posttoday

จับตาราคาน้ำมันสะดุ้ง สู้เก็งกำไร-ดีมานด์ดิ่ง

13 พฤษภาคม 2554

ราคาน้ำมันโลกเริ่มแสดงอาการสับสนอีกครั้ง ภายหลังเริ่มมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาแทรกแซง

ราคาน้ำมันโลกเริ่มแสดงอาการสับสนอีกครั้ง ภายหลังเริ่มมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาแทรกแซง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ราคาน้ำมันโลกเริ่มแสดงอาการสับสนอีกครั้ง ภายหลังเริ่มมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาแทรกแซง พร้อมกับการแทรกแซงโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไร ยังผลให้ราคาน้ำมันที่ส่อแววจะทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนเมื่อ 3 ปีก่อนอีกครั้ง ครานี้กลับต้องอ่อนแรงลงอย่างฉับพลัน

ช่วงซื้อขายวันที่ 11 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่นตลาดสหรัฐ ราคาน้ำมันทรุดฮวบในคราวเดียวถึง 5.67 เหรียญสหรัฐ ลงมาอยู่ที่ 98.21 เหรียญสหรัฐ และยังปรับลงมาต่ำสุดที่ 97.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง เพราะกระแสวิตกเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่สหรัฐจะยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มใกล้เข้ามา

จับตาราคาน้ำมันสะดุ้ง สู้เก็งกำไร-ดีมานด์ดิ่ง

การยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว และเมื่อเข้าที่เข้าทาง ความต้องการพลังงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคต่างๆ จะเพิ่มขึ้น

ในความเป็นจริงแล้วตลาดน้ำมันเพียงแต่คาดการณ์ไปตามเนื้อผ้า สภาวการณ์ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ดีไม่ดีที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงปฏิกิริยากระเสือกกระสนในระยะสุดท้าย ก่อนที่จะโอบรับสถานการณ์ที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจ

สถานการณ์ที่แท้จริง คือ แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้บ้าง แต่ไม่มีทางที่จะแบกรับราคาน้ำมันที่สูงถึงเพียงนี้ได้อย่างแน่นอน ไม่แต่สหรัฐเท่านั้น นานาประเทศทั่วโลกยังยากที่จะยอมรับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อใดที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคและผู้ผลิตมักจะชี้นิ้วไปที่นักลงทุนที่มุ่งเก็งกำไรราคาน้ำมัน จนปั่นราคาเกินกว่าความเป็นจริง แม้เรื่องนี้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจะเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่โดยหลักการแล้ว หากหาเหตุผลที่น้ำมันแพงไม่ได้ นักเก็งกำไรจะเป็นแพะรับบาปเสมอ

ที่ผ่านมาสหรัฐแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างจัดการขั้นเด็ดขาดกับนักเก็งกำไร และปล่อยปละละเลย เพราะเห็นว่าการเก็งกำไรเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนตามปกติ แม้จะลงทุนหวือหวาไปหน่อยก็ตาม

ครานี้สหรัฐเริ่มเอาจริงกับการโกยกำไรน้ำมันบนความวอดวายของประเทศชาติ ล่าสุด วุฒิสภาสหรัฐเรียกตัวบรรดาผู้บริหารบริษัทน้ำมัน 5 แห่งให้การถึงสาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศพุ่งขึ้นมาถึง 4 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน

ระดับ 4 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน ถือว่าแพงมากสำหรับผู้บริโภคระดับเดินดิน หากเทียบคร่าวๆ กับราคาในตลาดโลก การที่น้ำมันพุ่งขึ้นมาเกิน 4 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน ก็เท่ากับน้ำมันต่อบาร์เรลในตลาดโลกจะมีราคาถึง 110 เหรียญสหรัฐ

