posttoday

นายแบงก์...เพื่อไทย โอฬาร ไชยประวัติ

23 พฤษภาคม 2554

เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551

เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ วันนี้เดินเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัวอีกครั้ง ในนามพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำ

ด้วยความคาดหมายว่า หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง นายโอฬารก็คือขุนพลเศรษฐกิจเบอร์หนึ่ง ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม

กว่าจะมาถึงวันนี้ ทั้งนายสมชาย ทั้งปู ยิ่งลักษณ์ และ เจ๊แดง นางเยาวภาวงศ์สวัสดิ์ ต้องจ่ายสตางค์ค่าข้าวไปหลายมื้อ กว่าจะตื๊อนายโอฬารให้เข้ามาร่วมทีมได้สำเร็จ

นายแบงก์...เพื่อไทย โอฬาร ไชยประวัติ

นายโอฬาร ยอมรับว่า ได้อาสาเข้ามาทำงานทางการเมือง เพราะรู้จักมักคุ้นกับนายสมชายมานาน โดยร่วมเป็นบอร์ดในองค์กรหลายแห่ง ตั้งแต่ก่อนจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี 2551

“เราต่างชอบสไตล์การทำงาน และก็ได้หารือกันมาตลอด เมื่อคุณสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีก็เลยบอกว่ามาช่วยกันหน่อย เพราะถูกชะตาการทำงาน เข้ากันได้ความสัมพันธ์ก็เลยมีต่อเนื่องมาจนถึงยุคคุณยิ่งลักษณ์” นายโอฬาร ระบุ

โดยในช่วงที่เข้าไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีปี 2551 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ จึงได้เข้าไปวางกรอบการแก้ปัญหา คิดว่าน่าจะทำให้ลุล่วงไปได้ โดยนึกไม่ถึงว่าจะได้ทำงานแค่ 2 เดือนครึ่งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

“ที่ผมทำงานตอนนั้น 2 เดือนครึ่งคิดว่าเดินมาถูกต้องแล้ว มีการกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นมาก เสียดายที่รัฐบาลกลับนำแนวทางที่ผมวางไว้ไปทำเป็นอย่างอื่น จึงอาสาเข้ามาเพราะคิดว่ามีโอกาสกลับมาทำได้” อดีตรองนายกรัฐมนตรีระบุ

ย้อนกลับไปในช่วงเวลา 2 เดือนครึ่งดังกล่าว แม้การทำงานของนายโอฬารได้รับการสนับสนุนจากนายสมชายอย่างดี แต่กับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลขณะนั้น กลับมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่าขัดแย้งกันค่อนข้างแรง

หนึ่งก็คือ นายไชยา สะสมทรัพย์อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ออกมาโจมตีว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมกับนายโอฬารได้ และจำเป็นต้องส่ง รมช.เข้าไปประชุมแทน เหมือนประหนึ่งว่าพูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว

โดยนายไชยามองว่า นายโอฬารเป็นนายแบงก์ คิดอะไรละเอียดรอบคอบเกิน ขณะที่ตนเองเป็นนักการเมือง ต้องการแก้ปัญหาประชาชนให้รวดเร็ว

ความไม่พอใจของนายไชยามีถึงขนาดที่ออกมาบริภาษผ่านสื่อว่า “ฝากไว้ก่อนเถอะโอฬาร”

อีกคนหนึ่งที่มีข่าวคราวเกาเหลากับนายโอฬาร คือ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง ซึ่งถือเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีความมุ่งมั่น และมีลีลาการพูดจาค่อนข้างแรง

โดยข่าววงในระบุว่าในช่วงนั้นนายสุชาติไม่พอใจเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้งบกลาง 1 แสนล้านบาท พานไม่เข้าร่วมประชุมกับนายโอฬารเช่นเดียวกัน

แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองคนก็ต้องมาทำงานร่วมกันอีกครั้งภายใต้ชายคาพรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมยกร่างนโยบายเศรษฐกิจให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายโอฬาร ยืนยันว่า ไม่เคยมีความขัดแย้งกับนายสุชาติ ทั้งในเรื่องการทำงานในตำแหน่งเมื่อสองปีก่อนรวมถึงในปัจจุบันด้วย

โดยได้มีส่วนร่วมในการระดมสมองนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งทีมหลักๆ ก็จะมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวราเทพ รัตนากร นายสุชาติ และนายพิชัยนริพทะพันธุ์ โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นนโยบายที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และยืนยันว่าประชานิยม เพราะหมายถึงการได้รับเสียงตอบรับจากประชาชน

