posttoday

ญี่ปุ่นจมทะเลหนี้ ดูดเกลี้ยงคลังฟื้นประเทศ

01 เมษายน 2554

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมืดแปดด้านกับการแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พยายามช่วยหาทางออกให้อีกแรง

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมืดแปดด้านกับการแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พยายามช่วยหาทางออกให้อีกแรง

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมืดแปดด้านกับการแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พยายามช่วยหาทางออกให้อีกแรง ด้วยการประกาศใช้มาตรการอัดฉีดทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบรรดาธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และเพื่อที่ธนาคารเหล่านั้นจะมีศักยภาพในการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจมากขึ้น

นี่คือความคืบหน้าล่าสุดและอาจเป็นข่าวใหญ่ที่สุด เมื่อพูดถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่น ภายหลังจากการเผชิญกับหายนภัยทางธรรมชาติและวิกฤตนิวเคลียร์ เพราะที่ผ่านมาทั้งประชาชนและนักการเมืองในญี่ปุ่นต่างจับตาไม่ละวาง ว่าเมื่อไรที่ BOJ จะกระโจนเข้ามาร่วมช่วยกู้วิกฤตเสียที และจะช่วยด้วยวิธีการใด

ปรากฏว่า BOJ ยังใช้วิธีการเดิม คืออัดฉีดทุน อันเป็นมาตรการที่นำมาใช้ตั้งแต่ครั้งเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ในช่วง 2 สัปดาห์หลังเกิดภัยพิบัติ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของญี่ปุ่นร้องขอเงินทุนจาก BOJ เป็นเงินรวม 2.6 ล้านล้านเยน ซึ่งเท่ากับสัดส่วน 1.3% ของเงินที่ปล่อยกู้ที่อัดฉีดให้กับเมืองเซนได หลังจากมีบริษัทมากถึง 600 แห่งในเมืองดังกล่าวร้องขอเงินทุนฟื้นฟู

นี่เฉพาะเมืองเซนไดเท่านั้น ยังไม่นับอีกหลายเมืองที่เผชิญกับความเสียหายและสูญเสียยิ่งกว่า

เพราะ Bank of TokyoMitsubishi UFJ ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาเดียวกันมีคำร้องขอกู้เงินเป็นเงินรวมถึง 7 แสนล้านเยน

นั่นไม่เฉพาะแต่ภาคธุรกิจในพื้นที่ประสบภัยเท่านั้นที่ต้องการทุนอัดฉีดอย่างเร่งด่วน แต่ยังรวมถึงธุรกิจทั่วประเทศที่เริ่มเผชิญกับภาวะตีบตันด้านการส่งออกสินค้าและนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สินค้าจากญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธาเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการปนเปื้อนกัมมันตรังสี

ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ คือ บริษัทต่างๆ อาจพบกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนในการบูรณะฟื้นฟู ขาดเงินทุนสำหรับจ่ายค่าแรงและว่าจ้างแรงงานใหม่ ส่วนการเร่งกำลังการผลิตเพื่อเรียกรายได้คืนก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาของลดการใช้กระแสไฟฟ้า

ปัญหาในระยะยาว ยอดขายมีแนวโน้มตกต่ำลง อีกทั้งยังอาจพบกับปัญหาการว่างงานที่รุนแรงขึ้น (ตัวเลขประเมินสำหรับปีนี้อยู่ที่ 4.9% ทว่า เมื่อเดือน ก.พ. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี) แม้ว่าอาจเกิดภาวะที่ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 2 หมื่นราย แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นที่ไม่อาจมองข้าม

ญี่ปุ่นจมทะเลหนี้ ดูดเกลี้ยงคลังฟื้นประเทศ

ปัญหาการว่างงานไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการอัดทุนกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีเงินว่าจ้างแรงงานเพิ่มเติม เพราะปัญหาอยู่ที่ความต้องการทำงานในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ซึ่งในกรณีนี้อาจกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่มีฐานการผลิตใกล้กับชายฝั่งและอุตสาหกรรมประมง อันเป็นหัวใจหลักของภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่น

โดยสรุป คือ ภาคธุรกิจญี่ปุ่นกำลังกลัวเงินขาดมือ และยิ่งกลัวว่า แม้จะได้ทุนมาหนุนการผลิต ก็จะยังไม่สามารถขายสินค้าได้

อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดสภาพคล่องมีปัญหาระยะยาว ทั้งปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาหนี้สาธารณะพอกสุม ซึ่งปัญหาหลังจะสร้างความวิตกให้กับญี่ปุ่นมากกว่าปัญหาแรก

ปัจจุบันหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงกว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 225.80% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก

ล่าสุด รัฐสภาญี่ปุ่นเพิ่งผ่านงบประมาณประจำปี 2554-2555 ซึ่งสูงถึง 92.412 ล้านล้านเยน และจะเริ่มปรับใช้ในเดือน เม.ย.นี้ ยิ่งตอกย้ำให้ภาวะหนี้ของประเทศเลวร้ายลง

ไม่ใช่แค่เงินกำลังเกลี้ยงคลัง แต่ยังอาจชำระหนี้สินไม่ได้ หากนักลงทุนเจ้าหนี้เกิดวิกฤตศรัทธา

แต่ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากระดมทุนครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากภัยพิบัติ และบอบช้ำอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา เฉพาะมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนี้ก็สูงกว่า 25 ล้านล้านเยน กินสัดส่วน GDP ถึง 5%

น่าสนใจว่านานาประเทศไม่มีทางเลือกอื่นเช่นกัน นอกจากช่วยอุ้มชูญี่ปุ่นอย่างถึงที่สุดไปก่อน ซึ่งหนึ่งในมาตรการล่าสุด คือการยินยอมพร้อมใจให้ญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงินได้ เพื่อลดภาระให้กับภาคการส่งออก อันเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจ

หากญี่ปุ่นมีอันเป็นไปเหมือนบางประเทศในยุโรป ระบบเศรษฐกิจโลกยิ่งไร้สมดุล เพราะขณะนี้จีนเริ่มใส่เบรกเพื่อหนี้ภาวะเงินเฟ้อแล้ว

แม้จะมีประเด็นชวนกังขา คือ ขณะที่ G7 ไฟเขียวให้ญี่ปุ่นสามารถบงการค่าเงินเยนได้ โดยกดให้อ่อนค่าลงเพื่อส่งเสริมการส่งออก แต่กลับยิ่งบีบบังคับให้จีนปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำลายการส่งออกของจีน

จีนจะเห็นเป็นเช่นไรกับมาตรฐานที่ต่างกัน คงยังไม่รับทราบได้ชัดเจนในเวลานี้ เพราะอยู่ในการสงวนท่าทีเพื่อร่วมด้วยช่วยญี่ปุ่นจากช่วงเวลาอันทุกข์ยาก และจีนไม่มีเหตุผลใดที่จะขวางกระแสที่เชี่ยวกรากจนเสียผู้เสียคน

การช่วยเหลือญี่ปุ่นเป็นกระแสที่ต้านทานไม่ได้ แม้ว่า G7 หรือ G20 จะต้องเสียเครดิตที่หันไปโอ๋ญี่ปุ่น จนถึงกับทำร้ายจีนทางอ้อมก็ตาม

ล่าสุด ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับลดลงเฉลี่ย 5% ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือน มี.ค. ปรากฏว่ายังสามารถปรับบวกขึ้นมาได้ 0.48%

นับว่ามาตรการแทรกแซงค่าเงินทรงอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในการกระตุ้นความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ

แต่มาตรการดังกล่าวเป็นดาบ 2 คม ที่จะหวนกลับมาทิ่มแทงญี่ปุ่น หากอาการทรุดหนักจนมาตรการกระตุ้นความเชื่อมั่นไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดค่าเงินเยนให้อ่อนลง จะส่งผลต่อปริมาณทุนสำรองในประเทศ และการชำระหนี้สินมูลค่ามหาศาล

ตัวอย่างที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การอัดฉีดสภาพคล่องไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าใดนัก มิหนำซ้ำยังต้องคอยอัดฉีดครั้งแล้วครั้งเล่า จนประชาชนและภาคธุรกิจเกิดความเอือมระอา และหวั่นเกรงว่าในอีกไม่ช้านานญี่ปุ่นจะตกที่นั่งเดียวกับยุโรป ที่บัดนี้จะไม่สามารถสลัดพ้นจากวิกฤตหนี้สาธารณะ

กระทั่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังเตือนไว้เมื่อเดือน ก.พ. ว่า ระดับหนี้สาธารณะและงบประมาณขาดดุลของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ไร้เสถียรภาพ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป

ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นไม่ได้ปล่อยให้วิกฤตหนี้สาธารณะคงที่อีกแล้ว แต่ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง!