posttoday

สลายขั้ว..ชิงเก้าอี้ไม่มีพันธมิตรในสนามเลือกตั้ง

25 พฤษภาคม 2554

ศึกเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งยังไม่มีการประกาศจับขั้วเป็นพันธมิตรกันเป็นทางการ

ศึกเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งยังไม่มีการประกาศจับขั้วเป็นพันธมิตรกันเป็นทางการ

 
โดย...ทีมข่าวภูมิภาค

ศึกเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งยังไม่มีการประกาศจับขั้วเป็นพันธมิตรกันเป็นทางการ ยกเว้น ภูมิใจไทย (ภท.) กับ ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ทำให้ทุกพื้นที่เลือกตั้งจึงเป็นการช่วงชิงชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร การครองจำนวนเก้าอี้ สส.ให้ได้มากที่สุดเป็นเป้าหมายของทุกพรรค จึงไม่มีการอ่อนข้อให้กันในสนามเลือกตั้งโดยเด็ดขาด แม้พรรคการเมืองที่เคยร่วมรัฐบาลด้วยกันมา ก็เดินหน้าแข่งขันชิงชัยไม่ลดราวาศอก

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ครองจำนวนอดีต สส.ไว้มากที่สุด เป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกพรรคหวังขอส่วนแบ่งมาเพิ่มจำนวนเก้าอี้ให้พรรคตัวเอง

สำหรับภาคเหนือ พื้นที่ซึ่งน่าจับตามากที่สุดเห็นจะเป็น เขต 1 เชียงใหม่ เพราะทั้งประชาธิปัตย์ (ปชป.) และภูมิใจไทย(ภท.) ลุ้นกันตัวโก่งว่าน่าจะแย่งชิงมาได้จากเพื่อไทย (พท.)

พรรคประชาธิปัตย์ทาบทาม วิภาวัลย์ วรพุฒิพงษ์ อดีตรองประธานหอการค้าเชียงใหม่ เป็นผู้สมัคร ขณะที่ ภท.ก็มีดาวเด่นอย่าง บุษบา ยอดบางเตย มาเทียบเคียง แต่สองพรรคที่ต้องชิงคะแนนกันเองจะสู้ฐานคะแนนจัดตั้งอันเหนียวแน่นของ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ แห่ง พท.ได้หรือไม่

 อีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งอดีตพรรคร่วมรัฐบาลแข่งขันกันเองมันส์หยดคือ จ.สุโขทัย บ้านเกิดของ สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา แห่งภูมิใจไทย การวางตัวผู้สมัครที่ล้วนเป็นคนใกล้ชิดไม่อาจตีความเป็นอื่นได้ นอกจากหวังจะกวาดเรียบยกจังหวัด ไม่เหลือให้ ปชป. ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (ชพน.) แม้แต่ที่นั่งเดียว

สลายขั้ว..ชิงเก้าอี้ไม่มีพันธมิตรในสนามเลือกตั้ง

 

ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จับตาพื้นที่ใหญ่สุด จำนวน สส.มากสุด คือ จ.นครราชสีมา มีเก้าอี้ สส.ถึง 15 ที่นั่ง ซึ่งทุกพรรคจ้องตาเป็นมัน 4 พรรคใหญ่ที่ส่งผู้สมัครครบทุกเขต ประกอบด้วย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (ชพน.) นำทีมโดย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) มี วิรัช รัตนเศรษฐ์ นำทีมภูมิใจไทย (ภท.) โดย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดย พ.อ.วินัย สมพงษ์ ส่งผู้สมัครครบทุกเขต แต่ที่เสียงดังสุดคือ บุญจง แห่งภูมิใจไทย ที่มั่นใจกวาดเรียบ 15 ที่นั่ง ขณะที่ ชพน.ซึ่งครองอดีต สส.ไว้มากสุดมั่นใจว่า 10 ที่นั่งนั้นเป็นเป้าหมาย ส่วน พท. ก็ตั้งเป้าไว้ 8 ที่นั่ง

จ.ขอนแก่น ซึ่งมี 11 ที่นั่ง ครั้งก่อนพรรคพลังประชาชนกวาดเรียบ แต่เมื่อยุบพรรคก็แยกออกเป็น พท. และ ภท. ครั้งนี้จึงชิงชัยกันแค่ 2 พรรค

