posttoday

ธุรกิจประกันสำลักน้ำ

01 เมษายน 2554

ใครจะคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันในภาคใต้จะรุนแรงถึงขั้นคร่าชีวิตประชาชน และทำลายทรัพย์สินอย่างหนักกว่า 3 แสนครัวเรือน

ใครจะคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันในภาคใต้จะรุนแรงถึงขั้นคร่าชีวิตประชาชน และทำลายทรัพย์สินอย่างหนักกว่า 3 แสนครัวเรือน

ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ 50 จังหวัด เมื่อปี 2553 มาหมาดๆ

หายนะครั้งนี้ไม่เพียงแค่รัฐบาลจะต้องหางบประมาณมาชดเชยความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท แต่บริษัทประกันภัยก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ “รับเละ” กับความเสียหายที่เกิดขึ้น

กี่เดช อนันต์ศิริประภา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอกซ่าประกันภัย คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทประกันภัยมากกว่า 2,000 ล้านบาท เพราะน้ำท่วมหนักในเขตเมือง ชุมชน ที่มีการทำประกันชีวิตและทรัพย์สินเกือบทุกครัวเรือน เนื่องจากเคยถูกน้ำท่วมใหญ่มาแล้วถึง 3 ครั้งในรอบ 10 ปี เช่น เกาะสมุย สนามบินไม่เคยถูกน้ำท่วม แต่ครั้งนี้ท่วมหนักไม่สามารถใช้การได้

ทั้งๆ ที่ปี 2553 วงการประกันภัยยังสรุปค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายให้กับผู้ทำประกันไม่ได้ แต่คาดว่าจะมีประมาณ 2,000 ล้านบาท

ณ วันนี้ ประชาชน บริษัทประกันภัย และรัฐบาล จะต้องเริ่มคิดที่จะหันมาบริหารความเสี่ยงจากฤดูกาลที่เปลี่ยนไปจากเดิม และภัยพิบัติที่มีรอบของความถี่บ่อยขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

ประชาชนจะต้องให้ความสำคัญกับการซื้อประกันภัย ประกันชีวิต เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมในแต่ละครั้ง นอกจากจะทำลายเรือกสวนไร่นา บ้าน รถ ที่สะสมมาตลอดชีวิต ยังทำให้เกิดการเจ็บป่วย บาดเจ็บ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากน้ำเชี่ยวกราก ดิน หิน ต้นไม้ถล่มล้มทับ

ธุรกิจประกันสำลักน้ำ

สำหรับประกันภัยที่จะทำงาน หรือให้ความคุ้มครองจากน้ำท่วมในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1.ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเสียชีวิต เจ็บป่วย เมื่อไปหาหมอให้เก็บใบเสร็จรับเงินไว้ และขอใบรับรองแพทย์เพื่อยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

2.ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ถ้าไม่ได้ซื้อแบบที่มีค่ารักษาไว้ด้วย จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้น แต่ถ้าซื้อค่ารักษาไว้ด้วย เมื่อไปหาหมอเรียกร้องค่าเสียหายได้

3.ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 จะคุ้มครองตัวรถที่เกิดจากน้ำท่วมกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าตั้งแต่ 70% ขึ้นไปของมูลค่ารถ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย

“เจ้าของรถประกันชั้น 1 ไม่ต้องกังวล เพราะเงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองอยู่แล้ว แต่ตอนนี้การสื่อสารยังมีปัญหา ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้น บริษัทประกันจึงจะเข้าพื้นที่ได้” พันธ์เทพ ชัยปริญญา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท วิริยะประกันภัย กล่าว

4.ประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่ม และการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจะได้รับความคุ้มครองตามความเสียหายตามที่ระบุไว้ในตัวกรมธรรม์

5.ประกันการเดินทาง ซึ่งเพิ่มเป็นที่นิยามของประชาชน

โดย ผกามาศ จารุเสถียร ผู้อำนวยการธุรกิจภัยพิเศษ บริษัท กรุงเทพประกันภัย อธิบายว่า หากประกันการเดินทาง กรณีเครื่องบินเลื่อนบิน ถ้ายังไม่เดินทางถือว่ายังไม่ได้รับความเสียหาย กรมธรรม์ยังไม่ทำงาน

