posttoday

โจทย์เก่ารัฐบาลใหม่ ผ่าตัดใหญ่ภาษีที่ดิน

28 มีนาคม 2554

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่กระทรวงการคลังยุค กรณ์ จาติกวณิช

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่กระทรวงการคลังยุค กรณ์ จาติกวณิช

 โดย...ทีมข่าวการเงิน

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่กระทรวงการคลังยุค กรณ์ จาติกวณิช พยายามเดินเครื่องมาเกือบ 2 ปี ขณะนี้ก็ยังลูกผีลูกคน เพราะอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่มีการผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำไป แม้จะใช้ความพยายามในการผลักดันก็ตาม

เท่ากับว่าโอกาสที่ภาษีที่ดินจะผ่านออกมาบังคับใช้ในสมัยประชุมนี้ก็น้อยเต็มที เพราะรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมีการยุบสภาต้นเดือน พ.ค.นี้แล้ว

แม้ว่าขณะนี้กฤษฎีกาได้ส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว และกระทรวงการคลังกำลังออกแรงผลักดันเรื่องเข้า ครม.เพื่อขอมติส่งกฎหมายฉบับดังกล่าวไปบรรจุไว้ในชั้นการพิจารณากฎหมายของที่ประชุมรัฐสภา

 

โจทย์เก่ารัฐบาลใหม่ ผ่าตัดใหญ่ภาษีที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่คงไม่กล้าโละทิ้งกฎหมายฉบับนี้ แต่โจทย์ก็คือกฎหมายฉบับนี้ยังมีโครงร่างเดิมที่ยึดกุมไว้เกือบ 10 ปี ขณะที่นวัตกรรมทางการเงินเดินหน้าไปไกล เนื้อหาบางส่วนอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า โจทย์ใหญ่ของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล คือ การเก็บภาษีที่ดินของไทย ควรพัฒนาขึ้นไปสู่การเก็บ “ภาษีทรัพย์สิน” เพราะปัจจุบันเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในประเทศไทยเก็บสะสมที่ดินในลักษณะของธุรกิจ หรือแลนด์แบงก์ เป็นการถือในรูปบริษัท ไม่ได้ถือครองในนามบุคคล

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินเดิมของกระทรวงการคลัง อาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ หากรัฐบาลออกมาเมื่อไหร่คนที่ลำบากคือคนที่มีที่ดินจำนวนน้อย แต่คนที่อยู่ในภาคธุรกิจจะสามารถดิ้นได้ แปลงไปในรูปทรัพย์สินหรือบริษัทได้ เนื่องจากปัจจุบันทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงการถือครองได้ง่ายมาก ต่างจากยุคก่อนที่ทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงรูปแบบยาก ไม่มีเครื่องมือทางการเงิน ไม่มีตลาดหุ้นเหมือนสมัยนี้

ตีรณ ระบุว่า ในขณะนี้เศรษฐีสามารถเก็บทรัพย์สินทั้งที่เป็นเงินสด เป็นหุ้น เป็นที่ดิน ทำได้หมด หากเดินตามแนวทางเดิมจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้น้อยมาก หรือลดการเหลื่อมล้ำได้แค่บางจุด แต่โครงสร้างใหญ่ทั้งประเทศอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

“ถ้าเก็บภาษีที่ดินโดยไม่คำนึงถึงภาษีทรัพย์สินอื่นๆ คงไม่ได้ กระทรวงการคลังต้องมองทั้งวงจร เช่น เก็บภาษีการถือครองตราสารทางการเงิน ตราสารหุ้น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของคนรวยในปัจจุบันด้วย เพราะคนรวยมากๆ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ถือครองที่ดิน แต่ถือครองตราสารที่แปลงสภาพเป็นเงินได้ และใช้ตัวแทนหรือนอมินีในการถือครองแทนได้ด้วย ทำให้มีการหลบเลี่ยงภาษีได้ไม่ยาก หากกฎหมายตามไม่ทันก็จะขยายฐานภาษียาก” ตีรณ กล่าว

นอกจากนั้น ในอนาคตหากกระทรวงการคลังใช้วิธีเก็บภาษีที่ดินมากๆ คนส่วนใหญ่ที่เคยถือครองในชื่อตัวเองก็จะหันไปถือที่ดินในนามของบริษัทเพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยอ้างว่าไม่ใช่ที่ดินว่างเปล่า แต่เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจมีการปรุงปรุงที่ดินบางส่วนเท่านั้น แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเก็บไว้ใช้เพื่อเก็งกำไร

