posttoday

เปิดกรุขายสมบัติปั๊มเงินเข้าคลัง

15 เมษายน 2554

ความพยายามรีดหารายได้จากช่องทางอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก หนทางหนึ่งคือการขายสินทรัพย์ของคลังที่มีอยู่ เพื่อหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยให้คล่องมือมากขึ้น

ความพยายามรีดหารายได้จากช่องทางอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก หนทางหนึ่งคือการขายสินทรัพย์ของคลังที่มีอยู่ เพื่อหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยให้คล่องมือมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ภาระรายจ่ายของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่มาจากทั้งนโยบายลดแลกแจกแถมของรัฐบาล และความจำเป็นต้องหาเงินลงทุนพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องหาเงินเข้าประเทศให้ทันเป็นเงาตามตัวไปด้วย

ที่ผ่านมาการหาเงินของกระทรวงการคลังก็ใช้วิธีการดั้งเดิมด้วยการเก็บภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลคาเพิ่ม ฯลฯ เรียกว่าเก็บสารพัดภาษี ซึ่ง 3 กรมภาษีเป็นเครื่องมือหารายได้ที่สำคัญของรัฐบาล

เปิดกรุขายสมบัติปั๊มเงินเข้าคลัง

แต่การเก็บภาษีแบบเดิมๆ ก็ขยายตัวได้ไม่มาก ไม่สามารถโตแบบก้าวกระโดด เพราะติดล็อกการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ที่จะทำให้มีเงินภาษีไหลเข้าประเทศอีกปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากกระทบความเป็นอยู่ของคนมีรายได้น้อย โดยเฉพาะคนรากหญ้า อีกด้านหนึ่งก็อาจจะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนสะดุดล้มลงได้

นอกจากนี้ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และข้อตกลงแบบทวิภาคี หรือเอฟทีเอ ที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่างๆ ก็ทำให้ไทยต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าลงเป็นพันรายการ รายได้ของกรมศุลกากรจึงลดลงอย่างช่วยไม่ได้

ดังนั้น ความพยายามรีดหารายได้จากช่องทางอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก หนทางหนึ่งคือการขายสินทรัพย์ของคลังที่มีอยู่ เพื่อหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยให้คล่องมือมากขึ้น

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในรัฐบาลชุดก่อนๆ ก็มีการดำเนินการกันมาแล้ว และจากประสบการณ์แปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างไม่รอบคอบ ได้เปิดแผลให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ชะงัก เนื่องจากไม่แน่ใจว่าแปรรูปไปแล้วจะเป็นการขายสมบัติชาติไปให้นายทุนเอกชนหรือไม่

ดังนั้น การขายทรัพย์สินโดยการขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ประชาชนได้ร่วมเป็นเจ้าของ ไม่สามารทำได้เหมือนในอดีต เพราะได้รับการต่อต้านจากสหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจเอง รวมถึงประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย

รัฐบาลในรอบ 34 ปีที่ผ่านมา ไม่มีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ออกมาได้ยินเลย เพราะรู้ว่าเป็นของแสลง หากแพลมออกไปทำให้เสียคะแนนนิยมแบบเปล่าๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่มี กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ผู้เป็นกูรูด้านตลาดทุนมาก่อน ก็เห็นว่าช่องทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหลักการที่ถูก แต่ต้องหาวิธีการให้โปร่งใส ไม่เช่นนั้นทำไปแล้วจะมีแรงต้านสะท้อนกลับมา

รมว.คลัง จึงใช้วิธีการละมุนละม่อม ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดแรงต้านและแรงเสียดทานจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและประชาชน

ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่คลังเสนอให้ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่คลังถือหุ้นเกิน 70% ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีหุ้นที่อยู่ในข่ายจะขายเพิ่มได้ 56 หลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท ปตท. (PTT) บริษัท การบินไทย(THAI) บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) บริษัท อสมท (MCOT) และธนาคารกรุงไทย (KTB)

หากดูรายชื่อหุ้น จะเห็นว่าเป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจที่สร้างรายได้ให้คลังเป็นกอบเป็นกำ เมื่อครั้งนำหุ้นเหล่านี้ขายเข้าตลาดครั้งแรกทั้งนั้น

