posttoday

เนวินจุดพลุนายกฯทางเลือก ริบหรี่แต่มีนัย

27 พฤษภาคม 2554

การออกมาจุดพลุของ “เนวิน ชิดชอบ” ฟันธงว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อเบอร์ 1 ประชาธิปัตย์

การออกมาจุดพลุของ “เนวิน ชิดชอบ” ฟันธงว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อเบอร์ 1 ประชาธิปัตย์

 และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เบอร์ 1 จากเพื่อไทย หมดสิทธินั่งเก้าอี้นายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกตีความขยายผลไปต่างๆ นานา

ประเด็นที่สนใจกันมากที่สุด คือ ว่าที่นายกฯ คนต่อไปจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่แคนดิเดตจาก 2 พรรคใหญ่

ย้อนดูเหตุผลที่ “เนวิน” นำมาเตะสกัดดาวรุ่ง “อภิสิทธิ์ยิ่งลักษณ์” หนีไม่พ้นเรื่อง “คู่ขัดแย้ง” พร้อมอ้างเสียงประชาชนว่าต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข หยุดความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วการเมือง ที่แข่งขันกันสูงในการเลือกตั้งเที่ยวนี้

ทั้งที่โพลฉบับของ “เนวิน” ประเมินให้เพื่อไทยได้ 210 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 160 ที่นั่ง และภูมิใจไทย 111 ที่นั่ง

ดังนั้น ตีความระหว่างบรรทัดแล้วเมื่อไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียง โอกาสที่ “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งได้เสียงมาเป็นอันดับที่ 1 และ 2 จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หรือดันคนของตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดย่อมเป็นไปไม่ได้

เนวินจุดพลุนายกฯทางเลือก ริบหรี่แต่มีนัย

พรรคขนาดกลางจึงจะเป็นตัวแปรสำคัญชี้นำกำหนดทิศทางตำแหน่ง “นายกฯ”

ยิ่งเหตุผลของ “เนวิน” ย้ำเรื่องการยุติความขัดแย้งของ 2 ขั้วการเมือง งานนี้ตัวแทนจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจึงมีหวัง “ส้มหล่น” ได้ลุ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้จะเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติจริง

ทว่า ต้องไม่ลืมครั้งหนึ่ง “เพื่อไทย” เคยลด แลก แจก แถม ซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาลให้ช่วยกันประคองกันต่อไป ถึงขั้นยอมดัน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้นมาชิงตำแหน่งนายกฯ แต่สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ คนที่ 23

มาเที่ยวนี้แน่นอนแล้วว่าหากไม่ใช่ “ยิ่งลักษณ์” โคลนนิงจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โอกาสที่เบอร์อื่นๆ ในเพื่อไทยจะขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ ก็ริบหรี่เต็มที

ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เสนาะ เทียนทอง พล.ต.อ.ประชา มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จึงอาจไม่ใช่คนที่จะได้รับโอกาสนี้ เพราะหากให้ใครคนใดคนหนึ่งขึ้นมา ย่อมนำมาสู่ความขัดแย้งกับคนอื่นๆ เกิดการปั่นป่วนภายในพรรคตามมา

ชื่อของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ หัวหน้าพรรครักษ์สันติ จึงปรากฏออกมาว่าอาจเป็น “ตาอยู่” รอบนี้ ทั้งด้วยภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ความรู้ความสามารถที่เป็นที่ยอมรับของคนกลุ่มใหญ่แล้ว

สายสัมพันธ์โยงใยระหว่าง “ปุระชัย” กับ “เนวิน” ยังแน่นแฟ้น จนร่ำลือกันว่าทั้ง “ภูมิใจไทย” และ “รักษ์สันติ” เป็นดองกันทางการเมืองเรียบร้อย เชื่อมโยงผ่าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายหัวแก้วหัวแหวนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม รวมถึง “เสี่ยโป๋” ธีรพล นพรัมภา ล้วนแต่คนเป็นคนใกล้ชิดของ “เนวิน” ที่มาร่วมงานกับ ร.ต.อ.ปุระชัย

เนวินจุดพลุนายกฯทางเลือก ริบหรี่แต่มีนัย

อย่างนี้แล้วไม่ว่า “รักษ์สันติ” จะไม่ได้เสียงเป็นกอบเป็นกำ แต่แรงหนุนจาก “เนวิน” ก็เพียงพอที่จะทำให้เส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ ของ ร.ต.อ.ปุระชัย พอเป็นไปได้

