posttoday

คว่ำบาตรมรดกโลกหนุนคะแนน ปชป. กระเตื้อง?

27 มิถุนายน 2554

แม้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเดินสายหาเสียงอย่างหนักและต่อเนื่อง

แม้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเดินสายหาเสียงอย่างหนักและต่อเนื่อง

เพื่อนำเสนอสารพัดนโยบายเอาใจประชาชนทุกกลุ่มทุกชนชั้น แต่ดูเหมือนคะแนนจะไม่เข้าเป้าที่ตั้งไว้ ดูจากผลโพลแทบทุกสำนักที่ออกมา ทั้งในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ รวมทั้งในภูมิภาคต่างๆ ความนิยมกลับยังไม่ตีตื้นพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้

แม้ในจำนวนนี้จะยังมีพลังเงียบอีก 30-40% ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะกาพรรคใด อาจเพราะยังไม่ชอบใจนโยบายพรรคไหน หรือยังลังเลก็ตาม แต่ภายหลัง สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของไทยในเวทีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกอย่างเป็นทางการ

คว่ำบาตรมรดกโลกหนุนคะแนน ปชป. กระเตื้อง?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำประกาศนี้ส่งผลให้บรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

ประการแรก การประกาศถอนตัวของไทยในครั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สุวิทย์ ทำไปในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย นั่นคือรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นท่าทีทวงคืนศักดิ์ศรีประเทศไทยที่ถูกฝ่ายกัมพูชาใช้รุกไล่มาอย่างต่อเนื่อง

ประการต่อมา เป็นการแสดงออกถึงความเด็ดขาดในการปกป้องอธิปไตยของ ประเทศ กลางเวทีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก จากที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนรัฐบาลจะถูกปรามาสจากทุกฝ่ายว่าใช้การทูตแบบอ่อนหัด และหน่อมแน้มเกินไป

ที่ชัดอย่างตรงไปตรงมา ก็คือทำให้กลุ่มเสื้อเหลืองที่ยึดถนนบริเวณแยกมิสกวัน บริเวณทำเนียบรัฐบาล ยอมสลายการชุมนุมไปเรียบร้อย ก็ด้วยท่าทีอันแข็งกร้าวของรัฐบาลต่อเรื่องนี้

ด้วยเหตุผลประการทั้งปวง แม้จะเป็นการตัดสินใจด้วยเพราะมิอาจยอมรับคณะกรรมการมรดกโลกที่มีท่าทีเอียงกระเท่เร่ เข้าข้างฝ่ายกัมพูชาอย่างออกหน้า และเป็นการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ แต่แน่นอนที่สุด การตัดสินใจดังกล่าวย่อมสร้างความนิยมให้รัฐบาลได้แบบเต็มๆ

ดังที่ ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ออกจะเป็นไม้เบื่อกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงกับชื่นชมและสนับสนุนการถอนตัวของฝ่ายไทยจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกอย่างออกหน้า

จะว่าไปแล้ว ในภาพรวมถือว่าผลการถอนตัวจากเวทีมรดกโลกในครั้งนี้ ได้ส่งผลข้างเคียงต่อกระแสนิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศ และเป็นไปได้ว่าย่อมส่งผลให้คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์เป็นรองพรรคเพื่อไทยอยู่หลายขุมกระเตื้องขึ้นมาบ้าง อีกทั้งอาจจะโน้มน้าวดึงคะแนนโหวตโนของคนเสื้อเหลืองที่ตั้งใจกากบาทสนับสนุนแนวทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อาจเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร ก็อาจนำเหตุผลจากศึกปราสาทพระวิหารมาประกอบการตัดสินใจก็เป็นไปได้

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้เหตุผลประกอบว่า การแสดงท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลด้วยการถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก นับเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมส่งผลต่อคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะจากกลุ่มชาตินิยม ชนชั้นกลาง หรือกลุ่มที่สนใจผลประโยชน์ส่วนรวม ย่อมเทคะแนนให้รัฐบาลได้

“แม้ว่าการตัดสินใจจะอยู่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เรื่องดังกล่าวมีความต่อเนื่องก่อนมีการเลือกตั้ง และมีผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ย่อมส่งผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐบาล ที่จะได้รับเสียงสนับสนุนไม่มากก็น้อย” นักวิชาการ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่ชัดเจนและเด็ดขาดในครั้งนี้ นอกจากเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรีประเทศแล้ว ยังสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนคนไทยที่หวงแหนอธิปไตยด้วยว่า ต่อไปนี้กัมพูชาไม่อาจจาบจ้วงยุ่มย่ามต่อพื้นที่บริเวณแห่งนี้ เพื่อหวังผลต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้อีก

ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังย่ำแย่ “เขาพระวิหาร” จึงเคลื่อนไหวเข้ามาสอดอย่างเหมาะเจาะ และมีโอกาสเก็บคะแนนในช่วงท้ายของการหาเสียงไปได้บ้าง ขณะเดียวกัน แม้ สุวิทย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกิจสังคม อาจจะสอบตกปาร์ตี้ลิสต์ แต่ในฐานะขุนศึกเที่ยวนี้ พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ปล่อยให้เดียวดายหากได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล