posttoday

ทางร่วงของญี่ปุ่น ทางล้มของยุโรป

06 มิถุนายน 2554

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ประเทศหนึ่งและภูมิภาคหนึ่งจะประสบกับคราวเคราะห์ซ้ำกรรมซัดครั้งแล้วครั้งเล่า

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ประเทศหนึ่งและภูมิภาคหนึ่งจะประสบกับคราวเคราะห์ซ้ำกรรมซัดครั้งแล้วครั้งเล่า

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ประเทศหนึ่งและภูมิภาคหนึ่งจะประสบกับคราวเคราะห์ซ้ำกรรมซัดครั้งแล้วครั้งเล่า อย่าว่าแต่ความหวังที่รอดพ้นจากวิกฤตเลย แม้แต่โอกาสที่จะล้มครืนลงยังมีไม่น้อย หากต้องประสบกับปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นนี้เรื่อยไป

ประเทศที่ว่านี้คือ ญี่ปุ่น และภูมิภาคที่กล่าวถึงคือ ยุโรป

ที่เรียกว่าเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ก็เพราะยังไม่ทันที่ทั้งสองจะพ้นจากปัญหาเดิม ก็ปรากฏปัญหาใหม่ๆ เข้ามากระหน่ำซ้ำเติมไม่หยุดหย่อน ทำให้ความหวังที่จะฟื้นตัว เป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจโลกยิ่งริบหรี่ลงทุกที

เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นยังไม่สามารถหลุดพ้นจากผลกระทบจากภัยพิบัตินานัปการ กระทั่งล่าสุดรัฐบาลต้องลดเงินเดือนข้าราชการเพื่อระดมเงินมาใช้ฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากวิกฤต

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ญี่ปุ่นยิ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่กล้ำกลืน ไม่เฉพาะแค่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนัก จนส่อให้เห็นถึงภาวะถดถอยที่กลับมาหลอกหลอนอีกครั้งเท่านั้น แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อทางการเงินอย่าง Moody’s ขู่ที่จะลดระดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลง จากระดับ Aa2 ให้ตกลงมาต่ำกว่านี้

ทางร่วงของญี่ปุ่น ทางล้มของยุโรป

Moody’s ให้เหตุผลของการพิจารณาเพื่อเตรียมลดอันดับเครดิต (ซึ่งหากเป็นรัฐบาลอื่น โดยเฉพาะในยุโรปจะเรียกว่าการ “ซ้ำเติม”) ครั้งนี้ ว่า เป็นเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจของญี่ปุ่นง่อนแง่นอย่างหนัก ขณะที่นโยบายของรัฐบาลอ่อนยวบ ไม่สามารถตอบรับกับวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที

โอกาสที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งมีอยู่สูงมาก จากช่วงไตรมาสแรกที่ติดลบ 3.7% สำนักข่าวบลูมเบิร์กประเมินจากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ คาดว่า ไตรมาส 2 อาจติดลบ 3% ซึ่งหากติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส เท่ากับญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มตัวแล้ว

อนาคตที่มืดมนยิ่งมืดมนหนัก เมื่อฝ่ายการเมืองของญี่ปุ่นไร้ความสามัคคี ไม่อาจลงรอยกันได้เกี่ยวกับนโยบายรัดเข็มขัดทางการเงินการคลัง ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ทุ่มงบประมาณเต็มที่เพื่อฟื้นฟูประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการจำกัดงบประมาณ เพราะไม่ต้องการให้ประเทศตกที่นั่งเดียวกับนานาประเทศในยุโรปที่จมปลักกับวิกฤตหนี้

สถานการณ์ของญี่ปุ่นนั่นเลวร้ายกว่า เพราะมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดในโลก ในอัตราส่วนต่อ GDP ถึงกว่า 200%

แม้ว่านายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง จะรอดพ้นมติไม่ไว้วางใจของสภา แต่เจ้าตัวกลับประกาศจะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากเผชิญแรงกดดันทั้งการรับมือภัยพิบัติที่ไม่เข้าตาประชาชน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่รอบจัด

การเปลี่ยนตัวนายกฯ จะไม่ทำให้สถานการณ์ในญี่ปุ่นดีขึ้น เพราะความที่ญี่ปุ่นหมกมุ่นกับการต่อรองทางการเมืองมากเกินไป ทำให้เปลี่ยนนายกฯ ไปแล้ว 15 คน ในช่วงเวลา 20 ปี ผลที่ตามมาคือ กระบวนการฟื้นฟูประเทศที่สะดุดตัวลงครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งประเทศยังล้มลุกคลุกคลานจากวิกฤตเมื่อเดือน มี.ค.

ถึงจะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ ตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์บางราย แต่รากฐานของประเทศจะยิ่งง่อนแง่นจนยากจะเยียวยา

ญี่ปุ่นเริ่มคล้ายกับยุโรปเข้าไปทุกที แม้จะมีรายละเอียดของปัญหาที่ต่างกัน

แต่โอกาสที่จบไม่สวยมีไม่น้อยไปกว่ากัน

มาวันนี้ ขณะที่ยุโรปกำลังจับต้นชนปลายไม่ถูกกับการระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E-Coli) อันร้ายกาจจนคร่าชีวิตเหยื่อไปร่วม 20 คน และล้มป่วยเกือบ 2,000 คน ที่ญี่ปุ่นพบการระบาดของเชื้อโรคตัวเดียวกัน ซึ่งเคราะห์ยังดีที่เป็นการติดเชื้อในวงแคบ ไม่รุนแรงเท่ากับยุโรปที่ระบาดไปแล้ว 12 ประเทศ

