posttoday

เลื่อนซักฟอก!! ชิงจังหวะหลบเหลี่ยมแดง

07 มีนาคม 2554

ชิงจังหวะกันสุดฤทธิ์กว่าจะมาลงตัวกับดีเดย์ศึกซักฟอกวันที่ 15-18 มี.ค. ปิดฉากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล

ชิงจังหวะกันสุดฤทธิ์กว่าจะมาลงตัวกับดีเดย์ศึกซักฟอกวันที่ 15-18 มี.ค. ปิดฉากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง จนต้องเลื่อนกำหนดการอภิปรายเดิมออกไป 1 สัปดาห์

เลื่อนซักฟอก!! ชิงจังหวะหลบเหลี่ยมแดง

แรกเริ่มเดิมที “ประชาธิปัตย์” ประกาศตัวชัดเจนว่า พร้อมกระโดดสู่เวทีสภาให้ฝ่ายค้านอภิปรายเต็มที่แบบไม่จำกัดเวลา เพราะมั่นใจในฝีปากและข้อมูลหักล้างในมือ หนำซ้ำยังไม่เชื่อน้ำยา “ฝ่ายค้าน” ว่าจะมีหมัดเด็ดน็อกรัฐบาลได้

ยิ่งท่าทีชักเข้าชักออก เดี๋ยวยื่นเดี๋ยวไม่ยื่นของฝ่ายค้านที่เปลี่ยนสไตล์ให้ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” มาเป็นแม่ทัพนำทีมอภิปรายกราด 1 นายกฯ 9 รัฐมนตรี ในเวลา 60 ชั่วโมง ยิ่งไม่สร้างความหนักใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์

ตรงกันข้ามขืนยังยื้อให้การอภิปราย “คาราคาซัง” อย่างนี้ย่อมเป็นเงื่อนไข “ปั่นป่วน” และ “ถ่วงรั้ง” การบริหารงานของรัฐบาลในวันที่เริ่มหาทางลงอย่างสวยงาม หากต้องพลาดพลั้งย่อมฉุดคะแนนนิยม ในจังหวะเช่นนี้ย่อมส่งผลเสียหายมหาศาล ดังนั้นท่าทีตั้งแต่แรกของประชาธิปัตย์คือการ “เคลียร์” ปมอภิปรายให้เสร็จก่อนที่จะมากัดกร่อนความน่าเชื่อถือ

แผนเดิมของ “ประชาธิปัตย์” ตั้งใจว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจงานระดมทุนวันที่ 8 มี.ค. ที่ตั้งเป้าขายโต๊ะตุนเงินขวัญถุงเป็นทุนประเดิมสู้ศึกเลือกตั้ง 600 ล้านบาท ก็จะเปิดให้อภิปรายไม่ไว้วางใจในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 9–12 มี.ค. และลงมติวันที่ 13 มี.ค.

ลงตัวด้วยกันทุกฝ่าย “วิปรัฐบาล” และ “วิปฝ่ายค้าน” ต่างพอใจกับตารางเวลาดังกล่าว จนออกมาแถลงประกาศจุดยืนเป็นข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกัน

ทว่าคล้อยไปไม่กี่วัน “ชัย ชิดชอบ” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาระบุว่า มีปัญหาเรื่องเอกสารการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่หากเป็นตามเหตุผลนี้จริง ก็น่าจะแก้ไขได้ตั้งแต่วันแรกที่ยื่นญัตติไม่น่าปล่อยให้ยืดเยื้อจนญัตติต้องถูกดองข้ามสัปดาห์

แน่นอนว่า “เงื่อนไขแรก” ที่ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนเวลาการอภิปรายออกไปแบบเสียขบวน เนื่องจากการชุมนุมใหญ่ของ “เสื้อแดง” กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่นัดชุมนุมใหญ่ครบรอบ 1 ปี การชุมนุมในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นการชุมนุมครั้งแรกภายหลัง 7 แกนนำได้รับการประกันตัวชั่วคราว

ดังนั้น รัฐบาลย่อมไม่อาจปล่อยให้มีแรงกดดันนอกสภามาซ้ำเติมการอภิปรายในสภา เมื่อชัดเจนว่าหัวข้อการอภิปรายเที่ยวนี้ ฝ่ายค้านตั้งป้อมหยิบยกเรื่องการสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากมาเป็นหนึ่งในเรื่องหลักของการอภิปราย

แถมชัดเจนว่ากระบวนการรับส่งประเด็นการขยายผลการอภิปรายถูกจัดวางยุทธศาสตร์บีบรัฐบาลแบบคู่ขนาน ย่อมทำให้แรงกดดันทวีความรุนแรงมากขึ้น

ที่สำคัญการกำหนดวันลงมติเป็นวันที่ 13 มี.ค. หนึ่งวันหลังจากการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงย่อมสุ่มเสี่ยงอย่างมาก หากพลาดพลั้งเสื้อแดงโหนกระแสนี้ชุมนุมข้ามคืนพร้อมเดินทางมาปักหลักหน้าสภาในวันลงมติ เหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายทั้งการยั่วยุ ปลุกปั่น จนนำไปสู่ความรุนแรงย่อมเป็นผลเสียที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลได้

การตัดไฟตั้งแต่ต้นลมย่อมเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าในภาวะที่อะไรก็เกิดขึ้นได้

