posttoday

ภาคการผลิตเอเชีย "ฮ็อต" เปิดวิวาทะ "กระตุ้นต่อ VS ติดเบรก"

03 กุมภาพันธ์ 2553

เศรษฐกิจเอเชียไม่เพียงฟื้นจากภาวะถดถอยอย่างแน่นอนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง

เศรษฐกิจเอเชียไม่เพียงฟื้นจากภาวะถดถอยอย่างแน่นอนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เริ่มสัปดาห์นี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่เอเชีย หลังจากที่หลายประเทศพาเหรดกันประกาศความคึกคักของภาคการผลิต อันเป็นเสมือน “ภาคที่สร้างความมั่งคั่งให้กับระบบเศรษฐกิจ”
นำโดยจีนที่ขยายตัวถึง 57.4 จุด จากเดิม 56.1 จุด เมื่อช่วงเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่คึกคักที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการสำรวจเมื่อเดือนเม.ย. 2547

ขณะที่ภาคการผลิตของอินเดียขยายตัวที่ 57.6 จุด คึกคักที่สุดในรอบ 17 เดือน

พร้อมๆ กันนั้น เกาหลีใต้คึกคักไม่แพ้กัน โดยตัวเลขส่งออกช่วงเดือนม.ค. ขยายตัวอย่างร้อนแรงที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ โดยพุ่งขึ้นมาถึง 47.1% ส่วนตัวเลขส่งออกของอินโดนีเซียในช่วงเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ขยายตัว 23.90%

การขยายตัวอย่างคึกคักของภาคการผลิตในเอเชียมีนัยสำคัญตรงที่เป็นสัญญาณตอกย้ำว่า เศรษฐกิจเอเชียไม่เพียงฟื้นจากภาวะถดถอยอย่างแน่นอนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง

กระนั้นก็ตาม นัยที่สำคัญไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น

เพราะนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า ธนาคารกลางในแถบนี้จะเริ่มใช้มาตรการทางการเงินที่รัดกุมยิ่งขึ้น หลังจากปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำติดดินมานานข้ามปี

อินเดียคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มสัดส่วนทุนสำรองมาอยู่ที่ 5.752% เพื่อลดกระแสทุนในระบบ ซึ่งกำลังหนุนเนื่องเข้าสู่ธุรกิจภาคต่างๆ รวมถึงภาคการผลิต

ปัญหาของการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคการผลิตในช่วงเวลาที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังส่งแรงหนุนอย่างเต็มที่ คือ ภาวะเงินเฟ้อที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ดังกรณีของจีนเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ที่ธุรกิจในภาคการผลิตปรับราคาสินค้ารวดเร็วที่สุดในรอบ 17 เดือน

นี่เหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลจีนจึงไม่ลังเลที่จะชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะกระแสทุนในระบบที่กำลังล้นเอ่อไม่ใช่ความกังวลเพียงประการเดียว แต่ยังรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ

ขณะที่อินเดียเผชิญกับปัญหาในทำนองเดียวกัน

อัตราเงินเฟ้อของอินเดียช่วงเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7.31% จากระดับ 4.78% ช่วงเดือนพ.ย. เฉพาะราคาอาหารในอินเดียช่วงเดือนม.ค. ถีบตัวขึ้นมาถึง 17.28% เทียบกับ 11.48% ของช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ RBI จึงไม่ลังเลที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่นเดียวกับที่จีนไม่ลังเลที่จะชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน

ท่าทีของอินเดียจะยิ่งชัดเจน หากพิจารณาจากถ้อยคำของ ดูวูรี ซูบบาราว ผู้ว่าการ RBI ที่ว่า “มาตรการเชิงนโยบายทั้งหมดของเราในขณะนี้อยู่ในภาวะที่สอดคล้องกับสภาวะวิกฤต มากกว่าที่จะสอดคล้องกับภาวะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสานต่อกระบวนการของการสกัดกั้นภาวะวิกฤต”
คำกล่าวนี้ย่อมหมายถึงการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไม่ต้องสงสัย!

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกประเทศที่รีบร้อนระงับมาตรการทางการเงินแบบยืดหยุ่น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ออสเตรเลีย ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมที่ 3.75% แม้ว่าภาคการผลิตและเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นมาอย่างเหนือความคาดหมายก็ตาม แต่กระนั้นก็ตาม ออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มพัฒนาแล้วที่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย หลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยคลี่คลายลงเมื่อเดือนต.ค. พ.ย. และธ.ค.ปีที่แล้ว

การตัดสินใจแช่ดอกเบี้ยในระดับเท่าเดิมของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ได้รับเสียงตอบรับในด้านบวกจากนักวิเคราะห์ในประเทศ ที่ก่อนหน้านี้เคยรู้สึกไม่ทันตั้งตัวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 เดือนซ้อน แต่การตัดสินใจล่าสุดบ่งชี้ว่า RBA ทราบดีว่าสถานการณ์ช่วงใดและไม่เหมาะกับการขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ออสเตรเลียกลับกังวลกับการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน เพราะเกรงว่าจะพลอยกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของออสเตรเลียในฐานะที่จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 1 ของออสเตรเลีย

คำถามที่สำคัญก็คือ ควรหรือไม่ที่รีบเร่งชะลอความร้อนแรงของบภาคการผลิต เพื่อปิดทางไม่ให้ระดับราคาในตลาดถีบตัวสูงขึ้น?

ทัศนะต่อเรื่องนี้มีอย่างน้อย 2 มุมที่ค่อนข้างขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

ทัศนะแรก เห็นว่าสมควรชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสกัดกั้นผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ อย่างเช่น ภาวะฟองสบู่ หรือภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้น

ทัศนะที่สอง เห็นว่ายังไม่ควรยั้งมือกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะภาวะโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และหากบางประเทศชะลอมาตรการของตน อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ด้วย

พื้นที่ที่กำลังตกอยู่ระหว่างการปะทะของ 2 ทัศนะที่ว่านี้คือ จีน

ขณะที่นักวิเคราะห์ของออสเตรเลียกังวลว่า การชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะกระทบต่อการฟื้นตัวของประเทศอื่นนั้น กลับมีความเห็นที่แตกต่างมาจาก โอเลก เดริปาสกา มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ที่พาบริษัท Rusal เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง และถือเป็นบริษัทรัสเซียบริษัทแรกที่ได้รับโอกาสนั้น

เดริปาสกา กล่าวว่า ที่ชี้ว่านักลงทุนที่กังวลว่ามาตรการติดเบรกกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้น เป็นความกังวลที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงเพียงใด แต่เศรษฐกิจจีนจะยังคงขับเคลื่อนต่อไป พร้อมชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนามีนิยามของปัญหาเงินเฟ้อที่ต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว

ทัศนะของเดริปาสกาสอดคล้องกับความเห็นของ มาร์ก โมเบียส นักลงทุนชั้นแนวหน้า ที่ชี้ว่าจีนทำถูกแล้วที่ใช้มาตรการชะลอตัว เพราะยังดีกว่าบ่มเพาะความเสี่ยง

ไม่ว่าทัศนะต่อความร้อนแรงของเศรษฐกิจเอเชียจะแตกแขนงไปมากมายเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความร้องแรงของภาคการผลิต ได้พิสูจน์แล้วว่าเอเชียกำลังก้าวเข้าสู่โฉมหน้าใหม่ และโฉมหน้าที่ว่านี้คือ การที่เอเชียตกเป็นเป้าความสนใจของทั่วโลก

ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว ที่ต่อไปนี้จะยิ่งกระวนกระวายใจกับทุกความเคลื่อนไหวของเอเชีย