posttoday

ผ่าทางตัน รีดภาษีสหกรณ์

07 มิถุนายน 2554

เพียงแค่กระทรวงการคลังระบุว่ากำลังศึกษาเรื่องการรีดภาษีรายได้จากสหกรณ์ 30% เป็นประเด็นร้อนที่ปลุกคนสหกรณ์ให้ก้นร้อน

เพียงแค่กระทรวงการคลังระบุว่ากำลังศึกษาเรื่องการรีดภาษีรายได้จากสหกรณ์ 30% เป็นประเด็นร้อนที่ปลุกคนสหกรณ์ให้ก้นร้อน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เพียงแค่กระทรวงการคลังระบุว่ากำลังศึกษาเรื่องการรีดภาษีรายได้จากสหกรณ์ 30% เป็นประเด็นร้อนที่ปลุกคนสหกรณ์ให้ก้นร้อน

เมื่อมูลค่าธุรกิจสหกรณ์เป็นขุมทรัพย์มหาศาล โดยแต่ละปีแตะระดับล้านล้านบาท มีกำไรหลายหมื่นล้านบาท จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลจ้องที่จะเก็บภาษีโปะเข้ากระทรวงการคลัง

ปี 2553 มีสหกรณ์ทั้งหมด 10,530 แห่ง สมาชิกกว่า 11 ล้านคนเศษ คิดเป็น 16.42% ของประชากรทั้งหมด มีกำไรกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ซึ่งในนี้เป็นกำไรของสหกรณ์ออมทรัพย์ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

มูลค่าธุรกิจในรอบปี 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% คิดเป็น 14.77% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP)

ผ่าทางตัน รีดภาษีสหกรณ์

สำรวจลงลึกไปพบว่าสหกรณ์กว่า 90% มีกำไร และมีทุนสำรองเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท โดยสมาชิกมีเงินออมเฉลี่ยต่อคนสูงกว่าหนี้เฉลี่ยต่อคน 1.08 เท่า

ขณะที่สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรมีเงินออมเฉลี่ยต่อคนต่ำกว่าหนี้เฉลี่ยต่อคน 0.78 เท่า และ 0.51 เท่า ตามลำดับ

สำหรับในปี 2554 คาดว่าแนวโน้มธุรกิจสหกรณ์มีโอกาสจะขยายเพิ่มขึ้น 12% คิดเป็นมูลค่า 1.66 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าจะเป็นอีกปีที่ทำให้กำไรเป็นกอบเป็นกำไม่ต่ำกว่า 10% เหมือนเช่นทุกปี

สาเหตุที่ทำให้สหกรณ์ส่วนใหญ่มีกำไรก้อนโต เพราะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจำนวนมาก

สหกรณ์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ 30%

แถมไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร รวมถึงการฝากเงินระหว่างสหกรณ์ด้วยกันก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก ยกเว้นการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ กรณีให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกและสหกรณ์อื่น

นายเฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) มองว่า การเก็บภาษีรายได้ 30% และเก็บภาษีดอกเบี้ยหรือเงินปันผลจะทำให้กระทบต่อสหกรณ์ทั้งระบบ เท่ากับเป็นการทำร้ายขบวนการสหกรณ์ให้สูญพันธุ์ได้

เมื่อกำไรทั้งหมดจะต้องถูกหักเป็นภาษีจ่ายให้รัฐบาล นั่นหมายความว่าสมาชิกสหกรณ์จะต้องได้รับเงินปันผลลดลงต่ำกว่า 30% ในขณะเดียว สหกรณ์มีต้นทุนเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่คิดกับสมาชิกจะต้องสูงขึ้น และอนาคตสหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะต้องยุบเลิกไปเพราะไม่สามารถที่จะแข่งขันกับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์ต่างๆ อยู่ด้วยหลักการไม่แสวงหากำไรและจุดประสงค์เพื่อที่จะช่วยเหลือซึ่งกันในกลุ่มสมาชิก

“รัฐบาลเอาแนวความคิดการให้สหกรณ์จ่ายภาษีเหมือนในต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าในแต่ละปีสหกรณ์มีกำไรจำนวนมาก โดยในปีที่แล้วสหกรณ์ทั้งหมดมีกำไรรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลต้องการดึงระบบสหกรณ์เข้าสู่ระบบการจ่ายภาษีนิติบุคคลรัฐคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มอีกปีละ 1,000-1,200 ล้านบาท แต่รัฐไม่ได้คำนึงถึงหลักการของการจัดตั้งระบบสหกรณ์ที่แท้จริง ที่ให้สมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกันเองในกลุ่มและไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร” นายเฉลิมพล กล่าว

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับด้วยว่าระบบสหกรณ์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเป็นช่องทางที่จะล่อให้นักธุรกิจเอกชนและนายทุนหัวใสแฝงตัวเข้ามาใช้ระบบสหกรณ์เป็นเครื่องมือดำเนินธุรกิจมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลกำไรแบบไม่ถูกต้องและเป็นช่องทางหลีกเลี่ยงภาษี

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขายตรง ธุรกิจลูกโซ่ ธุรกิจปุ๋ย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพยายามตั้งเป็นสหกรณ์บังหน้า ทำให้ระบบสหกรณ์เสียหายและเอาเปรียบสมาชิก

แม้ว่าที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมมือกับกรมสรรพากรและกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อกำหนดแนวทางตรวจสอบธุรกิจของสหกรณ์ที่ไม่เป็นสหกรณ์ หรือสหกรณ์ที่ส่อว่าจะมีนายทุนแอบแฝงเข้ามา พร้อมร่วมมือในการวางกรอบแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดขบวนการดังกล่าว ป้องกันไม่ให้ภาพลักษณ์ของสหกรณ์เสียหาย และยังช่วยให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น

จุดหนึ่งนายทุนเห็นว่าการใช้ชื่อสหกรณ์ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันกฎหมายสหกรณ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนดให้สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจพิเศษ ได้รับสิทธิพิเศษและข้อยกเว้นการเสียภาษีรายได้ 30% และการเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อให้สามารถบริหารงานภายใต้สภาวะแข่งขันในระบบทุนนิยมเพื่อช่วยเหลือสมาชิก

ส่งผลให้สหกรณ์มีข้อได้เปรียบบริษัทเอกชน จึงทำให้นายทุนหรือผู้มีฐานะทางการเงินใช้เป็นช่องทางหันเข้าระบบสหกรณ์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และใช้เป็นแหล่งหาผลกำไร ถือเป็นการฉ้อโกงและหลอกลวงเกษตรกร

ขณะที่มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าสหกรณ์เป็นทางเลือกในการเป็นสถาบันการเงินภาคครัวเรือนมากกว่าธนาคาร เนื่องจากสหกรณ์จะมีการให้บริการที่เหมาะสม ไม่ต้องใช้หลักฐานการค้ำประกันที่ยุ่งยาก ส่วนธนาคารจะเป็นประโยชน์กับการลงทุนของภาคเอกชนที่มีหลักฐานในการค้ำประกัน และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความพร้อมมากกว่า

อีกทั้งสหกรณ์มีบทบาทสำคัญทำให้สมาชิกได้รับประโยชน์ ทั้งภาคของการผลิต การเงิน การลงทุนของประชาชนอย่างแท้จริง

สินทรัพย์รวมทั้งสิ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ในฐานะสถาบันการเงิน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2552 โดยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 5% ของสินทรัพย์ในระบบการเงิน 30 ล้านล้านบาท และขนาดของสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายแห่งมีสินทรัพย์ในอันดับต้นๆ ของบรรดาสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์รายย่อย เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการบินไทย ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท

ธปท.ยังเสนอให้สหกรณ์ควรมีการปรับตัว โดยสหกรณ์ขนาดเล็ก อาจเป็นสถาบันการเงิน (สาขาย่อย) ให้บริการทางการเงินในชุมชน ซึ่งอาจจะมีการทบทวนบทบาทในการรับฝากเงิน การทำธุรกรรมทางการเงิน จากสมาชิกบุคคลภายนอก และลดข้อจำกัด

ส่วนสหกรณ์ขนาดกลาง อาจจะพัฒนาเป็นธนาคารรายย่อยในโอกาสต่อไป และสหกรณ์ขนาดใหญ่ อาจจะเป็นสถาบันการเงินและกำหนดกติกาการเสียภาษีให้ชัดเจน

แผนการรีดรายได้จากสหกรณ์เพื่อโปะโครงการประชานิยมดูเหมือนจะไม่ง่าย เพราะอาจต้องเจอกระแสต่อต้านจากทุกสารทิศ งานนี้ต้องดูว่าสุดท้ายแล้วแนวคิดของคลังจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หรือจอดป้ายแค่แนวคิดเท่านั้น