posttoday

จังหวะ-กระแสสังคมชี้ขาดโอกาสพรรคเล็ก

24 พฤษภาคม 2554

ท่ามกลางการหาเสียงอย่างเอาเป็นเอาตายของสองพรรคการเมืองใหญ่

ท่ามกลางการหาเสียงอย่างเอาเป็นเอาตายของสองพรรคการเมืองใหญ่

 
โดย...ทีมข่าวการเมือง

ท่ามกลางการหาเสียงอย่างเอาเป็นเอาตายของสองพรรคการเมืองใหญ่ “ประชาธิปัตย์เพื่อไทย” ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวของคู่ปรับตลอดกาลสามารถยึดพื้นที่สื่อไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้ง “อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คู่ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จังหวะ-กระแสสังคมชี้ขาดโอกาสพรรคเล็ก

 

ผลของการประสานงานของช้างสารทำให้หญ้าแพรกอย่างพรรคขนาดกลางและเล็กแหลกลาญไปด้วย เพราะแทบไม่สามารถเบียดพื้นที่สื่อสร้างประเด็นสาธารณะเพื่อสร้างกระแสได้

พรรคขนาดกลางอย่าง ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน อาจจะไม่เป็นปัญหามากนักเพราะยังพอช่วยเรียกร้องความสนใจจากสังคมได้บ้าง แต่สำหรับพรรคเล็กไม่ต้องพูดถึง เพราะหืดขึ้นคอในการได้ สส.เข้าสภาสักคน

อย่างไรก็ตาม โอกาสของพรรคเล็กใช่ว่าจะไม่มีเลยเสียทีเดียวเพราะกติกาการเลือกตั้งที่ได้มีการแก้ไขได้เอื้อให้พรรคเล็กสามารถมี สส.เข้าสภาได้ โดยรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง สส.จากระบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ 400 และสัดส่วนกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่ม 80 คน รวม 480 คน มาเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน รวม 500 คน

กล่าวคือโอกาสของพรรคการเมืองขนาดเล็กอยู่ที่ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องได้เสียงจากประชาชนไว้ที่ 5% ถึงจะนำมาคำนวณเพื่อให้ออกมาเป็นจำนวน สส.ที่ได้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้แก้ไขใหม่ด้วยการตัดเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% ออกไป เท่ากับว่าไม่ว่าพรรคเล็กจะมีขนาดเล็กจะได้คะแนนดิบมากเท่าไหรก็จะถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวน สส.ด้วย

จากตรงนี้เป็นการจุดประกายความหวังให้กับพรรคเล็ก เพราะมีการประเมินว่าถ้าสามารถเรียกคะแนนได้ประมาณ 2.5 แสนขึ้นไปเป็นขั้นต่ำก็น่าจะได้ สส.มานอนกอดอย่างน้อย 1 คน ไม่แปลกที่บรรดาพรรคเล็กตอนนี้เร่งเครื่องหาเสียงอย่างเต็มที่เพื่อเป้าหมายขอส่วนแบ่ง สส.ปาร์ตี้ลิสต์

“พรรครักประเทศไทย” ของชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ นับว่าสร้างความฮือฮาได้พอสมควรเพราะประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านสวนกระแสพรรคอื่นๆ ที่ขอโอกาสเป็นรัฐบาล ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ลูกเล่นของชูวิทย์ในการสร้างกระแสความสนใจ เช่น การไปตั้งโต๊ะแถวรับเรื่องร้องทุกข์ย่านสีลม บุกถึงแอร์พอร์ตลิงก์เพื่อชี้ให้เห็นถึงการไร้ประสิทธิภาพของการบริหารกิจการดังกล่าว

แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การหวังโกยคะแนนเสียงคน กทม. โดยชูวิทย์มีฐานะคะแนนเดิมใน กทม.อยู่แล้วจากการลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2551 ถึง 340,616 คะแนน คิดเป็น 15.79% ทำให้เส้นทางเข้าสภาของพรรครักประเทศไทยมีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

“พรรครักษ์สันติ” ภายใต้การนำทีมของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีต รมว.มหาดไทย แน่นอนว่า ความหวังของพรรคอยู่ที่การใช้ต้นทุนทางสังคมของตัว ร.ต.อ.ปุระชัย เพื่อหวังเสียงจากคน กทม. ซึ่งเคยชมชอบผลงานด้านสังคมสมัยเป็นเจ้ากระทรวงมหาดไทยจนได้รับการขนานนามว่า “มือปราบสายเดี่ยว” พร้อมกับภาพลักษณ์ เป็นคนมือสะอาด และอาจจะเป็นจังหวะสำคัญที่ทำให้ปุระชัยได้เข้าไปนั่งในสภาฐานะสส.บัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค

สำหรับการได้มาซึ่ง สส.เขตของพรรคนี้ค่อนข้างลำบาก โดยมาจากการที่ผู้สมัครของพรรคยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากนักเมื่อเทียบกับการรับรู้ของสังคม ในส่วนเกี่ยวข้องกับปุระชัยจึงมีเสียง สส.ไม่พอที่จะเข้าร่วมรัฐบาล และทำได้ดีที่สุดคงอยู่ที่การปูทางให้มือปราบสายเดี่ยวเข้าสภาเพียงคนเดียวเท่านั้น

ขณะที่ “พรรคพลังชล” และ “พรรคมาตุภูมิ” เป็นสองพรรคการเมืองเล็กที่มีการตั้งเป้าทางการเมืองไว้ที่ สส.ระบบเขตเลือกตั้งมากกว่าระบบบัญชี เป็นเพราะเป็นกลุ่มการเมืองที่มีความเข้มแข็งในฐานเสียงบนภูมิภาคของตัวเองเป็นอย่างดี ทำให้โอกาสได้ สส.ระบบเขตมีมากกว่า

พรรคพลังชล ฐานเสียงสำคัญอยู่ที่ จ.ชลบุรี นำโดย “สนธยา คุณปลื้ม” ซึ่งแตกตัวออกมาจากพรรคภูมิใจไทย เป้าหมายหนีไม่พ้นการกวาด สส.ชลบุรี ยกจังหวัด เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นทางการเมืองกลับให้กับครอบครัวคุณปลื้มหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพลาดท่าสอบตกทั้งหมด โดยโอกาสตอนนี้ถือว่ามีค่อนข้างมากเลยทีเดียว มีสาเหตุการสร้างกระแสผ่านการทำทีมฟุตบอลชลบุรีเอฟซีจนเป็นหนึ่งในมหาอำนาจลูกหนังของเมืองไทย

สำหรับพรรคมาตุภูมิ เป็นอีกพรรคเล็กที่มีฐานเสียงในพื้นที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มวาดะห์ของ “นัจมุดดีน อูมา” เจ้าของพื้นที่ซึ่งไม่ขาด สส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายสมัย อย่างน้อยที่สุดน่าจะมี สส.ติดไม้ติดมือ 23 คนจากปลายด้ามขวานประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นฐานคะแนนสำคัญในการสร้างคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคได้เป็น สส.ด้วย

ขณะเดียวกัน มีลุ้นในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ด้วย หลังจากนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เพิ่งชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ เป็นแรงส่งสำคัญที่จะทำให้อัครวัฒน์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ และนายพูลผล อัศวเหม อดีตสส. สมุทรปราการ เข้าป้ายมาเป็น สส.ได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าโอกาสของพรรคเล็กต่อการได้ สส.เข้ามาประดับในสภามีไม่น้อยเช่นกัน เพียงแต่ขึ้นอยู่กับจังหวะและกระแสในเวลานั้นว่าจะให้โอกาสพรรคขนาดเล็กหรือไม่