posttoday

ประชานิยม ชี้ขาดผลเลือกตั้ง

24 มีนาคม 2554

นับถอยหลังจากนี้ไปแค่เดือนกว่า ก็ถึงวันยุบสภาตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ ฉะนั้นจากนี้ไปทุกพรรคจึงต้องงัดกลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง

นับถอยหลังจากนี้ไปแค่เดือนกว่า ก็ถึงวันยุบสภาตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ ฉะนั้นจากนี้ไปทุกพรรคจึงต้องงัดกลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง

ทว่าถึงนาทีนี้ ค่อนข้างชัดเจน มีเพียง 2 พรรคใหญ่เท่านั้นที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย

ประชานิยม ชี้ขาดผลเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นอกจากคะแนนจัดตั้ง ตัวบุคคล เสบียงกรังของทั้งสองฝ่ายแล้ว ปัจจัยชี้ขาดสำคัญของชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะ “ประชานิยม” ที่ทั้งสองพรรคโหมนำเสนอกันอย่างหนักหน่วงตลอดมา

เริ่มที่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำรัฐบาล ในปัจจุบันผลิตนโยบายในเชิงลักษณะประชานิยมหลายรูปแบบ บ้างก็เรียกว่า “ประชาวิวัฒน์” “สวัสดิการนิยม” ออกมาเป็นระยะๆ หวังให้คนลืมประชานิยม “ทักษิณ” ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง

ยิ่งเวลาอยู่ในอำนาจเหลือเพียงเดือนกว่า นายอภิสิทธิ์จึงสั่งเหยียบคันเร่งเต็มที่ เพื่อเอาชนะพรรคเพื่อไทยให้ได้

วาระเร่งด่วนที่นายอภิสิทธิ์ประกาศออกไปแล้ว อาทิ คือ 1.เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ด้วยการปรับค่าแรงให้ได้ 25% ภายใน 2 ปี 2.ลดต้นทุนสินค้าแพงด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาค อาทิ เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการด้วยการปรับโครงสร้างภาษีในส่วนของนิติบุคคล ลดต้นทุนด้านการขนส่งจากปัจจุบัน 19% ให้เหลือต่ำกว่า 15% และลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังชูนโยบายขายดีอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเรียนฟรี โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 5 มาตรการ 6 เดือนลดค่าครองชีพ โครงการประกันรายได้เกษตรกร โครงการชุมชนพอเพียง โครงการกองทุนหมู่บ้าน แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

ขณะที่ “นโยบายประชาวิวัฒน์” ภายใต้สโลแกน “ของขวัญ 9 ชิ้น 4 คนไทยเท่าเทียม 5 คนไทยเข้มแข็ง” ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลิตให้ออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ จะเป็นตัวตอกฝาโลงให้ประชาชน เลือกประชาธิปัตย์ เช่น ประกันสังคมถ้วนหน้า (แรงงานนอกระบบ) งบประมาณ 1,500 ล้านบาท สินเชื่อทั่วถึง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และแท็กซี่ หาบเร่แผงลอย การประกาศลดภาระกองทุนน้ำมัน ไฟฟ้าฟรีถาวร และมาตรการปลอดภัยไกลอาชญากรรม

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ต้นตำรับนโยบายประชานิยมนั้น ขณะนี้รอ พ.ต.ท.ทักษิณ ไฟเขียว แต่เบื้องต้นนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมนโยบายพรรคเพื่อไทย ประกาศออกมาเบื้องต้นว่า ได้จัดแบ่งนโยบาย 4 ด้าน คือ 1.นโยบายเศรษฐกิจ 2.นโยบายสังคมและสิ่งแวดล้อม 3.นโยบายความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติ และ 4.นโยบายการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม ซึ่งทุกนโยบายจะเน้น 2 ส่วนสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาปากท้อง และการลดความรู้สึกอัดอั้นตันใจของประชาชนจากปัญหาเรื่องสองมาตรฐานที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดมวลชนคนเสื้อแดง

สำหรับสโลแกนในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย คือ “5 ทันสมัย” คือ 1.ทันสมัย มีกฎหมายดี มีความยุติธรรม 2.ทันสมัย ค้าขายดี ราคาสินค้าเกษตรดี 3.ทันสมัย เทคโนโลยี ค่าแรงดี รายได้สูง 4.ทันสมัย สังคมดี ยาเสพติดหมดไป และ 5.ทันสมัย บ้านเมืองสงบดี คนทั่วโลกมาเที่ยว

ด้านนโยบายแก้ไขปัญหาปากท้องและของแพงหากพรรคได้เป็นรัฐบาล 1.ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทันที 2.ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศภาษีต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุน ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างในประเทศมีรายได้เพิ่ม และเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

3.ลดหนี้สาธารณะ 2 ส่วนสำคัญ คือ หนี้สาธารณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก่อไว้ 1.1 ล้านล้านบาท และสำหรับหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาท จะล้างหนี้ให้หมดภายใน 1 ปี 4.ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเงินเดือนแรกเข้าจะได้รับ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนทุกสาขาอาชีพทันที 5.ข้าวเปลือกราคาเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท พร้อมกับจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ เพื่อกระจายและส่งออกสินค้าเกษตรทุกชนิด

6.ออกโฉนดเอกสารสิทธิพิชิตความยากจน 7.ไม่เก็บภาษีน้ำมัน 8.พักชำระหนี้เงินต้นของประชาชนที่เป็นหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลืออุ้มอัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 5 ปี 8.ติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต WiFi และ Wimax ทั่วประเทศ 9.นำระบบบัตรสมาร์ตการ์ด (Smart Card) ที่ประชาชนสามารถกู้ยืมเงินทางการศึกษา การเกษตร และการรักษาพยาบาลผ่านบัตรใบเดียวได้ ซึ่งรัฐบาลมีข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้หักกลบลบหนี้ช่วยเหลือประชาชนได้อีกด้วย

10.จะพัฒนาทุกภาคและทุกจังหวัดให้มีเมืองหลักเมืองรองโดยสนับสนุนการก่อสร้างวงแหวนรอบนอกและการก่อสร้างศูนย์ราชการเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว 11.เดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.โคราช กทม.หัวหิน กทม.เชียงใหม่ รวมถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิชลบุรีตราด เพื่อขนส่งสินค้าและคมนาคม 12.จัดตั้งธนาคารทรัพย์สินของเกษตรกรและธนาคารเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถกู้เงินและยืมอุปกรณ์ทางการเกษตรได้ เช่น รถไถ รถแทรกเตอร์ เป็นต้น

13.โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) บริเวณ จ.สตูล กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เพื่อการขนส่งน้ำมัน ก๊าซและวางระบบไฟเบอร์ออปติกด้วย และ 14.สร้างศูนย์กระจายสินค้า OTOP ทั้งในประเทศภายใต้สโลแกน “ถูก สะอาด อร่อยดี” ในสินค้าประเภทอาหาร และ “ถูก สวย ทนดี” สินค้าเครื่องใช้ทั่วไป 15.สร้างแหล่งกักเก็บน้ำแก้มลิงและเขื่อนเพื่อกักน้ำและกันน้ำทะเลหนุน และ 16.ติดตั้งระบบพยากรณ์และเตือนภัยพิบัติโดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ซึ่งทางรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม และนับจากนี้ไปทั้งสองพรรคใหญ่คงจะเน้นโฆษณานโยบายประชานิยมชนิดเกทับบลัฟแหลกกันอีกหลายขนาน หวังซื้อใจประชาชน ส่วนนโยบายพรรคใดจะถูกใจประชาชน ผลคงพิสูจน์หลังวันเลือกตั้ง