posttoday

ฝ่า 3 ปมถล่มขุนคลัง

14 มีนาคม 2554

ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มีการปิดห้องคุยลับกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มีการปิดห้องคุยลับกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้จะไม่กลัวกับการอภิปราย แต่ที่ประชุมก็ไม่ไว้วางใจกับผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจที่จะตามมา

ฝ่า 3 ปมถล่มขุนคลัง

โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปัญหาที่ฝ่ายค้านจะลากจูงมาหลายเรื่อง

ประเด็นใหญ่ๆ ที่ กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะโดนมีอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ ปัญหาภาษีนำเข้าบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริส ทุจริตการออกสลากการกุศลพิเศษ และการปั่นหุ้นบริษัท ไทยคม

ในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายค้านมีการเปิดประเด็นและวิ่งหาเอกสารแบบหัวหกก้นขวิด

โดยเฉพาะหลักฐานที่จะสามารถยืนยันเรื่องคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีมีการ “ล็อบบี้” อัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โน้มน้าวให้ยกฟ้องคดี หลังจากที่องค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ มีคำวินิจฉัยว่าบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส สำแดงราคาต่อศุลกากรไทยอย่างถูกต้องแล้ว

โดยสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องการตอกย้ำ คือ การแสดงราคานำเข้าบุหรี่ของฟิลลิป มอร์ริส เป็นการสำแดงราคาต่ำกว่าปกติแน่นอน คือ เพียงแค่ 7 บาทต่อซอง

ขณะที่ราคาขายให้ร้านค้าปลอดภาษีอย่าง คิง เพาเวอร์ อยู่ที่ 27 บาทต่อซอง ส่งผลภาระภาษีบุหรี่ที่ต้องจ่ายต่อกรมสรรพสามิตที่น้อยกว่าความเป็นจริง สุดท้ายรัฐเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2553 เมื่อดับเบิลยูทีโอตัดสินให้ไทยแพ้คดีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ที่กล่าวหาว่าไทยประเมินภาษีนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร จากฟิลิปปินส์สูงกว่าความเป็นจริง

จากปัจจุบันบุหรี่ไทยเสียภาษีตามราคาต้นทุนหน้าโรงงาน ส่วนบุหรี่ต่างชาติเสียภาษีตามราคาต้นทุนนำเข้าที่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศแจ้ง

ที่ผ่านมาฟิลลิป มอร์ริส ดิ้นรนให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยื่นคำฟ้องต่อดับเบิลยูทีโอ ว่ารัฐบาลไทยประเมินภาษีบุหรี่ของบริษัทสูงเกินความจริง ทำให้เสียเปรียบบุหรี่จากโรงงานยาสูบไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่

ขณะที่ กระทรวงการคลัง และ ดีเอสไอ มีความเห็นว่า บริษัท ฟิลิปมอริส แจ้งราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าความจริงเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งดีเอสไอ ได้สืบค้นข้อมูลพบว่า ฟิลิปมอริส แจ้งราคานำเข้าเพื่อเสียภาษีซองละ 7 บาท เพื่อให้เสียภาษีต่ำ ขณะที่บุหรี่มาร์ลโบโร่ที่ฟิลิปมอริส ขายให้คิงส์พาวเวอร์มีราคาอยู่ที่ซองละไม่เกิน 27 บาท ซึ่งเรื่องนี้ทางฟิลิปมอริส แย้งว่าเป็นบุหรี่ที่ผลิตต่างโรงงานกันราคาจึงต่างกัน

ดังนั้นหลังจากกระทรวงการคลังกำหนดราคานำเข้าบุหรี่ที่สูงขึ้นจากที่ฟิลลิป มอร์ริส โดยประเมินภาษีบุหรี่มาร์ลโบโร จากซองละ 7 บาท เป็น 8 บาท เพื่อเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ทำให้ฟิลลิป มอร์ริส ร้องขอรัฐบาลฟิลิปปินส์ฟ้องร้องต่อไทยในเวทีดับเบิลยูทีโอ เพราะถือว่าถูกเลือกปฏิบัติทำให้แข่งขันกับบุหรี่ไทยได้น้อยลง