ขณะที่ทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยยังตรงกับความต้องการส่วนตัวของนายโอฬาร ที่ชอบพรรคการเมืองปฏิรูปหรือหัวก้าวหน้า มากกว่าพรรคการเมืองแบบอนุรักษนิยมอย่างประชาธิปัตย์

นายโอฬาร กล่าวว่า ในโลกนี้มีพรรคการเมือง 2 ประเภท คือ 1.พรรคการเมืองที่ไม่อยากมีการเปลี่ยนแปลง ชอบอำนาจนิยม เช่น ในอังกฤษ มีพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ในสหรัฐมีพรรครีพับลิกัน

2.พรรคที่ชอบการปฏิรูปและหัวก้าวหน้า เช่น พรรคเลเบอร์ของอังกฤษ และพรรคเดโมแครตของสหรัฐ นั่นคือรูปแบบเดียวกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสมาชิกคือฐานรากและชนชั้นกลาง ที่ชอบการปฏิรูป

“เราเป็นพรรคแบบนี้ การดำเนินนโยบายเป็นไปตามฐานสมาชิก ก็คือเพื่อความอยู่ดีกินดี แต่ก็ไม่ใช่วิธีการให้คนชั้นบนต้องเสียสละ ไม่ใช่โรบินฮู้ดโมเดล แต่เราต้องการให้เศรษฐกิจเติบโต ไม่วูบวาบเกินไป” นายโอฬาร ระบุ

สำหรับหลักการของนโยบายเศรษฐกิจฉบับเพื่อไทยก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก ทำให้ประชาชน 80-90% ได้ประโยชน์ หลังจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดปัญหากระจายรายได้ไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรง

“ช่วงปีสองปีนี้การกระจายรายได้กระจุก เกิดปัญหาจนมีเสื้อสีต่างๆแบ่งแยกกันชัดเจน”นายโอฬารระบุ

นายโอฬาร ย้ำว่า ตั้งแต่สมัยที่ทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย และต่อมาที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้พบความจริงว่า โมเดลเศรษฐกิจที่พัฒนาจากข้างบน หรือ “ท็อป ดาวน์” ไม่ได้ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ที่แท้จริง จึงคิดการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่ง คือการพัฒนาจากฐานรากสู่ด้านบน หรือ “บอตทอม อัพ”

“เราคิดว่าทำได้ ในการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่วูบวาบ ไม่ตกต่ำหรือบูมจนทะลุฟ้า ...เรามีข้อสรุปทางเศรษฐศาสตร์ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเริ่มจากข้างล่าง คล้ายๆ กับการต้มน้ำ ที่มาจากข้างล่าง” นายโอฬาร ระบุ

ในช่วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ผลงานสำคัญของนายโอฬาร ก็คือการผลักดันโครงการเอสเอ็มแอล ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถเลือกที่จะลงทุนได้เอง ภายใต้ระบบ 3 5 7 หมายถึงหมู่บ้านขนาดเล็กได้ 3 แสนบาท ขนาดกลางได้ 5 แสนบาท และขนาดใหญ่ได้ 7 แสนบาท

โดยนายโอฬารได้จัดทำเมนูการลงทุนให้คนในชุมชนในพื้นที่เลือกว่าต้องการลงทุนอะไร เช่น บ่อน้ำ ลานตากข้าว หรือยุ้งฉาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำมาหากิน

นายโอฬาร เชื่อว่า การให้ชุมชนตัดสินใจลงทุนเองจะเกิดผลดีมากที่สุด เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีการใช้เงินผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานราชการ ซึ่งมีการคอร์รัปชันอย่างมาก เม็ดเงินที่ไปถึงชุมชนจริงๆ หายไป 30-50%

หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ นายโอฬารประกาศว่าจะกลับมาสานต่อนโยบายเอสเอ็มแอล พร้อมเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านอีกแห่งละ 1 ล้านบาท แต่ก็ไม่ขัดข้องเช่นกันหากจะพ่ายการเลือกตั้ง หรือไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

จากบทบาทของนายแบงก์สู่เส้นทางการเมือง ทำให้ฝีไม้ลายมือของนายโอฬารไม่ธรรมดา และเคยทำให้คู่แข่งสำคัญอย่างประชาธิปัตย์ต้องขาสั่นมาแล้ว

จึงต้องจับตาบทบาทของขุนพลเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งพรรคเพื่อไทยว่าจะทะลวงฟันแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรถ้าได้กลับมาเป็นรัฐบาล