เงื่อนไขต่อมาที่ทำให้ต้องเลื่อนการอภิปรายออกไป คือความไม่พร้อมของพรรคภูมิใจไทย ที่เที่ยวนี้รัฐมนตรีโดนยื่นถอดถอนกันเกือบหมดพรรคเหลือเพียงแค่ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ มท.2 คนเดียวที่รอดพ้นคิวอภิปรายเที่ยวนี้

ขณะที่ “รัฐมนตรี” คนอื่นจากภูมิใจไทย ล้วนแต่กลายเป็นเป้าใหญ่ที่ขึ้นแท่นรอถูกถล่มในการอภิปรายเที่ยวนี้ โดยที่ลึกๆ แล้ว หวังผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งภูมิใจไทยจะเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทย

ตั้งแต่ ปู่จิ้น “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” มท.1 ที่พัวพันทั้งเรื่องโยกย้ายข้าราชการ สมาร์ตการ์ด ไปจนถึงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ในกระทรวง ตามมาด้วย “พรทิวา นาคาศัย” รมว.พาณิชย์ กับปมปัญหาเงื่อนงำปัญหาการระบายสินค้า สต๊อกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรทั้งหลาย ทั้งข้าว ข้าวโพด ฯลฯ

ถัดมา “โสภณ ซารัมย์” รมว.คมนาคม กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหัวลำโพงบางแค และบางซื่อท่าพระ ไปจนถึงโครงการ “ถนนไร้ฝุ่น” ทั่วประเทศ และศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กับปัญหาการถือครองที่ดิน 700 ไร่ใน จ.นครพนม

เหล่านี้ทำให้อาจารย์ใหญ่อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” ไม่อาจนิ่งนอนใจในศึกซักฟอกเที่ยวนี้ เพราะหากตั้งรับไม่ดี ชี้แจงตอบโต้ไม่เคลียร์ ย่อมกลายเป็นตราบาปถูกรุมกระหน่ำขยายผลระหว่างการหาเสียงเที่ยวหน้าแน่นอน

เที่ยวนี้จึงต้องขอเวลาอีกนิดหวังรอ “ข้อสอบรั่ว” จากเครือข่ายในเพื่อไทย ที่จัดวางขุมกำลังไว้ล้วงแคะข้อมูลอินไซด์ คอยดูว่ามี “หมัดเด็ด” อะไรบ้างกับการอภิปรายเที่ยวนี้ เพื่อนำไปเตรียมหักล้างข้อมูลในการอภิปราย

ถึงขั้น “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาดักคอว่า ขอให้รัฐบาลเลิกเล่นเกมการเมือง พร้อมยืนยันว่า “ข้อสอบไม่รั่ว” แน่

อีกกระแสยังมองว่าการเลื่อนเที่ยวนี้มาจากสาเหตุส่วนตัวของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปะเหมาะนัดจัดงานระดมทุนในวันเสาร์ที่ 12 มี.ค.นี้ ดังนั้นการอภิปรายที่ยืดเยื้อถึงวันดังกล่าวย่อมส่งผลต่อ “ทุน” ที่จะได้รับจากการระดมเที่ยวนี้ ดังนั้นจำเป็นต้องขอเลื่อนการอภิปรายออกไปก่อน

จนมาถึงเหตุผลเรื่องงานพระราชทานเพลิงศพ แม่ถ้วน หลีกภัย มารดา “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกฯ ที่บรรดานักการเมืองไม่ว่าประชาธิปัตย์ หรือพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่พรรคฝ่ายค้านย่อมต้องลงไปร่วมงานครั้งนี้กันอย่างคับคั่งแน่นอน ดังนั้นถึงจะเป็นเหตุผลที่ตามมาหลังจากตัดสินใจเลื่อนการอภิปรายออกไปก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ช่วยสนับสนุนให้การเลื่อนการอภิปรายมีน้ำหนักเพิ่มมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าการเลื่อนอภิปรายออกไปหนึ่งสัปดาห์ ไม่ได้ส่งผลเสียหายอะไรกับรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ตรงกันข้ามย่อมเป็นผลดีกับการเตรียมข้อมูลให้แน่นหนาเพียงพอกับการชี้แจงมากยิ่งขึ้น ทำให้เวทีนี้กลายเป็นเวทีฟอกตัวของรัฐบาล โดยเฉพาะข้อมูลการอภิปรายที่เริ่มหลุดออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ และกว่าจะถึงการอภิปรายคงมีข้อมูลอื่นๆ ออกมาอีกมากมาย

ยิ่งฝั่งที่เสียเปรียบคือพรรคเพื่อไทยที่จะพลาดโอกาสผนึกกำลังสร้างแรงบีบในและนอกสภากดดันรัฐบาล การเลื่อนอภิปรายครั้งนี้จึงถือเป็นการชิงจังหวะของรัฐบาล ที่รัฐบาลมีแต่ได้กับได้

งานนี้จึงขึ้นอยู่กับ “ฝ่ายค้าน” และ “เสื้อแดง” ว่า จะปรับแผนแก้เกม รับมือการอภิปรายที่ยื้อออกไปเที่ยวนี้อย่างไร เมื่อศึกอภิปรายเที่ยวนี้ถือเป็นอีกโค้งสุดท้าย ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการช่วงชิงจังหวะกอบโกยประโยชน์จากเวทีนี้