ดังนั้น การเก็บภาษีเพื่อกระจายรายได้ของรัฐบาล จึงควรในรูปภาษีทรัพย์สินดีกว่า เพราะฐานจะกว้างขึ้น ไม่แคบเหมือนภาษีที่ดินในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาษีโรงเรือนเดิมนั้นเป็นการเก็บที่ค่อนข้างแคบ มีช่องโหว่และข้อยกเว้นในการเก็บสูงมาก

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุด้วยว่า การเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน ต้องคิดอัตราการเก็บที่ไม่ยาก ไม่ซับซ้อนเกินไป อาจมีอัตราเดียว เพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ เพราะการมีหลายอัตราจะทำให้มีการโยก ซึ่งคนโยกก็คือคนรวยคนมีความรู้ คนจนไม่มีปัญญาทำได้ ไม่มีเครื่องมือการเงินที่จะโยก

“คนรวยมีบริษัทที่จะดำเนินการเรื่องที่ดินจำนวนมาก เรียกได้ว่ามีไม่รู้กี่หัวและอาจมีนิติกรรมอำพรางได้” ตีรณ ระบุ

โดยหากเกิดช่องโหว่ในการเก็บภาษีมากๆ สุดท้าย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินก็จะมีฐานรายได้ที่แคบและภาระตกอยู่กับคนจนและคนชั้นกลางต้องจ่ายมากที่สุด

ทั้งนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่กระทรวงการคลังเสนอ กำหนดไว้ว่า จะเก็บภาษีอัตราไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี ซึ่งในที่นี้ ฐานภาษี หมายถึง ราคาประเมินทรัพย์สินทั้งหมด

ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์ เก็บ 0.1% ของฐานภาษี

ด้านอัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการประกอบเกษตรกรรม เก็บไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี

แต่เบื้องต้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีแนวคิดที่จะผ่อนปรนหรือยกเว้นการเก็บภาษีให้เกษตรกรที่มีรายได้น้อย เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาการโจมตีทางการเมืองขึ้น

ตีรณ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีจริงๆ ต้องมีข้อยกเว้นให้น้อยที่สุด ควรเว้นเฉพาะที่อยู่อาศัยของรายเล็กรายน้อยเท่านั้น ขณะที่อาชีพเกษตรกรก็ควรต้องเสียด้วย เพราะจริงๆ แล้วราคาที่ดินของเกษตรกรจะค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว มูลค่าภาษีที่เสียก็จะต่ำไปด้วย

แต่ถ้าเราไปยกเว้นให้เกษตรกร ก็จะมีบรรดานายทุน นักธุรกิจ หรือบริษัทหลีกเลี่ยงภาษีโดยอ้างเรื่องเกษตรกรอีก

สิ่งที่จะเป็นประเด็นปัญหาต่อไปในการเก็บภาษีที่ดินก็คือ เรื่องของการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ เพราะหากกระทรวงการคลังประเมินพื้นที่ใดสูงกว่าความจริง ก็จะสร้างภาระให้ประชาชนในเขตพื้นที่นั้นมาก แต่หากพื้นที่ใดประเมินต่ำ ก็จะทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ภาษีที่ดินควรเก็บตามมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งรัฐบาลต้องมีความพร้อมในการจัดเก็บที่ดี หลังที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีแต่แนวคิด แต่ไม่มีความพร้อมในการจัดเก็บจริง โดยเฉพาะการประเมินราคาที่ดินให้ยุติธรรมตามราคาตลาด หรือใกล้เคียงตลาดให้มากที่สุด

“ผมว่าอาจเป็นเรื่องยากที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ประเมินราคาที่ดินเอง ควรมีระบบประเมินที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิด” ตีรณ วิเคราะห์

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกระทรวงการคลังในขณะนี้ ถือว่ายัง “คิดไม่ครบ” มองไม่รอบด้าน แต่กระทรวงการคลังก็ยังมีเวลาในการปรับปรุง เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน มิ.ย.นี้ เชื่อว่ารัฐบาลที่เข้ามาก็จะผลักดันกฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นกฎหมายที่สร้างประโยชน์ในการพัฒนาประเทศมากกว่าผลลบที่จะเกิดขึ้น

การแก้ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะลดลงได้มากน้อยแค่ไหน ผู้ที่อยู่ในกลไกอำนาจจะต้องทันต่อสถานการณ์ด้วย เพื่ออุดช่องโหว่ที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด!!!