posttoday

สกัดเงินนอกขย่มบาท คนในชาติเหงื่อตก

02 กุมภาพันธ์ 2553

เมื่อเทียบเคียง “ผลได้ผลเสีย” แล้วน่าขบคิดว่า ยาชุดใหญ่ที่ธปท.เน้นสร้างดีมานด์ซื้อเงินเหรียญสหรัฐขึ้นมาสกัดเงินร้อนจากสหรัฐที่มีดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อเทียบเคียง “ผลได้ผลเสีย” แล้วน่าขบคิดว่า ยาชุดใหญ่ที่ธปท.เน้นสร้างดีมานด์ซื้อเงินเหรียญสหรัฐขึ้นมาสกัดเงินร้อนจากสหรัฐที่มีดอกเบี้ยต่ำ

โดย...ทีมข่าวการเงิน
 
ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการผ่อนคลายระเบียบต่างๆ เพื่อลดแรงกดดันของเงินทุนไหลเข้าจนส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วใน 4 มาตรการ เมื่อวานนี้ได้สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้กับตลาดเงินไม่น้อย

ทั้งนี้ เพราะมาตรการขยายลงทุนโดยตรงในต่างประเทศให้กับนิติบุคคลโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น ถือว่าเป็นการฉีกแนวปฏิบัติของประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนมาใช้ในการสร้างงาน

ถ้าพิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า ผู้ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการนี้จะมีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยไม่ถึง 1,000 ราย ที่อาจได้ประโยชน์ในการนำเงินรายได้ที่เหลือกินเหลือใช้ไปลงทุนสร้างดอกออกผลในต่างประเทศได้

ขณะเดียวกันก็อาจจะมีผู้ส่งออกของไทยกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากการพักเงินไว้เมืองนอก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า รายได้จำนวนเงินปีละ 78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้นกว่า 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นของธุรกิจยักษ์ใหญ่แค่ 2,500 รายเท่านั้น

ที่เหลืออีก 3.54.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้น เป็นกลุ่มบริษัทขนาดกลาง ขนาดย่อม กว่า 5,000 ราย

อีกกลุ่มที่ได้อานิสงส์เต็มๆ หากบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นก็คือ สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ที่สามารถนำเงินคนอื่นไปลงทุนได้ไม่จำกัดเหมือนในอดีต

แต่ข้อเสียที่เกิดขึ้น การเปิดประตูอ้าซ่าให้บริษัทยักษ์ใหญ่นำเงินรายได้ไปลงทุนในต่างประเทศได้ไม่จำกัดนั้น เสมือนเป็นการ“ตอนตัวเอง” ของไทยด้วย
เพราะเงินทุนไหลเข้าสำหรับไทยนั้นสำคัญเสมือน “เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ”

ไม่มีเงินทุนไหลเข้า การขยายกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในธุรกิจต่างๆ ก็ไม่เกิด ไม่มีเงินทุนไหลเข้า การจ้างงานในประเทศก็ลดน้อยถอยลง

มาตรการเปิดประตูน้ำให้ไหลออกเพื่อสกัดเงินบาทแข็งค่า จึงมีผลกระทบข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจไม่น้อยเช่นกัน

แม้ว่าการเปิดให้คนที่มีเงินสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ จะเป็นการสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาทได้ระดับหนึ่ง

เพราะการเปิดประตูให้กว้างขึ้นเท่ากับเป็นการสร้างอุปสงค์ในประเทศให้คะคานกับพลังซัพพลายในต่างประเทศ

และอาจทำให้บรรดาเฮดจ์ฟันด์ นักลงทุน ที่พาเหรดกันหากำไรจากส่วนต่างของ “ดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน” เกิดความรู้สึกหวั่นเกรงได้ว่า อาจพานพบกับการขาดทุนหรือมีกำไรที่ลดลงได้ เพราะพลังอำนาจซื้อในประเทศไม่ได้ขีดเส้นกำกับไว้แล้ว

แต่เมื่อเทียบเคียง “ผลได้ผลเสีย” แล้วน่าขบคิดว่า ยาชุดใหญ่ที่ธปท.เน้นสร้างดีมานด์ซื้อเงินเหรียญสหรัฐขึ้นมาสกัดเงินร้อนจากสหรัฐที่มีดอกเบี้ยต่ำ และเริ่มไหลบ่าทะลักเข้าเอเชียอย่างหนัก หรือที่เรียกว่า “ยูเอส แครีเทรด” จะตรงเป้าหรือได้ผลมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับการงัดกระสุนอาวุธ หรือมาตรการออกมาสกัดไปยังการไหลบ่าขอเงินร้อนโดยตรง
หรือว่าธปท.กลัวว่า ถ้าใช้ยุทธวิธี “Managed Float” หรือการลอยตัวค่าเงินแบบมีการจัดการไปใช้กับ “คนที่นำเงินมาเล่นแร่แปรธาตุ แล้วฟันกำไรจากการขึ้นลงของเงินบาท” นั้น อาจนำมาซึ่งการขาดทุนมหาศาล หากธปท.เข้าต่อกรโดยตรงกับบรรดา “นักเก็งกำไรที่เล่นกับเงิน”

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงมาตรการขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศจากที่เคยอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสรรให้เพียงปีละ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือปีละ 9.95 แสนล้านบาท เป็นปีละ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณปีละ 1.66 ล้านล้านบาท เพิ่มความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย และช่วยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาก็ยิ่งอึ้งกิมกี่

อึ้งกิมกี่ เพราะคาดไม่ถึงว่าประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่ไม่พึ่งพาเงินทุนภายในเพื่อการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจแล้วหรือไร

คาดไม่ถึงว่า ในขณะที่ภาครัฐต้องการกู้เงินจำนวนมหาศาลนั้น เงินในกำลังออกนอก เงินนอกกำลังไหลเข้า

อีกทั้งถ้าพิจารณาข้อมูลเดิมของก.ล.ต. ก็พบว่าลำพังการกำหนดเพดานให้แค่ปีละ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้น บรรดาบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนและสถาบันการเงินก็ยังใช้สิทธิไม่หมด....

ปี 2551 ยอดคงค้างการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ผ่านการอนุมัติของก.ล.ต. มีแค่ 1.27 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น พอถึงสิ้นปี 2552 มีแค่ 2.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนใหญ่ก็ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้

การเปิดอ้าซ่าให้บรรดาบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน สถาบันการเงินสามารถขนเงินออกไปลงทุนใน บอนด์กิมจิบอนด์ออสเตรเลียทองคำไหลออกไปนอกมากมายถึง 1.66 ล้านล้านบาทนั้น แม้จะเป็นการสร้างรายได้ให้งอกเงยขึ้นมา

แต่อาการข้างเคียงที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อไทยในระยะอันใกล้คือ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” จะมาถึงชีวิตคนไทยเร็วกว่ากำหนด...

เพราะสภาพคล่องที่เกิดจากเงินออมของประชาชนที่ไปซื้อหน่วยลงทุนต่างๆ แล้วไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ แทนที่จะมีการนำเงินที่ประชาชนในประเทศออมแล้วนำมาปล่อยกู้ในประเทศนั้นจะนำพาซึ่งปัญหา “สภาพคล่องในประเทศเหือดแห้ง”

เมื่อสภาพคล่องที่ล้นเหลืออยู่ในระบบสถาบันการเงินไทยในปัจจุบันแค่ 8 แสนล้านบาทเหือดแห้งแล้วไซร้ เตรียมเนื้อ เตรียมใจไว้ได้เลยพี่น้องคนไทยเอ๋ย...

โดนบรรดาธนาคารขออนุญาตขึ้นและโขกดอกเบี้ยหูตูบแน่นอน ข้ออ้างคือสภาพคล่องที่แข้งผากมันกดดัน...

ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนั้น ส่วนต่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายของระบบสถาบันการเงินไทยก็สูงลิ่ว 44.5% เห็นได้จากมาร์จินที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งอรรถาธิบายในงบการเงิน
โปรดอย่ายกแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายว่า ระบบการเงินเสรีโดยเด็ดขาด

พิเคราะห์แค่ 2 มาตรการที่เป็นหัวใจหลักของธนาคารกลางของไทยรอบนี้ จะเห็นได้ว่า “การยิงอาวุธชุดใหญ่” เพื่อสกัดกั้นการไหลบ่าของเงินร้อนจนกดดันให้เงินบาทผันผวนนั้น โดนกลุ่มทุนนอกแค่ผิว สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งแค่กำมือเดียว

แต่ผลกระทบข้างเคียงกับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย และคนทำมาหากินในประเทศไทยนั้น ทรงพลังมากมายมหาศาล

มาตรการที่ดีและมีพลานุภาพที่ธปท. ควรขันนอตและกระโจนมาเป็นโต้โผในการต่อสู้กับความร้อนแรงของการผันผวนของเงินบาท อันเป็นผลมาจากการไหลบ่าของเงินนอกสัปดาห์ละเกือบ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค. 2552เดือนม.ค. 2553 คือ การสร้างความคล่องตัวในการทำธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง ด้วยการผ่อนผันให้ผู้นำเข้าส่งออกสามารถยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์ที่ทำขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าสินค้าและบริการได้ทุกกรณี

มาตรการที่ออกมาเช่นนี้ต่างหากที่เป็นการสร้างให้ผู้ประกอบการรู้จักช่วยตัวเอง รู้จักการบริหารงานด้วยตัวเอง เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน และเป็นมาตรการที่หน่วยงานของรัฐออกมาใช้แล้วไม่กระทบกับผู้คนในประเทศ แถมยังทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าลดลง

เพราะการผ่อนคลายดังกล่าวเพื่อให้ผู้นำเข้าส่งออกมีความคล่องตัวในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดเงินตราต่างประเทศให้สามารถสะท้อนปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

เพียงแต่ไม่ค่อยโดนใจผู้ส่งออกและนำเข้าที่ “เสียงดัง” กว่าชาวบ้านตาดำๆ ที่อาจโดนหางเลขจากมาตรการของธปท. เมื่อยามออกฤทธิ์เต็มที่