ราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นแบบก้าวกระโดดแทบทุกวัน สุมด้วยภาวะราคาสินค้าแทบทุกหมวดถีบตัวสูงขึ้น พร้อมด้วยเสียงร่ำๆ จากบรรดาประเทศส่งออกถึงภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตร
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
ราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นแบบก้าวกระโดดแทบทุกวัน สุมด้วยภาวะราคาสินค้าแทบทุกหมวดถีบตัวสูงขึ้น พร้อมด้วยเสียงร่ำๆ จากบรรดาประเทศส่งออกถึงภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตร
สารพันสัญญาณรุมเร้า พร้อมฉีกกระเป๋าสตางค์ประชาชนกันทั่วหน้า ที่ราคาสินค้าขึ้นแต่ละทีก็ต้องร้อนถึงรัฐบาลต้องงัดมาตรการเข้าช่วยเหลือ
ไม่เพียงแต่รัฐบาลไทยที่กำลังประโคมโอบอุ้มราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทพลังงาน
มองมุมหนึ่งนี่คือมาตรการช่วยเหลือปากท้องประชาชน เหลียวมองอีกมุมหนึ่งนี่อาจจะไม่ต่างจากมาตรการประชานิยมที่หลายประเทศในโลกอาหรับกำลังพยายาม เพื่อลดความเดือดดาลของประชาชน
สภาวการณ์ระทมเช่นนี้ไม่ใช่บ้านเราเท่านั้นที่กำลังเผชิญอยู่ แต่เกิดขึ้นไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ทำให้เวลานี้จึงเกิดมาตรการการอุดหนุน (Subsidy) จากรัฐบาลไปทั่ว
อินเดียกำลังขยายมาตรการอุ้มดีเซลและก๊าซหุงต้ม
ในอินโดนีเซีย รัฐบาลจาการ์ตายอมแบกทั้งราคาดีเซลและเบนซินแทนประชาชน โดยอนุญาตให้บริษัท Pertaminia และ AKR Corporindo ขายน้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ
เช่นเดียวกับรัฐบาลฮ่องกงที่ปรี่เข้าอุดหนุนค่าไฟ จ่ายเงินให้เปล่ากับผู้สูงอายุในวัยปลดเกษียณ เมื่อภาวะเงินเฟ้อกำลังโหมแรงขึ้นราว 4.5%
ทั้งนี้ แต่ละรัฐบาลในเอเชียมีการใช้มาตรการอุดหนุนแตกต่างกันในเชิงกระบวนการ
เวียดนามส่วนใหญ่แล้วจะจัดตั้งกองทุนเงินชดเชยราคาสินค้าและพลังงาน ขณะที่มาตรการหลักของรัฐบาลปักกิ่งจะเป็นการตั้งเพดานราคา และใช้ความเข้มของภาครัฐเข้าปราบปรามการขายสินค้าที่เกินกว่าราคาที่ตั้งไว้
ส่วนอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบังกลาเทศ มีกลยุทธ์หลักในการบริหารจัดการราคาสินค้า รวมทั้งราคาน้ำมันที่คล้ายคลึงกัน คือ การจัดสรรงบประมาณประจำปีเพื่อใช้สำหรับมาตรการอุดหนุนโดยเฉพาะ
ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว แต่ละประเทศจะเลือกเข้าอุ้มสินค้าชนิดใดและกลุ่มใด ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาในแต่ละประเทศ
ทว่า การที่ทุกประเทศในเอเชียตบเท้าพร้อมเพรียงใช้มาตรการอุดหนุนนั้น ไม่ได้หมายความว่ามาตรการดังกล่าวจะเปี่ยมประสิทธิภาพเสมอไป
ประการแรก ต้องยอมรับว่ามาตรการอุดหนุนอาจจะเป็นทางออกหนึ่ง แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หนำซ้ำเป็นเพียงนโยบายซื้อเวลาแบบชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยังผลถึงการถอนรากถอนโคนของปัญหา
