posttoday

เปลี่ยนDNAประเทศด้วยเทศาภิวัฒน์ หยุดรัฐประหาร-รัฐล้มเหลว

04 มีนาคม 2554

โดย..ชลธิชา เหลิมทอง

โดย..ชลธิชา เหลิมทอง

เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการจัดงาน “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น  สู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย”  ซึ่งจัดโดย  ที่จัดโดย สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อการปฏิรูป  ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา  ซึ่งงานดังกล่าวเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี นพ.ประเวศ  วะสี  เป็นประธาน
    
โดยที่ประชุมมีข้อสรุป 4 ข้อ เพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเพื่อที่จะส่งต่อให้รัฐบาลไปดำเนินการ รวมถึงเปิดให้พรรคการเมืองที่สนใจนำไปเป็นนโยบายได้  โดยข้อเสนอทั้ง 4 ข้อที่ตกผลึกกันแล้ว  ประกอบไปด้วย 

 

เปลี่ยนDNAประเทศด้วยเทศาภิวัฒน์ หยุดรัฐประหาร-รัฐล้มเหลว

1. ข้อเสนอด้านกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ เพื่อให้มีการปลดล็อคการกระจายอำนาจให้ส่วนกลางคายอำนาจมาให้ท้องถิ่น โดยรัฐบาล คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขกฎ ระเบียบ ประกาศ และ คำสั่ง ที่เป็นอุปสรรคต่อความเป็นอิสระของอปท.ให้หมด  อีกทั้งยังกำหนดให้มี “สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” เพื่อเป็นกลไกสร้างความเป็นเอกภาพให้กับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  และกำหนดอปท.ทุกประเภท   ทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. เขตปกครองพิเศษ จัดบริการสาธารณะได้ตามสถานะการเงินการคลังของตนเองได้   

2. ข้อเสนอด้านการถ่ายโอนภารกิจ   จากส่วนกลาง  กระทรวง กรม กองต่างๆ มาให้กับ  “เจ้าของพื้นที่” หรือ อปท.เป็นผู้บริการสาธารณะแทน เพราะจะสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นได้มากที่สุด  โดยต้องถ่ายโอนให้เสร็จภายในปี 2560  ถ้าไม่ดำเนินการอปท.  จะใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ผลักดัน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

3. ข้อเสนอด้านการเงินการคลังท้องถิ่น  ต้องเพิ่มความเป็นอิสระทางการเงินคลังของอปท.  โดยต้องมีการปรับปรุงฐานภาษีที่มีอยู่เดิม  เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน  และการขยายฐานรายได้ใหม่ๆ ที่จะต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่อปท.เพิ่มขึ้นทุกปี จนให้ได้สัดส่วนไม่น้อยกว่า35%  ภายใน 5 ปี  ขั้นต่ำต้องประกันรายได้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท

4.  ข้อเสนอด้านการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับท้องถิ่น  โดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบและรับรองผลที่เกิดขึ้นมากที่สุด เพื่อวิวัฒน์ประชาชนสู่ความเป็นพลเมืองในที่สุด 
 
ข้อเสนอทั้งหมด เป็นไปตาม แนวทาง “เทศาภิวัฒน์ : ปฏิรูปการบริหารประเทศ “  ที่นำเสนอ โดย นพ.ประเวศ    ที่เห็นว่าประเทศไทยถึงเวลาที่ต้องการอภิวัฒน์ ด้วยการให้พื้นที่เป็นที่ตั้ง เพราะการใช้ กรมบริหารประเทศเป็นตัวตั้งแบบที่ผ่านมาทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐล้มเหลว เพราะมีการรวมศูนย์อำนาจมาที่คนคนเดียว   ส่งผลให้ท้องถิ่นอ่อนแอเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรม   และเกิดคอรัปชั่นอย่างหนัก  กลายเป็นการเมืองที่ไร้คุณภาพ  กลายเป็นระบบธนาธิปไตยด้วยการลงทุนอย่างหนักเพื่อใช้อำนาจรัฐ  ในที่สุดก็เปิดทางให้มีการรัฐประหารได้ง่าย เพราะมีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนไม่กี่คน สามารถยึดได้ง่าย   ดังนั้น การป้องกันการรัฐประหารที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด  คือการกระจาย  เพราะถ้ากระจายไปหมดแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปยึดอำนาจกันที่ไหน

ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ที่โครงสร้าง  ด้วยการกระชับพื้นที่จากข้างล่างขึ้นไปข้างบน  ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะผู้นำเพียงอย่างเดียว เพราะการสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน   ซึ่งมาจากประชาชนชุมชน ท้องถิ่น เพราะถ้าพระเจดีย์สร้างมาจากยอดก็จะพังลงอย่างง่ายดาย    พร้อมอธิบายภาพที่เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่  ว่าจากนี้ไปต้องสร้างเจดีย์จากฐานรากโดยประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย  โดยเริ่มจากการมีสภาผู้นำชุมชนสภาละ 40-50 คน จาก 8 หมื่นหมู่บ้าน  รวมเป็น 4 ล้านคน   รวมตัวกันเป็น “สภาปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ”  โดยหวังว่าจากนี้ไปจะมีนักการเมืองท้องถิ่นที่ประชาชนรู้จักเป็นอย่างดีเข้ามาทำงานการเมืองระดับชาติบ้าง เพื่อล้างการเมืองเก่าให้หมด เป็นการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบนอย่างแท้จริง
 
“  ทั้งหมดนี้จึงมีความหมายต่อการปฏิรูปประเทศไทยมาก หรือจะเรียกว่าการปฏิวัติประชาชน ในรูปแบบใหม่ที่เป็นปฏิวัติเงียบ โดยประชาชนรวมตัวกันให้เกิดพลังสังคม ติดอาวุธด้วยปัญญา  มีความรู้และทำงานได้และใช้สันติวิธี ซึ่งเป็นพลังที่ไม่มีอะไรมาปราบได้เพราะเป็นความถูกต้อง    ที่จะเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลดีเอ็นเอประเทศไทย” 
  
ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับจาก อปท.ที่เข้าร่วมงานสัมมนาที่ไบเทคอย่างกึกก้อง    โดยหวังว่าข้อเสนอทั้งหมดจะได้รับการตอบรับจาก  “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”  นายกรัฐมนตรี   ที่ได้เดินทางมากล่าวสุนทรพจน์ เรื่อง “ความท้าท้ายใหม่ของรัฐบาลต่อการผลักดันชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”    โดยนายกฯ ยอมรับว่าสิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการท้าทายรัฐบาลมาก และไม่รับปากว่าจะทำได้หรือไม่  และเหมือนรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก  โดยย้ำว่าถ้าท้องถิ่นและส่วนกลางทำงานด้วยกันได้  สิ่งที่ท้องถิ่นเรียกร้องน่าจะเป็นไปได้

 

เปลี่ยนDNAประเทศด้วยเทศาภิวัฒน์ หยุดรัฐประหาร-รัฐล้มเหลว

ทั้งนี้นายกฯบอกว่าปัญหา4 ข้อที่ท้าทายรัฐบาลอย่าสลมากเรื่องที่จะผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง คือ 1.  ปัญหาโครงสร้างและกฎหมายซึ่งยังทำให้เกิดข้อจำกัดอยู่มาก   เพราะส่วนกลางยังหวงอำนาจ ทำให้อปท.ไม่มีบทบาทได้เต็มที่  2.   เรื่องการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหาเพราะยังไม่สามารถสร้างกระบวนการยุติธรรมชุมชนเพื่อเป็นทางเลือกในเรื่องการไกล่เกลี่ยในชุมชนได้ 

3.  เรื่องการปฏิบัติรูประบบการเรียนรู้และการศึกษา   ที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ระหว่างจะจุดยืนของรัฐที่อยากให้มีเท่าเทียมกันกับความต้องการของท้องถิ่นที่ต้องการศึกษาสิ่งที่สอดคล้องกับท้องถิ่นมากกว่า   4. ปัญหาระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน     ถือว่ามีความท้าทายมากที่สุด    เพราะมีความขัดแย้งมาก  โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน ที่เจ้าหน้าที่รัฐกังวลว่าถ้าบังคับใช้กฎหมายจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  นำไปสู่การเผชิญหน้ากับประชาชนในพื้นที่ แม้ว่าจะแก้ไขอยู่แต่มีปัญหาตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก 
 
ขณะที่ท่าทีของพรรคการเมืองต่อนโยบายกระจายอำนาจ ก็เล่นเอาตัวแทน อปท. ถึงกับพูดไม่ออก   เมื่อ  “ศุภชัย   ใจสมุทร”  โฆษกพรรคภูมิใจไทย  กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง “ นโนบายพรรคการเมืองต่อการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น “  แม้จะสนับสนุนการ  การกระจายอำนาจในปหระเทศไทยเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐไทยออกมาเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ พร้อมกับมองข้ามช็อตว่า ถ้าอยากมีการกระจายอำนาจจริงๆ ต้องออกแบบรัฐไทยใหม่  ให้จินตนาการง่ายๆว่า ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนกลางจะรับได้หรือไม่   

ประเด็นนี้  ทั้ง “ผ่องศรี ธาราภูมิ”  ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ และ “น.อ. อนุดิษฐ์  นาครทรรพ”   จากพรรคเพื่อไทย  ถึงกับพยักหน้าเห็นด้วยกับโลกแห่งความเป็นจริงนี้ ว่าแม้จะหนุนการกระจายอำนาจ แต่เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯคงยาก อย่างมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ  และเห็นว่า เรื่องนี้ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ขยับตัวเรื่อยๆ  เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะเกิดขึ้นได้จริง
 
พร้อมกับตั้งคำถามย้อนว่ามาหากมีกระจายอำนาจแบบนั้นจริงๆ ประชาชนพร้อมหรือเปล่า   คำถามดังกล่าวทำให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังสัมมนาถึงกลับลุกขึ้นอภิปรายอย่างดุเดือด  ว่าประชาชนพร้อมแล้วแต่นักการเมืองพร้อมหรือยัง   เพราะการกระจายอำนาจที่แท้จริงและถ้านักการเมืองจริงใจจริงๆ งบประมาณ 35% ที่ท้องถิ่นต้องได้นั้น ฝ่ายการเมืองกล้ากระจายมาหรือเปล่า  เอาง่ายๆแค่นั้น  เล่นผู้แทนทั้ง3 พรรคการเมืองถึงกับเงียบไปทีเดียว
 
เมื่อฟังจากทัศนะของฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายแล้วทำให้เห็นว่าแนวทางการสร้างเจดีย์จากฐานประชาชนตามแนวคิดเทศาภิวัฒน์   ของ นพ.ประเวศ  คงจะไม่ง่ายนัก   

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของการจัดงาน  “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น  สู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย”  แต่จะอภิวัฒน์ได้หรือไม่จะหยุดการเมืองล้มเหลวและบรรยากาศเอื้อปฎิวัติรัฐประหารได้หรือเปล่า   คำตอบนี้ไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่ “คนไทย” ทุกคนว่าพร้อมที่  “อภิวัฒน์ประเทศไทย” แล้วหรือยัง