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าหุ้นแต่ละตัวเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนระยะยาว เพราะเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี ให้ผลตอบแทนสูงทุกตัว

ที่เห็นจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ในหุ้นของบริษัท การบินไทย ที่ผ่านมา 12 ปี ผลประกอบการไม่ดี แต่จากการปรับโครงสร้างการบริหาร ยกเครื่องกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ ทำให้ บริษัท การบินไทย ดีวันดีคืนจากทั้งขาดทุน ขาดสภาพคล่อง แต่ตอนนี้กลับสร้างกำไรและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สะท้อนให้เห็นว่าเป็นที่ต้องการของนักลงทุนไม่น้อยหน้าหุ้นตัวอื่น

โอกาสจังหวะนี้ คลังจึงมองว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะขนหุ้นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดี มีอนาคตไกล มาขายหาเงินเข้าประเทศ ได้จำนวนทะลุแสนล้านได้อย่างไม่ยากเย็น ยิ่งสภาพตลาดหุ้นเป็นใจอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกทางหนึ่ง ยิ่งจะทำให้คลังปั๊มเงินจากการขายหุ้นได้เพิ่มขึ้นสูงอีกด้วย

ตอนนี้เหลือเพียงคลังดีดลูกคิดเท่านั้นว่าจะขายหุ้นออกมาในราคาเท่าไรให้ได้กำไรมากที่สุด จะขายหุ้นตัวไหนมากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้กระเทือนตลาดหุ้นโดยรวม และแน่นอนไม่ถูกนำไปโจมตีทางการเมืองว่าขายสมบัติชาติ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดอยู่ในมือของกรณ์หมดแล้ว รอไฟเขียวสั่งเดินหน้าเท่านั้น คลังก็จะสามารถเริ่มปั๊มเงินก้อนใหญ่เข้าประเทศได้ทันที

นอกจากนี้ คลังยังเดินหน้าขายหุ้นยิบย่อยถึง 50 บริษัท ที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือต่อไปอีก เช่น หุ้นใน บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ 5% บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือช่อง 7 ก็ถืออยู่ 4% รวมทั้งหุ้นที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี บางส่วน

ในส่วนนี้คาดว่าจะได้เงินเข้าประเทศ 2,000-3,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็ดีกว่าถือหุ้นเป็นกระดาษอยู่เปล่า ที่สำคัญเงินส่วนนี้จะนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อการซื้อหุ้น เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการลงทุนในกิจการต่างๆ ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าต่อไป

ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่คลังถือหุ้นอยู่อย่างธนาคารทหารไทย ก็อยู่ในแผนที่จะขายให้นักลงทุนต่างประเทศ ในส่วนนี้ก็คาดว่าจะได้เงินไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท ได้อย่างไม่ยากเย็น จากที่ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้น ล้างขาดทุนสะสมหมด สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในรอบ 10 ปี ทำให้ราคาหุ้นของธนาคารทหารไทยเมื่อจะขายก็ได้ราคาแพงขึ้น

อีกด้านหนึ่ง คลังก็พยายามเข็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะนำร่อง บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง บริษัทลูกของ ปตท. ให้ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ตามด้วยบริษัท กรุงไทยแอกซ่า ประกันชีวิต บริษัทลูกของธนาคารกรุงไทย

ในส่วนนี้แม้ว่าคลังจะไม่ได้เงินจากการขายหุ้น แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ทางอ้อม เพราะการพยายามผลักดันบริษัทของรัฐวิสาหกิจที่มีพื้นฐานดีจะสร้างความคึกคักให้กับตลาดหุ้นโดยรวม ทำให้ดัชนีโดยรวมของตลาดวิ่งเพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็จะส่งผลทางอ้อมให้การเลขายหุ้นเพิ่มของคลังได้รับอานิสงส์ราคาดีไปด้วย

ก็ต้องถือว่าในปีที่ผ่านมาคลังเดินหน้าเต็มสูบในการขายทรัพย์สินของประเทศหาเงินมาใช้จ่าย อย่างน้อยก็เป็นน้ำมันก๊อกสองไว้ใช้ชักหน้าให้ถึงหลังไปก่อนในช่วงที่ยังไม่สามารถปรับโครงสร้างภาษีได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ได้