แต่ถ้าเดินทางไปแล้วและกำลังจะเดินทางกลับแล้วเครื่องบินเลื่อนวัน สามารถโทร.แจ้งบริษัทประกันเพื่อขยายระยะเวลาคุ้มครองได้ หากซื้อความคุ้มครองกรณีสายการบินล่าช้าสามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้

ทั้งนี้ จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แนะนำประชาชนให้ตระหนักว่า ปัจจุบันนี้ภัยทางธรรมชาติร้ายแรง และควรจะซื้อประกันคุ้มครองภัยธรรมชาติ 4 ภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คือ น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว และลูกเห็บ ซึ่งมีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยอยู่ในช่วงระหว่าง 0.015–0.15% ของทุนประกันภัย หรือคิดเป็นค่าเบี้ยประกันภัยประมาณ 15–150 บาทต่อทุนเอาประกันภัย 1 แสนบาท

สำหรับการให้ความรู้ถึงวิธีการดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ทาง คปภ.ในส่วนภูมิภาคได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสบภัยตรวจสอบว่ามีการทำประกันภัยอะไรไว้บ้าง

หากมีความคุ้มครองน้ำท่วมอยู่ด้วย ให้รีบสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สิน โดยเฉพาะรถยนต์ที่มักจะได้รับความเสียหายเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยให้รีบแจ้งบริษัทประกันภัยทราบเพื่อเข้าไปประเมินความเสียหาย

ทั้งนี้ ขอให้แสดงรายละเอียดความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน

ส่วนกรณีเสียชีวิตให้แสดงหลักฐานสำเนาใบมรณบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ

ด้านบริษัทประกันภัยจะต้องเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการจ่ายสินไหมทดแทนและเป็นธรรม ควรจะมีทางลัดในการเรียกร้องค่าสินไหมสำหรับผู้ที่ได้รับภัยพิบัติเป็นการเฉพาะ ไม่ควรจะใช้เกณฑ์เดียวกับการพิจารณาสินไหมทั่วๆ ไป และไม่ควรจะถือเอาสถานการณ์มาแสวงหากำไรจากเบี้ยประกันจนเกินควรด้วย

นอกเหนือจากการลุกขึ้นมาบริหารความเสี่ยงของตัวเอง ซึ่งขณะนี้บริษัทประกันภัยเริ่มมีแนวคิดที่จะจัดทำแผนที่น้ำท่วมใหม่ เพื่อกำหนดเบี้ยประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม

รวมถึงมีแนวคิดจะออกแบบประกันภัยที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับความเสียหายส่วนแรกในพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อยครั้ง หรือแบ่งสัดส่วนในการรับผิดชอบต่อค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้น

หลังจากที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งได้ทำการซื้อประกันภัยต่อจากต่างประเทศเพื่อคุ้มครองกรณีน้ำท่วมโดยเฉพาะเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา

ขณะที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการแก้ปัญหาและเยียวยาจากภัยพิบัติอย่างมั่นคงในระยะยาว เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นมีการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้ประชาชนซื้อหาได้ในราคาไม่แพง หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจ่ายสินไหม และส่วนหนึ่งรัฐบาลสมทบ

โดยเฉพาะการประกันพืชผลเสียหายจากน้ำท่วม ภัยแล้ง จะต้องเร่งให้เกิดโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่แก้ผ้าเอาหน้ารอดปีต่อปี

ปัญหาน้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว ภัยแล้ง เป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐระดับนโยบาย

ขณะที่ประชาชนจะต้องบริหารความเสี่ยงของตัวเอง บริษัทประกันภัยจะต้องหาแบบประกันภัยในราคาที่ชาวไร่ชาวนาซื้อหาได้ มีบริการที่รวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่รู้ว่าครั้งหน้าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่??