posttoday

ตามล่าสายการบินรวมหัว รีดค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง

07 มีนาคม 2554

ด้วยความที่สหรัฐเป็นประเทศทุนนิยมสุดลิ่มทิ่มประตู จึงจริงจังกับการผูกขาดตลาดอย่างยิ่ง หากพบว่าธุรกิจหนึ่งๆ 

ด้วยความที่สหรัฐเป็นประเทศทุนนิยมสุดลิ่มทิ่มประตู จึงจริงจังกับการผูกขาดตลาดอย่างยิ่ง หากพบว่าธุรกิจหนึ่งๆ 

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ด้วยความที่สหรัฐเป็นประเทศทุนนิยมสุดลิ่มทิ่มประตู จึงจริงจังกับการผูกขาดตลาดอย่างยิ่ง หากพบว่าธุรกิจหนึ่งๆ กำลังใช้ความได้เปรียบในด้านการตลาดหรือสถานการณ์แวดล้อม เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหรือคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน ภาครัฐจะยื่นมือเข้ามาตรวจสอบและฟ้องร้องในทันที โดยที่หลายครั้งๆ ไม่รอให้ผู้ที่เสียเปรียบเป็นผู้ชี้ช่อง

ตามล่าสายการบินรวมหัว รีดค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง

กรณีที่โด่งดังที่สุด คือการที่ภาคธุรกิจทั้งในและนอกสหรัฐ ฟ้องร้องบริษัท ไมโครซิฟต์ ที่ใช้การตลาดแพร่ความนิยมในซอฟต์แวร์ ไมโครซอฟต์ ออฟฟิศ จนลูกค้าหลายร้อยล้านคนทั่วโลกกลายเป็นสาวก บิล เกตส์ ไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว และยิ่งปิดทางไม่ให้ธุรกิจซอฟต์แวร์รายอื่นๆ ลืมตาอ้าปากได้ อีกทั้งยังสะกดให้ผู้บริโภคเสพสินค้ากลุ่มเดิมไปโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับตลาดซอฟต์แวร์ถูกผูกขาดสิ้นความเป็นธุรกิจตามระบบทุนนิยมเสรี”

บางธุรกิจใช้สถานการณ์แวดล้อมเป็นข้ออ้างในการเอารัดเอาเปรียบลูกค้า โดยเฉพาะการเรียกค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์แวดล้อมที่ว่านั้น หาใช่ปัจจัยที่จีรัง แต่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ภาคธุรกิจก็ควรลดราคาสินค้าและบริการ และค่าธรรมเนียมเรียกเก็บนั้นเสีย

ภาวะราคาน้ำมันแพงนับเป็นสถานการณ์แวดล้อม “อมตะ นิรันด์กาล” ที่ภาคธุรกิจใช้อ้างเหตุผลของการที่ราคาต้นทุนพุ่งสูงขึ้น จนต้องเรียกเก็บจากผู้บริโภคเอาดื้อๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสายการบิน

บัดนี้ การธุรกิจการบินรวมหัวกันไม่ใช่แค่เรื่องร่ำลือให้เป็นที่ระแคะระคายของผู้บริโภคโดยไม่มีเค้ามูลอีกต่อไป เพราะล่าสุด การปฏิบัติงานโดยฝ่ายสืบสวนสอบสวนการกระทำอันเป็นการผูกขาดตลาด ขึ้นตรงกับสำนักงานอัยการสูงสุด สังกัดกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (DOJ) ได้เปิดเผยรายชื่อ สายการบินที่มีความผิดฐานผูกขาดตลาด โดยใช้สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกแพง เอาเปรียบผู้โดยสารโดยขึ้นค่าโดยสารผ่านค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องช่วงปี 25432549 สำหรับเที่ยวบินเข้า/ออกสหรัฐ

แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาน้ำมันจะแพงขึ้นจริงและแพงอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงเพิ่มเติมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงกับระดับราคาน้ำมันในตลาด อีกทั้งยังเจตนาแอบแฝง เพื่อนำรายได้จากส่วนต่างค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง ไปโปะผลกำไรของสายการบินเหล่านี้ที่เริ่มตกต่ำลง

