนว่าทางที่เลือก จะไม่ได้ทำให้นักลงทุนมั่นใจเท่าไรนัก เพราะรายละเอียดของแผนการ เช่นว่าจะให้ธนาคาร ผู้รับประกัน และกองทุนอื่นๆ จัดสรรปันส่วนกองทุนช่วยเหลือกรีซต่อไปอย่างไร ยังไม่มีความชัดเจนแม้แต่น้อย ณ เวลานี้

ทั้งนี้ ขณะที่เยอรมนีและพันธมิตรต้องการให้เอกชนร่วมสมทบทุนเป็นมูลค่า 3 หมื่นล้านยูโร ในการให้เงินช่วยเหลือกรีซก้อนต่อไป แต่ทว่าแหล่งข่าวได้เปิดเผยว่า เยอรมนีและอีกหลายชาติก็ใกล้ได้ข้อตกลงยอมที่จะแบกภาระความเสียหายกันแล้ว ถ้าหากกรีซจะถูกประกาศให้เป็นหนี้เน่า

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์การประชุมของบรรดารัฐมนตรีการคลังกลุ่มยูโรโซนยังคงคลุมเครือ ไม่มีการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนนัก โดยระบุเพียงแต่ว่า ... “ขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดการข้อตกลงด้านหลักทรัพย์ที่เหมาะสม” เท่านั้น

ความไม่แน่นอนและคำสัญญาแค่ว่ารายละเอียดของแผนการจะตามมาในเวลาอันสั้นและเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยปราศจากกรอบเวลาชัดเจนในการลงมือ ไม่แม้แต่การกำหนดวันประชุมนัดถัดไปที่จำเป็นจะต้องมี ก็เพียงพอให้ประเทศต่างๆ รับรู้แล้วว่า อียูเจองานหนักที่ทั้งกลืนไม่เข้าและคายไม่ออก กับการหาทางออกในวิกฤตนี้มากเพียงใด