posttoday

ปั่นสินค้าโภคภัณฑ์ เอเชียเตรียมหนี้ท่วม

15 เมษายน 2554

นับเป็นความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ “ครั้งใหญ่” และเป็น “ปัญหาใหญ่” ชนิดที่บรรดา “ขาใหญ่” ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายนั่งไม่ติด

นับเป็นความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ “ครั้งใหญ่” และเป็น “ปัญหาใหญ่” ชนิดที่บรรดา “ขาใหญ่” ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายนั่งไม่ติด

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยเพิ่งดีอกดีใจกับราคาสินค้าเกษตรที่แพงทุบสถิติกันไปหลายต่อหลายรายการว่า ชาวนาชาวไร่คงจะได้ลืมตาอ้าปาก รัฐบาลก็จะได้เงินจากการส่งออกเพิ่มอีกโข

ปั่นสินค้าโภคภัณฑ์ เอเชียเตรียมหนี้ท่วม

ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน “ผลอีกด้าน” ก็ได้ลามสู่คนไทยทั้งประเทศไม่เว้นแม้แต่ชาวนาชาวไร่เอง กับมหกรรมราคาสินค้าแพง เพราะนอกจากสินค้าเกษตรแล้วก็ยังรวมไปถึงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ที่เป็นต้นทุนของสินค้าทั้งหลาย

นับเป็นความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ “ครั้งใหญ่” และเป็น “ปัญหาใหญ่” ชนิดที่บรรดา “ขาใหญ่” ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายนั่งไม่ติด

“ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มอาหารและพลังงาน ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ต่อความพยายามฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” คือข้อความหนึ่งในแถลงการณ์ร่วมของ 4 ประเทศตลาดเกิดใหม่กลุ่มบริก (BRIC) ระหว่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งครั้งนี้มีหนึ่ง S เพิ่มเข้ามาต่อท้ายด้วยคือ แอฟริกาใต้

ผู้แทนทั้งหมด 5 ชาติซึ่งร่วมประชุมกันที่เมืองซันหยา บนเกาะไหหลำ ของจีน เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ต่างเห็นพ้องว่า ควรต้องมีการ “ควบคุมบางอย่างในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า” เพื่อป้องกันความผันผวนเกินไป

พูดง่ายๆ ได้ว่า ทั้งสินค้าเกษตร น้ำมัน และทองคำ กำลังถูกปั่นราคากันอย่างหนักในวันนี้

คนได้ คือนักลงทุนทั้งหัวทองหัวดำรายใหญ่ในตลาด

ส่วนคนเสีย คือเอเชียและตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย ที่ต้องแบกรับกันตั้งแต่ภาคประชาชนยันไปจนภาครัฐ โดยเฉพาะการ “โอบอุ้มพยุงราคาสินค้า” ซึ่งนอกจากจะก่อหนี้เพิ่มแล้ว ยังอาจฉุดให้แต่ละประเทศเผชิญการขาดดุลงบประมาณพุ่งเกินเป้าที่วางไว้ด้วย

บลูมเบิร์กได้อ้างรายงานวิเคราะห์ของธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ว่า อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยแลนด์ของเรา ซึ่งเป็น 4 ประเทศที่อุ้มราคาพลังงานกันมากที่สุดในเอเชียนั้น อาจไม่สามารถจำกัดวงงบประมาณขาดดุลในปีนี้ให้อยู่ในกรอบที่วางไว้เดิมได้ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง

พันธบัตรผลตอบแทนอายุ 10 ปีของอินเดียนั้น ซื้อขายกันสูงสุดในรอบเกือบ 6 สัปดาห์ เช่นเดียวกับที่มาเลเซีย ซึ่งพุ่งไปเกือบถึงระดับสูงสุดเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

แม้แต่จีนที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ก็ยังหน้ามืดจากการนำเข้าน้ำมันและสินค้าเกษตรที่แพงขึ้นมหาศาล เฉพาะในปีนี้น้ำมันแพงขึ้นแล้ว 42% ในตลาดลอนดอน ขณะที่ธัญพืชในตลาดชิคาโกก็คาดว่าพุ่งขึ้น 31% แต่ถึงอย่างนั้นจีนก็ยังต้องนำเข้าถั่วเหลืองมหาศาลในปีนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นสัดส่วนถึง 57 ล้านตัน หรือเกือบ 60% ของการค้าถั่วเหลืองทั่วโลก

“หากราคาน้ำมันยังคงภาวะขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดภาวะเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดตัวหนึ่ง ราคาน้ำมันดิบซึ่งทะยานไปใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ 112 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องขายพันธบัตรเพื่อระดมทุน และดันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วเอเชียให้พุ่งขึ้นตามไปด้วย” เคนเนธ อาคินท์วี ผู้จัดการฝ่ายการเงินจากบริษัทจัดการสินทรัพย์ อเบอร์ดีน กล่าวกับบลูมเบิร์ก

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโอซีบีซี ก็ได้เตือนว่า ปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันแพงได้ขยายตัวกลายเป็นความเสี่ยงขาลงที่น่ากลัวมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยราคาน้ำมันดิบที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะลดจีดีพีลงได้ 0.5–1.2% ต่อปีในหลายประเทศของเอเชียปีนี้

แม้ปัญหาความรุนแรงในตะวันออกกลางโดยเฉพาะลิเบียจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง แต่หลายฝ่ายก็เห็นว่าเป็นราคาที่สูงเกินไปจนเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจของโลก และต้องไม่ลืมว่า โลกเคยมีประสบการณ์น้ำมันแพงทุบสถิติมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งไม่ใช่เพราะปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นการปั่นของนักเก็งกำไรที่หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงในขณะนี้

1 ในประเด็นใหญ่ที่ 5 ประเทศบริกส์เป็นกังวลและส่งสัญญาณเตือนออกมาดังๆ จึงเป็นปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงจนน่าวิตก และความต้องการควบคุมการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของตลาด

ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงยังสะท้อนไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของแต่ละประเทศ อาทิ หุ้นของการบินไทย ที่ร่วงลง 24% ในปีนี้ โดยการบินไทยนั้นมีรายจ่ายค่าเชื้อเพลิงสูงถึง 60% ของรายได้ปฏิบัติการ ขณะที่สายการบินไชนา เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส สายการบินใหญ่สุดอันดับ 2 ในจีนจากมูลค่าตลาด ก็มีมูลค่าร่วงลงถึง 21% เช่นกัน ตรงข้ามกับบริษัทน้ำมันอันดับ 1 ในจีน ปิโตร ไชนา ที่มีรายได้พุ่งขึ้นถึง 14%

ทว่าถึงแม้จะตัดเรื่องน้ำมันแพงออกไป รัฐบาลของแต่ละชาติในเอเชียก็ยังต้องพยุงราคาสินค้า หรือออกมาตรการต่างๆ อาทิ สิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งไม่ได้พยุงราคาน้ำมันเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการให้เงินสดหรือการพักภาษีเพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อยให้สามารถประคองตัวในภาวะข้าวยากหมากแพงได้

และอีกเรื่องที่ลืมไม่ได้ก็คือ “ปัจจัยการเมือง” กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าในประเทศไทย อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซีย ทำให้นักการเมืองไม่สามารถเลิกอุ้มราคาสินค้า อาหาร น้ำมัน หรือถอนโครงการประชานิยมต่างๆ ที่ช่วยเหลือคนกว่า 4,000 ล้านในขณะนี้ได้

การเลิกอุ้มอาจหมายถึงความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้ง แต่หากร้ายแรงกว่านั้น ก็อาจลุกลามไปเป็นการจลาจลของประชาชนในวงกว้าง เหมือนกับในตะวันออกกลางซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาข้าวยากหมากแพง

อุ้ม หรือไม่อุ้ม จึงไม่ใช่ปัญหา เพราะในทางปฏิบัติไม่มีทางให้เลือก

ทางออกจึงน่าจะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุซึ่งหลายประเทศพี่ใหญ่ฝั่งเอเชียเริ่มส่งสัญญาณกระทุ้งดังๆ ให้ได้ยินกันบ้างแล้ว