แคนดิเดตคนถัดมา คือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ประธานที่ปรึกษาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่อาสาเดินหน้าปูทางปรองดองให้ประเทศก้าวพ้นความขัดแย้ง

นอกจากจะมีประสบการณ์เป็นมือประสานสิบทิศที่ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยให้การยอมรับแล้ว การจุดประเด็นเดินหน้าสร้างความปรองดองย่อมเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ทางเลือกได้ไม่ยาก

อีกด้านหนึ่งกรณีที่นายกฯ ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” หากประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก หรือสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้นั้น คงเป็นเรื่องยาก เพราะจุดยืนของประชาธิปัตย์ยังเหนียวแน่นกับ “อภิสิทธิ์” มาตั้งแต่ดันเป็นนายกฯ เที่ยวที่แล้ว

แม้พลิกขั้วครั้งที่แล้วเคยมีความพยายามถึงขั้นบีบให้ประชาธิปัตย์เปลี่ยนคนจะมาเป็นนายกฯ แทน “อภิสิทธิ์” ถึงจะมาร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลด้วย จนมีชื่อ “ชวน หลีกภัย” ขึ้นมาเป็นทางเลือก แต่ทางพรรคยังยืนยันในตัว “อภิสิทธิ์” ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้งนี้ประชาธิปัตย์ยังยืนยันว่าขั้นตอนในกระบวนการสภาผู้แทนราษฎรจะยังเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์” เป็นตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้นายกฯ แน่นอน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกมาโยนระเบิดลูกโตใส่ 2 พรรคใหญ่ของ “เนวิน” แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมหวังผลทางจิตวิทยาเอื้อประโยชน์ “ภูมิใจไทย” สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซัด “เพื่อไทย” ซึ่งเป็นคู่แข่งทางอีสานโดยตรง หรือกับประชาธิปัตย์เอง ซึ่งมองว่าไม่มีทางให้ไปจนต้องกอดคอกันอยู่ถึงทุกวันนี้

การออกมาประกาศศึกกับ “ประชาธิปัตย์” นอกจากจะเป็นการ “เอาคืน” เมื่อ “อภิสิทธิ์” เปิดเกมรุกบีบออกอากาศ ขอ “มหาดไทย” และ “พาณิชย์” มาดูแลเอง

ภูมิใจไทยเจ้าของกระทรวงเดิมจึงไม่อาจอยู่นิ่งให้ถูกลูบคมอยู่ได้ ทั้งที่บทบาทสำคัญในการประคับประคองรัฐบาลก็ทำให้อย่างเต็มที่ แม้จะมีเรื่องระหองระแหงไม่กินเส้นกันมาตลอดเวลา

การออกมาพูดเรื่อง “อภิสิทธิ์” จะไม่ได้เป็นนายกฯ ไปจนถึงหยิบยกบรรทัดฐานมา “ดักคอ” ว่าต้องลาออกหากแพ้เลือกตั้ง ไปจนถึงเขย่าฝัน 200 กว่าเสียงของประชาธิปัตย์ว่าเที่ยวนี้ได้แค่ 160 ที่นั่ง จึงเป็นการตอบโต้เอาคืนของภูมิใจไทย

อีกด้านหนึ่งยังแสดงออกให้เห็นว่า “ภูมิใจไทย” กับ “ประชาธิปัตย์” ไม่ใช่เนื้อเดียวกันที่จะร่วมหัวจมท้ายอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ

แน่นอนว่าประเด็นความสัมพันธ์กับประชาธิปัตย์ กลายเป็นประเด็นที่ “ภูมิใจไทย” ถูกกระหน่ำในพื้นที่อีสานระหว่างการหาเสียง การแสดงออกถึงความขัดแย้งกับประชาธิปัตย์จึงเป็นผลดีกับการหาเสียงในพื้นที่ของภูมิใจไทยที่สะบักสะบอมด้วยข้อหาทรยศอยู่แล้ว

การออกมาปรากฏตัวเที่ยวนี้ของ “เนวิน ชิดชอบ” จึงไม่ใช่แค่สีสันเรียกกระแส แต่เป็นจิตวิทยาที่ส่งผลไปทั้งการหาเสียงเลือกตั้ง และการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล