posttoday

ปชป.ตีกินเปิดนโยบายไล่เก็บแต้ม?

22 เมษายน 2554

กระโดดลงสนามเลือกตั้งก่อนชาวบ้าน พร้อมออกตัวเอื่อยๆ

กระโดดลงสนามเลือกตั้งก่อนชาวบ้าน พร้อมออกตัวเอื่อยๆ

 
โดย...ทีมข่าวการเมือง

กระโดดลงสนามเลือกตั้งก่อนชาวบ้าน พร้อมออกตัวเอื่อยๆ แบบไม่รีบร้อน ในวันที่คู่แข่งการเมืองกำลังสาละวนกับการผนึกกำลัง จับกลุ่ม รวมขั้ว จนฝุ่นตลบในโค้งสุดท้ายก่อนยุบสภา

“ประชาธิปัตย์” อาศัยข้อได้เปรียบเริ่มต้นด้วยการ “ตีปี๊บ” ผลงานรัฐบาลช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลายเวอร์ชัน ก่อนตามติดด้วยชุดนโยบายล็อตใหม่ที่วางคิวออกอากาศต่อเนื่องถึงเลือกตั้ง ภายใต้สโลแกน “เดินหน้าต่อไป ด้วยนโยบายเพื่อประชาชน”

ปชป.ตีกินเปิดนโยบายไล่เก็บแต้ม?

ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง “เพื่อไทย” ดันมาสะดุดขาตัวเอง ระหว่างเริ่มตั้งลำเตรียมกระโจนสู่สนามเลือกตั้ง จนออกอาการ “ติดหล่ม” ทำท่าจะเข็นไม่ขึ้น

นโยบายล็อตใหม่ที่ดึง “นายห้างตาใบห่อ” มาเป็นจุดขาย ภายใต้แคมเปญ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่จะเปิดตัวในวันเสาร์ที่ 23 เม.ย.นี้ ถูกกลบด้วยข้อหาจาบจ้วงสถาบัน ที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาภายในถึงขั้นทำให้ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไขก๊อกออกจากพรรค

ยังไม่รวมกับปัญหาเดิมๆ เรื่องแคนดิเดตนายกฯ ที่รอ “สัญญาณ” จากนายใหญ่ ว่าจะให้ใครขึ้นมาเสนอตัวชิงเก้าอี้ผู้นำเบอร์หนึ่งแข่งกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จน “ว่าที่แคนดิเดต” หลายคนออกอาการฮึดฮัดจนมาขัดขากันเอง

งานนี้ประชาธิปัตย์จึงค่อยๆ ตีกิน นำเสนอนโยบายแบบไม่มีพรรคใดมาแข่ง

แถมเป็นจังหวะให้เร่งสร้างภาพลักษณ์ สลัดข้อครหาที่ถูกโจมตี ทั้งประเด็นลอกนโยบาย หรือไม่มีนโยบายโดนใจ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะไม่เปรี้ยงปร้าง แต่หลายนโยบายที่ประชาธิปัตย์เลี่ยงว่าไม่ประชานิยม แต่เป็นรัฐสวัสดิการพอจะได้คะแนนนิยมอยู่บ้าง

ทั้งนโยบายตระกูล “ฟรี” น้ำฟรี ไฟฟ้าฟรี รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี การตรึงราคาแก๊ส ที่ต่อยอดมาจากพรรคพลังประชาชนของทักษิณ มาจนถึงผลงานสุดภูมิใจของประชาธิปัตย์ “เรียนฟรีจริง 15 ปี” มาจนถึง “รักษาฟรี” ที่ต่อยอดจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

เรื่อยมาถึงเงินอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ประชาธิปัตย์ผลักดันจนสำเร็จ และการผลักดันขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ครู ทหาร ตำรวจ ล็อตใหญ่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

แต่ที่ทำเอา “เพื่อไทย” หวั่นไหวเป็นพิเศษหนีไม่พ้นชุดของขวัญปีใหม่ส่งตรงไปถึงกลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบ 4 กลุ่ม กว่า 5 ล้านคน ภายใต้โครงการเร่งรัดปฏิบัติการเร่งด่วน

ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ หาบเร่แผงลอย และอาชีพรับจ้างและลูกจ้าง คนทำงานกลางคืน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม

ทว่า ชุดนโยบายต่างๆ ที่ออกมาของรัฐบาลประชาธิปัตย์ หลายเรื่องยังเป็นแค่การตั้งต้น ทิ้งหัวเชื้อ? ยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ว่าปลายทางจะออกดอกผลอย่างไร

ดูไม่ต่างจากการหยิบยื่นรองเท้าให้ข้างเดียวให้ก่อน หากจะหวังได้อีกข้างไปใส่คู่กัน จำเป็นจะต้องเลือก “ประชาธิปัตย์” กลับเข้าไปสานงานต่อ ก่องานใหม่ถึงจะได้นโยบายเหล่านี้

ที่สำคัญ นโยบายหลายตัวซึ่งประชาธิปัตย์เคยประกาศไว้จะเดินหน้าจริงจัง แต่เอาเข้าจริงกลับเพิ่งจะมาผลักดันกันปลายรัฐบาลที่เหลือเวลาทำงานอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์

โดยเฉพาะเรื่องร้อนอย่าง ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ที่เคยเปิดประเด็นมานานนับปี ซึ่งหลายฝ่ายไม่เชื่อว่าประชาธิปัตย์จะกล้าทำ เพราะมี สส.แกนนำ หรือผู้สนับสนุนถือครองที่ดินจำนวนไม่น้อย และก็เป็นจริง ตลอด 2 ปีกว่าที่เป็นรัฐบาลกลับไม่มีความคืบหน้าในนโยบายเหล่านี้

จึงพูดได้ว่า ประชาธิปัตย์ไม่จริงใจ...

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายรัฐบาลประชาธิปัตย์เรียกความสนใจอีกระลอกด้วย ชุดนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นพิเศษ “3 เพิ่ม” คือ 1.เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้เกินวันละ 300 บาท เพิ่มรายได้ 25% ใน 2 ปี 2.เพิ่มรายได้โดยประกันราคาสินค้าเกษตรทุกตัว 3.เพิ่มเงินเดือนให้ลูกจ้างพนักงานบริษัท

เรื่อยไปถึงการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร ทั้งปฏิรูปที่ดินทำกิน มอบโฉนดชุมชนอีก 2.5 แสนครัวเรือน เพิ่มเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 2.5 แสนคน ซึ่งก็โดนใจเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ได้ระดับหนึ่ง

รวมทั้งการขยายประกันสังคมไปถึงเกษตรกรและแรงงานนอกระบบให้ครอบคลุม 25 ล้านคน เพื่อรับเงินชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และบำเหน็จชราภาพ ไปจนถึงผู้สูงอายุหลัง 60 ปี โดยรัฐร่วมสมทบในกองทุนการออมแห่งชาติ

ทั้งหมดกลายเป็นนโยบายหาเสียงหลักในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ ที่มีแต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากภาคธุรกิจและพรรคเพื่อไทยต่างๆ นานาว่า ไม่เน้นสร้างรายได้ เป็นประชานิยมที่เน้นแต่แจก อีกด้านก็มีเสียงชื่นชอบในนโยบายสร้างหลักประกันให้กับแรงงานนอกระบบ

แม้แต่ล่าสุดกับการที่รัฐบาลตัดสินใจตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 30 บาท ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งทำให้รัฐสูญรายได้จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2554 (ก.ย. 2554) 4.5 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดเพื่อยันราคาน้ำมันไว้ที่ลิตรละ 30 บาท ไม่ให้กระทบกับคนรากหญ้าที่ใช้ดีเซล ซึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาแบบการเมืองในช่วงที่ต้องหวังคะแนนเลือกตั้ง

ทว่า เมื่อฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย ยังสาละวนอยู่กับปัญหาเสื้อแดงนำพรรค พรรคนำเสื้อแดง

จึงไม่นำเสนอนโยบายการแก้ปัญหาราคาน้ำมันเป็นทางเลือกมาเปรียบเทียบ ก็ช่วยลดเสียงวิจารณ์ที่มีต่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ลง

งานนี้ต้องรอดูเสาร์ที่ 23 เม.ย.นี้ กับการเปิดตัวลงสนามการเลือกตั้งแบบเต็มตัวของเพื่อไทยว่าจะเปรี้ยงปร้าง ด้วยชุดนโยบายของ “นายใหญ่” อย่างที่โหมโรงเรียกแขกหรือไม่

แต่อย่างน้อยก็ทำให้การเมืองหันมาให้ความสนใจกับ “นโยบาย” กันมากกว่าที่เป็นอยู่