จ.อุดรธานี แม้จะถูกจับตาเป็นสมรภูมิเดือด ในฐานะฐานเสื้อแดงอีสาน ที่พรรคเสื้อสีน้ำเงิน ภท. หวังจะยึดครอง สลายบารมี พท. แต่เนื้อแท้การแข่งขันน่าจะไม่มีปัญหา แม้จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตเลือกตั้งจากพวงใหญ่มาเป็นเขตเดียวคนเดียว แต่ก็ไม่กระทบพื้นที่ฐานเสียงเดิมของอดีต สส.ทุกพรรค แบ่งกันลงตัว

จ.บุรีรัมย์ ที่มั่นหลักสนามวัดบารมีของ ภท. บ้านของพ่อเฒ่า ชัย ชิดชอบอดีตประธานรัฐสภา และโสภณ ซารัมย์แกนนำพรรค ซึ่งมีดีกรีเป็น รมว.คมนาคม ประกาศอย่างมั่นใจว่าจะกวาดเรียบทั้ง 9 ที่นั่ง ซึ่งคงต้องแข่งขันแย่งชิงกันอย่างหนักกับ พท. ที่ประกาศกวาดยกจังหวัดเช่นกัน ขณะที่ ดนัย นพสุวรรณวงศ์ ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. ก็มั่นใจว่าน่าจะแทรกเข้ามาได้สัก 23 ที่นั่ง

ด้านพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา แต่ที่น่าจับตาคือ จังหวัดปริมณฑล อาทิ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งนอกจากคู่ปรับ 2 พรรคใหญ่ ปชป. และ พท.แล้ว ยังเป็นพื้นที่ของชทพ. และครั้งนี้ยังมี ภท. สอดแทรกเข้ามาด้วย จากการดูดอดีต สส.ของ พท. เข้าพรรค

จ.นนทบุรี ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งก่อน เป็นพื้นที่ช่วงชิงกันระหว่าง ปชป. และ พท. แต่เมื่อกลุ่มจันทร์ประสงค์ ย้ายค่ายจาก พท. มาสวมเสื้อสีน้ำเงิน ก็ทำให้สีสันการเลือกตั้งเมืองนนท์ร้อนแรงขึ้น เพราะ ปชป.เองก็คัดสรรผู้สมัคร หวังช่วงชิงพื้นที่ให้มากขึ้น จากเดิมที่ได้เพียง 2 ที่นั่ง

จ.ปทุมธานี 6 เขตเลือกตั้ง เป็นพื้นที่เดิมของ พท. 4 ที่นั่ง และ ชทพ. 2 ที่นั่ง แต่คะแนนครั้งที่ผ่านมาของ ปชป.ก็ไม่น้อย โดยผู้สมัครซึ่งเป็นอดีต สจ.ครั้งนี้ ภท. มาสไตล์เดียวกับ ปชป. คือทาบทามอดีตนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาร่วมทีม มีลุ้นแข่งกันสะท้านเมืองทั้ง 3 พรรค

จ.สมุทรปราการ พื้นที่ยึดครองเบ็ดเสร็จของ พท. ในการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่ครั้งนี้ ภท. ดูด 2 อดีต สส.เพื่อไทย คือ จีรพันธ์ ลิ้มสกุลศิริรัตน์ และนที สุทินเผือก หรือกรุง ศรีวิไล เข้าพรรค ขณะที่ ปชป. ก็มีลุ้นชิงเก้าอี้สูงจากคะแนนครั้งก่อนที่ตามหลังไม่มากนัก โดยครั้งนี้นอกจาก จรูญ ยังประภากร เจ้าของฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ และสรชา วีรชาติวัฒนา อดีตผู้สมัครเดิมแล้ว ยังเสริมด้วย ชินโชติ แสงสังข์ อดีตผู้นำแรงงาน

สนามเลือกตั้งไม่มีขั้ว เก้าอี้เพียง 1 เดียวในเขต คือเดิมพันอนาคตของพรรคว่าจะตกอยู่ฟากไหน รัฐบาล หรือฝ่ายค้าน