สุดท้ายไทยแพ้คดีในเวทีโลก เพราะถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากร ในการกำหนดนำเข้าให้สูงขึ้น ผิดต่อหลักการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะหยิบยกขึ้นมาตอบโต้ก็คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคไทยรักไทยก็ดูแลกระทรวงการคลัง เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดการเลี่ยงภาษีขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลที่ทีมที่ปรึกษาตรวจสอบพบว่า การดำเนินคดีนี้ยังหวังผลเรื่องของค่าสินบนนำจับ 25% ซึ่งจะมีการแบ่งกันระหว่างศุลกากรและดีเอสไอ ทำให้มีการเรียกค่าเสียหายฟิลลิป มอร์ริส ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

โดย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า การดำเนินคดีของดีเอสไอในการสืบสวนบางคดีจะมีส่วนในการได้รับเงินสินบนการนำจับตามกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ เช่น คดีภาษีบุหรี่ เป็นเงินของกรมศุลกากรที่จะจ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนช่วยในการทำคดีนี้ โดยเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกรมศุลกากร และเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย

“ถึงแม้ว่าจะมีข้อครหาสินบนนำจับดำเนินคดี เป็นแรงจูงใจให้มีการฟ้องร้องหรือเร่งดำเนินคดี แต่ก็เป็นการนำภาษีที่ไม่ถูกต้องหรือผลประโยชน์ที่ประเทศที่สูญเสียกลับมาเป็นรายได้ของรัฐ ดังนั้นการจ่ายเงินสินบนนำจับ จะทำให้เป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินงาน เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย และแต่ละคดีก็มีข้อเท็จจริงตรวจสอบได้” ธาริต กล่าว

ประเด็นต่อมาที่ฝ่ายค้านจะนำมาถล่มคลัง คือ เรื่องของโควตาสลากการกุศลพิเศษ หรือลอตเตอรี่ จำนวน 6 ล้านฉบับ ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดสรร

โดยฝ่ายค้านเตรียมหยิบจดหมายของศิริราชมูลนิธิ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องในการขอรับความช่วยเหลือเพื่อนำรายได้จากการออกสลากกินแบ่งฯ ไปพัฒนาโรงพยาบาล

โดยจุดหมายของ นพ.เหลือพร ปุณณกันต์ ผู้จัดการศิริราชมูลนิธิ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2553 ที่ส่งไปถึงสำนักงานสลากฯ ระบุถึงความไม่สบายใจเรื่องการฮั้วประมูล และขอร้องว่าอย่าดำเนินการให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของมูลนิธิด้วย

จากการตรวจสอบของฝ่ายค้าน พบว่าโควตาล็อตนี้ 6 หมื่นเล่ม หรือ 6 ล้านฉบับ มีนิติบุคคลได้รับการจัดสรรโควตาจำนวน 3 ราย รายละ 2 หมื่นเล่ม

โดย 3 บริษัท ประกอบด้วย 1.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี 2.บริษัท สลากมหาลาภ และ 3.บริษัท หยาดน้ำเพชร

พบว่าทั้งสามบริษัทดังกล่าว คือเครือข่ายเดิมของกลุ่ม 5 เสือกองสลากฯ ที่เคยถูกยกเลิกโควตาไปตั้งแต่ปี 2548

โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี และบริษัท สลากมหาลาภ เป็นกลุ่มของเจ๊แดงปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต ส่วนบริษัท หยาดน้ำเพชร ของเจ๊สะเรียง หรือ สะเรียง อัศววุฒิพงษ์

ประเด็นที่สาม ที่จะเป็นจุดสลบของกระทรวงการคลังโจมตีกรณ์แบบเต็มๆ ก็คือ เรื่องการใช้อินไซด์ในการปั่นหุ้นบริษัท ไทยคม เจ้าของสัมปทานดาวเทียม

โดยฝ่ายค้านพบว่ามีการไล่ช้อนซื้อหุ้นไทยคมก่อนที่กรณ์และ ศิริโชค โสภา วอลเปเปอร์ของนายกรัฐมนตรี จะออกมาให้ข่าวเรื่องการซื้อหุ้นไทยคมคืนจากกลุ่มเทมาเซก สิงคโปร์

แน่นอนว่า มีความพยายามโยงว่ากรณ์ก็คืออดีตวาณิชธนกรระดับเซียนเหยียบเมฆ จากบริษัท เจ.พี.มอร์แกน และเครือข่ายของกรณ์ยังมีอยู่ในสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ

ไม่ปั่นเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าโดยตรง ก็ใช้นอมินีหรือคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา

3 ปมที่ฝ่ายค้านลับดาบเตรียมไว้เป็นแค่ข้อกล่าวหา บทสรุปคงต้องดูเรื่องของเอกสารว่าจะมัดแน่นแค่ไหน