การระบาดของเชื้ออีโคไลอาจเป็นเพียงเรื่องบังเอิญที่ทำให้ญี่ปุ่นและยุโรปคล้ายคลึงกันมากขึ้น ยังมีอีกหลายเรื่องราวปัญหาที่ทำให้ญี่ปุ่นและยุโรปกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจของชาวโลก

ประการแรก คือ ปัญหาหนี้สาธารณะ

ปัญหาหนี้สาธารณะ เกิดจากความไร้วินัยทางการคลัง โดยปกติแล้วเป็นภาระของประเทศนั้นๆ ที่ต้องแก้ปัญหากันเอาเอง โดยมีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คอยเป็นพี่เลี้ยง หากสถานการณ์ย่ำแย่เกินเยียวยา ไอเอ็มเอฟจะยื่นคำขาดให้ปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งหมายความว่าประเทศนั้นอาจต้องแลกกับอธิปไตยทางการเงินบางส่วนให้ไอเอ็มเอฟเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ

กรณีเช่นนี้คนไทยย่อมซาบซึ้งดีกับบทบาทของไอเอ็มเอฟ ภายหลังวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540

สหภาพยุโรป (EU) หรือบ่งให้ชัดเจนขึ้น คือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร หรือ Eurozone มีภาษีดีกว่าตลาดเกิดใหม่ จึงได้รับการผ่อนผันจากไอเอ็มเอฟครั้งแล้วครั้งเล่าให้พ้นจากเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งยังได้รับเงินช่วยเหลืออย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ล่าสุดเป็นครั้งที่ 3 แล้ว พร้อมด้วยเงื่อนไขที่หลวมโพรก เพราะกรีซไม่สามารถปฏิบัติตามได้ แต่ยังได้รับเมตตาอยู่ร่ำไป ทั้งที่โอกาสที่กรีซจะไม่สามารถชำระหนี้ได้มีสูงถึง 50% จากการประเมินของ Moody’s

และยังเป็น Moody’s อีกเช่นกันที่ลดระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของกรีซลงเป็นครั้งที่ 3

เรียกได้ว่ากรีซขอเงินช่วยเหลือ 3 ครั้ง นอกจากจะยังไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เครดิตตัวเองต้องเสื่อมลงไปอีก

ความไร้วินัยและไร้มาตรฐานเช่นนี้ เป็นเพราะข้ออ้างที่ว่าหากกรีซล้มละลาย เงินยูโรจะพลอยสั่นคลอนไปด้วย และเมื่อเงินยูโรสั่นคลอน เศรษฐกิจโลกจะตั้งอยู่อย่างมั่นคงได้ลำบาก เพราะเงินยูโรคือสกุลเงินหลักของโลก

กล่าวโดยสรุป คือ อียูและไอเอ็มเอฟพร้อมที่จะช่วยประเทศหนี้เสียต่อไป แม้ว่าสิ่งที่ตามมาในระยะยาวคือเสาหลักทางเศรษฐกิจจะง่อนแง่น และนานาประเทศยิ่งได้ใจ ไร้วินัยทางการเงินกันจนเป็นนิจศีลก็ตาม

ปัญหาประการที่ 2 ที่ทำให้ยุโรปเหมือนกับญี่ปุ่นเข้าไปทุกที คือ ปัญหาทางการเมือง

ขณะที่กรีซยังไม่สามารถกอบกู้ตัวเองจากภาระหนี้สินได้ ทั้งๆ ที่รับเงินช่วยเหลือไปแล้วหลายหมื่นล้านยูโร รัฐบาลกรีซยังต้องผจญกับแรงกดดันจากพลังประชาชนที่เดินขบวนประท้วงและนัดหยุดงานครั้งใหญ่แบบวันเว้นวัน เพราะไม่พอใจกับมาตรการรัดเข็มขัดจนกระทบต่องบประมาณด้านสวัสดิการประชาชน รวมถึงอัตราเงินเดือนข้าราชการ

น่าสนใจว่าขณะที่ญี่ปุ่นต้องลดเงินเดือนข้าราชการเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับต้องยกขบวนออกมาแสดงพลัง ทั้งที่วิกฤตของกรีซและญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าจะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่ก็เพียงพอที่จะล้มประเทศทั้งประเทศได้เช่นกัน

โปรตุเกสเป็นอีกประเทศที่รับความช่วยเหลือเพื่อกู้วิกฤตหนี้สาธารณะ ปัญหาทางการเมืองยิ่งชัดเจนกว่ากรีซ จนกระทั่งต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. หลังจากที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคสังคมนิยมต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เกือบพาประเทศไปพบกับจุดจบทางการเงิน

ปัญหานานาประการเหล่านี้ ไม่เพียงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง กลับยังหมักหมมกลายเป็นภาระในระยะยาวจนเกินจะแก้ไข กลายเป็นปมเงื่อนที่ผูกมัดภาคต่างๆ จนวุ่นวายสับสน

ยิ่งพยายามสะสางปัญหาเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาด ฝ่ายการเมืองจะเกิดปฏิกิริยารุนแรง และเมื่อฝ่ายการเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เศรษฐกิจยิ่งขาดช่วงการฟื้นตัว ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขด้วยมาตรฐานเดียว

นี่คือวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ญี่ปุ่นและยุโรปกำลังเผชิญ