ที่สำคัญก็คือ ขณะที่ผู้บริโภคต้องทนกล้ำกลืน บริษัทน้ำมัน 5 แห่งกลับทำกำไรรวมแล้วถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ผลที่ตามมาคือ สภาคองเกรสจะให้ไฟเขียวรัฐบาลยุติมาตรการลดหย่อนภาษีแก่บริษัทน้ำมัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้บริษัทน้ำมันมีรายได้เพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ต้องกดราคาน้ำมันให้ต่ำลงตามคำร้องขอของรัฐบาล คาดว่าบริษัทเหล่านี้จะต้องสูญเสียรายได้จากมาตรการดังกล่าว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มเพื่อลดปัญหางบประมาณขาดดุลอีกถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้จะดูเหมือนเป็นปัญหาเชิงนโยบายภายในสหรัฐ แต่การบีบบริษัทน้ำมันทางอ้อม ถือเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมปัจจัยทางตรงในภาคธุรกิจ ที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น หลังจากที่ล่าสุด บรรดาบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย ประกาศลดปริมาณน้ำมันสำรอง ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันผันผวนหนักขึ้นไปอีก และสหรัฐไม่อาจยื่นมือเข้าไปแทรกแซงได้ เพราะมิใช่บริษัทในสัญชาติ

แต่ประเด็นมิได้อยู่ที่สหรัฐไม่อาจบงการการตัดสินใจของอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดีอาระ…เบียได้หรือไม่ แต่อยู่ที่เหตุใดอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดีอาระเบียจึงพร้อมใจกันจำกัดปริมาณการผลิตกันอย่างพร้อมเพรียงเช่นนี้

อาจมีความเป็นไปได้ที่ซาอุดีอาระเบียจะรู้สึกได้ถึงแนวโน้มที่ความต้องการราคาน้ำมันจะชะลอตัวลง หรือบริษัทซาอุดีอาระเบียอาจระแคะระคายว่า นานาประเทศอาจรวมหัวกันเพื่อกดดันประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือกระทั่งกวาดล้างการเก็งกำไร

เรื่องเฉลยในที่สุดว่า ซาอุดีอาระเบียได้กลิ่นของกระแสความต้องการน้ำมันที่จะปรับลดลงจริง หลังจากที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประกาศลดระดับความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปีนี้ เนื่องจากราคาที่สูงเกินไป บั่นทอนศักยภาพในการซื้อพลังงานของผู้บริโภค

นับเป็นครั้งแรกในปีนี้ที่ IEA ประกาศลดตัวเลขดังกล่าว ซึ่งนับว่าเหนือความคาดหมาย และไม่เหนือความคาดหมาย

ที่ว่าไม่เหนือความคาดหมาย ก็เพราะการปรับตัวเลขเป็นไปตามกลไกของราคา หากราคาแพงผู้บริโภคก็ย่อมไม่สามารถแบกรับได้ จนต้องลดการบริโภคลง โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่ผู้ขับขี่ยานยนต์อาจใช้รถของตนน้อยลงในช่วงฤดูร้อนตามฤดูกาลท้องถิ่น หรือกลางปีนี้ ทั้งที่เป็นช่วงที่มีการใช้พลังงานสำหรับการขับขี่มากที่สุด

แต่ที่เหนือความคาดหมาย ก็คือ ระดับการปรับลดสูงถึง 1.9 แสนบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงกับช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเมื่อปี 2552 ซึ่งช่วงเดือน พ.ค. ของปีนี้ เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะที่ยังไม่แน่นอนว่า จะฟื้นตัวอย่างเต็มที่หรือไม่ เช่นเดียวกับช่วงเดียวกันของปีนี้ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัจจัยลบเกือบทุกภูมิภาค

ตั้งแต่วิกฤตหนี้ในยุโรปที่ล่าสุด กรีซแสดงอาการร่อแร่อีกครั้งที่เอเชียกำลังหนีตายปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อในจีนทะลุ 5% แล้ว ส่วนในสหรัฐยังไม่มีความแน่นอนว่า ทิศทางเศรษฐกิจจะมุ่งไปทางใด

เมื่อบวกกับราคาน้ำมันที่แพงผิดปกติ ยิ่งทำให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกสั่นคลอนอย่างหนัก