เป็นมหกรรมดูดค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงขนานใหญ่ เพราะเก็บทั้งเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่ง นับเป็นเม็ดเงินแล้วหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่บางสายการบินถึงกับเพิ่มค่าธรรมเนียมสูงถึง 1,000% จึงนับว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างยิ่ง เพราะช่วงระหว่างปี 25432549 ราคาน้ำมันยังไม่พ้นระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเสียด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ในบรรดาสายการบินทั้ง 21 รายที่อยู่ในบัญชีดำของ DOJ รวมถึงสายการบิน British Airways, Korean Air, Air FranceKLM, Lufthansa, Virgin Atlantic, Cathay Pacific, Airways, Japan Airlines, All Nippon Airways และสายการบิน Qantas

แม้กระทั่ง การบินไทย ยังเคยตกเป็นจำเลยของคดีในทำนองนี้มาแล้ว เมื่อปี 2551 และ 2552 ซึ่งครั้งนั้นตกเป็นจำเลยฟ้องร้องของทั้งภาครัฐและเอกชนของสหรัฐ EU ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม คดีอาญาล่าสุดที่ฟ้องโดย DOJ ไม่ปรากฏรายชื่อของการบินไทยแต่อย่างใด

สำหรับคดีของ DOJ สายการบินบัญชีดำถูกดำเนินคดีและเสียค่าปรับต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เมื่อรวมค่าปรับแล้วสูงถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารบางรายถูกตัดสินจำคุก (โทษ 6 เดือน 2 ราย และ 9 เดือนอีก 2 ราย) และบ้างก็ยังคงหนีคดี (9 ราย) และอีก 15 รายให้รอลงอาญาไว้

ผู้บริหารเหล่านี้ ต้องรับโทษขั้นรุนแรงเนื่องจากไม่ยอมรับสารภาพ ทางการสหรัฐจึงต้องพิพากษาตามกฎหมาย Sherman Antitrust Act ที่บทลงโทษรุนแรงต่อการกระทำอันบั่นทอนกลไกตลาดเสรีและสิทธิผู้บริโภค

แต่หากรายใดให้การรับสารภาพ ทางการสหรัฐจะนิรโทษกรรมให้ เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จนสามารถสืบสาวได้ถึงสมาชิกขบวนการรายอื่นๆ โดยผู้รับสารภาพความผิดรายสำคัญที่สุดคือ สายการบิน Lufthansa ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากกับการแกะรอยขบวนการสมคบคิดเอาเปรียบผู้โดยสาร เพราะหาไม่แล้ว ทางการสหรัฐอาจต้องเสียเวลานานกว่านี้กับการสืบสวนและรีดเค้นความจริงออกมาจากปากบรรดาผู้บริหารสายการบิน

อัยการสหรัฐเปิดเผยว่า การขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงอย่างมีวาระซ่อนเร้น มิได้ทำกันตามลำพังสายการบิน แต่ทำกันเป็นขบวนการ มีการเจรจาต่อรองและ “ฮั้ว” กันอย่างเป็นระบบ โดยที่สำนวนฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุดสหรัฐถึงกับใช้คำว่า Conspiracy หรือ “การสมคบคิด” และถือเป็น Crime หรือ “อาชญากรรม” อย่างหนึ่ง

ไม่เท่านั้น การฟ้องร้องสายการบินทั้ง 21 แห่ง รวมผู้บริหาร 19 ราย นับเป็นหนึ่งในคดีอาญาเกี่ยวกับผูกขาดตลาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

หลักฐานจากการสอบสวนร่วมกันของสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐ (FBI) ครอบคลุมสายการบินในเอเชีย ยุโรป สหรัฐ ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา พบว่า บรรดาผู้บริหารของสายการบินต่างๆ ได้ติดต่อกันด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมลับเพื่อหาหนทางขึ้นค่าธรรมเนียม ซึ่งหนึ่งในหนทางเหล่านั้น รวมถึงการตบแต่งบัญชีให้ดูเหมือนขาดทุนจากราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขึ้นค่าธรรมเนียม

รายงานการสอบสวนยังพบว่า สายการบินในเอเชียใช้วิธีการที่แนบเนียนกว่าในการฮั้วขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นการจัดที่ประชุมลับเฉพาะ การติดต่อทางอีเมล และติดต่อทางโทรศัพท์ อีกทั้งยังมีความพยายามซุกซ่อนและทำลายอีเมลที่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกสายการบินที่ร่วมในขบวนการรวมหัวเอาเปรียบผู้โดยสาร เพราะจากการสอบสวนของอัยการสหรัฐพบว่า ผู้บริหารของสายการบินสัญชาติสหรัฐ 2 ราย คือ วอร์เรน เกอริก จากสายการบิน United Airlines กับ ซาราทูล เอ็ม. จากสายการบิน Northwest Airlines วอล์กเอาต์จากที่ประชุมสายการบินนานาชาติที่จัดขึ้นที่เมืองไทยเมื่อปี 2547 เมื่อผู้บริหารจากสายการบินอื่นๆ เริ่มหารือถึงแผนการกำหนดค่าโดยสารและธรรมเนียมเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันทุกสายการบิน

แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เหตุใดผู้บริหารของสายการบินสหรัฐจึงไม่ผสมโรงกับสายการบินแห่งอื่นๆ (ซึ่งยังผลให้ไม่มีสายการบินสัญชาติสหรัฐระดับ “บิ๊ก” ติดบัญชีดำ 21 สายการบิน) แต่สามารถสันนิษฐานได้ว่า ในฐานะที่คุ้นเคยกับระบอบทุนนิยมเสรีแบบสหรัฐ ที่มีกฎกติกามารยาทชัดเจน สายการบินทั้งสองจึงรับรู้เป็นอย่างดีถึงผลลัพธ์ทางกฎหมายของการละเมิดกฎหมายสหรัฐและนานาประเทศ ว่าด้วยการเอาผิดกับพฤติกรรมผูกขาดตลาด

ผลลัพธ์ที่แน่นอนที่สุดคือค่าปรับ เช่น กรณีของ LG Display บริษัทด้านเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ ที่ครองแชมป์เสียค่าปรับคดีผูกขาดตลาดเมื่อปี 2552 สูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปีเดียวกันนั้น Cargolux Airlines เสียค่าปรับสูงสุดในหมู่ธุรกิจการบิน เพราะต้องควักงบจ่ายไปถึง 119 ล้านเหรียญสหรัฐ

ค่าปรับของการผูกขาดตลาดอาจมากมายถึงหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่คุ้มกับเงินที่รัฐเอาจากผู้โดยสาร และไม่คุ้มกับฐานะทางการเงิน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สายการบิน Singapore Airlines ที่อยู่ในบัญชีดำผูกขาดตลาด ต้องประสบกับภาวะผลกำไรดิ่งลงถึง 29% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2553 (ระหว่างเดือน ต.ค.ธ.ค. 2553) เนื่องจากต้องจ่ายค่าปรับในคดีผูกขาดตลาดเป็นเงินถึง 155.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เฉพาะแค่คดีความกับทางการสหรัฐเท่านั้น ยังตกเป็นจำเลยในคดีเดียวกันกับสหภาพยุโรป (EU) และทางการเกาหลีใต้

มิหนำซ้ำ Singapore Airlines และสายการบินทุกรายต้องถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด (หรือรับผลกรรม) จากราคาน้ำมันที่จู่ๆ แพงขึ้นอีกครั้ง เมื่อตะวันออกกลางกลายเป็นสมรภูมิจลาจล

เมื่อครั้งที่การบินไทยถูกรุมฟ้องรอบด้าน มีความเสี่ยงมากมายยิ่งกว่า Singapore Airlines ไม่เพียงต้องเผชิญกับค่าปรับมหาศาล แต่ยังเผชิญกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ทั้งจากการปิดสนามบินเมื่อไม่กี่ปีก่อน จากราคาน้ำมัน และจากการแข่งขันกับสายการบินรายอื่น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การบินไทยยังเดินหน้าขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุด จะปรับขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 มี.ค.นี้

แม้ว่า การบินไทยจะไม่ใช่สายการบินเดียวที่ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมในช่วงที่ราคาน้ำมันกลับมาแพงขึ้นอีกครั้ง แต่การทำเช่นนั้น ในช่วงเวลาที่การดำเนินคดีฟ้องร้องข้อหาผูกขาดตลาดเริ่มเข้มข้นและขยายวงกว้าง ย่อมส่งผลด้านลบที่รอบด้านมากขึ้น ที่สุด อาจทำให้สายการบินต่างๆ ตกเป็นจำเลยอีกครั้งและอีกครั้ง

ที่สำคัญ ก็คือ ผู้ใช้บริการการขนส่งทางอากาศจะยิ่งเหนื่อยหน่ายใจกับต้นทุนชีวิตด้านการเดินทาง ที่นับวันยิ่งจะแพงขึ้น