ประการที่สอง รัฐบาลหลายประเทศเลือกใช้มาตรการอุดหนุนเพื่อเลี่ยงความเคลื่อนไหวในด้านอื่นๆ ที่คาดว่าจะสร้างความบอบช้ำมากกว่า อาทิ เลี่ยงการขึ้นดอกเบี้ย เพราะอาจจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ประการที่สาม รัฐบาลหลายประเทศอาจจะตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการใช้มาตรการอัดเงินอุดหนุนไม่น้อย
ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการปล่อยให้ราคาสินค้าหรือพลังงานลอยตัว ก็ไม่ต่างจากการเหนี่ยวไกปืน ไม่วันใดก็วันหนึ่งความวุ่นวายทางสังคมก็จะปรากฏขึ้น เฉกเช่นการจลาจลในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นตัวอย่าง
แต่ไม่ว่าจะ “อุ้ม” ในด้านใด รัฐบาลประเทศนั้นๆ ก็ต้องแลกมาด้วยการเจ็บตัวจากการแล่เนื้อตัวเอง
กูรูทางเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่ามาตรการอุ้มของรัฐควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่รัฐบาลจะหยิบมาใช้ เมื่อประเทศต้องประสบภาวะราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น เนื่องจากยิ่งอุ้มก็ยิ่งต้องผลาญงบประมาณมหาศาล
อันเป็นการขยายฐานของภาวะการขาดดุลงบประมาณให้รุนแรงมากขึ้นไปอีก
ยิ่งรัฐบาลบางประเทศกู้ตรงนั้นมาโปะตรงนี้ อาจจะชักหน้าไม่ถึงหลังเอาง่ายๆ
อย่างเช่นรัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าต้องใช้เงินราว 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปกับมาตรการอุดหนุน
ยิ่งสำหรับรัฐบาลที่มีการตั้งเป้าบีบลดตัวเลขขาดดุลด้วยแล้ว การงัดมาตรการอุดหนุนมาใช้ย่อมหมายถึงการยอมแพ้ภัยตัวเอง
องค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ เชื่อว่าในปีนี้อาจจะเกิดความเสี่ยงในการเกิดจลาจลด้านอาหาร หากรัฐบาลหลายประเทศตัดมาตรการเงินอุดหนุน โดยเฉพาะประเทศยากจน
รายงานของทางการสหรัฐเป็นเครื่องสะท้อนปัญหาได้ดี โดยระบุไว้ว่าในช่วงระหว่างปี 2007-2009 มีเหตุจลาจลจากภาวะข้าวปลาอาหารแพง (Food Riots) เกิดขึ้นกว่า 60 ครั้งทั่วโลก
มองปัญหาในระยะยาว ความมั่นคงทางอาหารคือการมุ่งเป้างบประมาณไปกับการปรับปรุงภาคการผลิต และเพิ่มผลผลิตของสินค้าเกษตร
มีตัวอย่างให้เห็นว่าบางประเทศกำลังพบกับความจริงที่ว่ามาตรการอุดหนุนไม่ใช่ความยั่งยืนอีกต่อไปแล้ว
เวียดนามซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อถลำเกิน 12% ต่อปี จากตัวเลขเมื่อเดือน ก.พ. และเตรียมยกมาตรการอุ้มราคาสินค้ากลุ่มพลังงานราว 24% ทิ้ง หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามกำลังเผชิญภาระทางการเงินที่สูงจนเกินไป
เช่นเดียวกับจีนที่ยอมปล่อยให้ราคาเชื้อเพลิงขึ้นถึง 3 ครั้ง ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากภาระที่หนักอึ้งจนเกินไป
ขณะที่หลายประเทศในเอเชียผลักดันนโยบายเชิงประชานิยมแบกอุ้มทุกอย่างไว้จนขาสั่น และคงอ่อนล้าหมดแรงเข้าซักวัน บราซิลกลับกำลังพยายามแก้ภาวะเงินเฟ้อด้วยการสนับสนุนการเพิ่มอุปทาน
ช่วงไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลบราซิลปล่อยเงินกู้พิเศษเข้าช่วยเหลือกลุ่มภาคการเกษตร ฟาร์มเลี้ยงวัวเนื้อ และอาหารอื่นๆ ให้สามารถเติมเต็มกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นได้ ขนานไปกับขนาดเศรษฐกิจของบราซิลที่กำลังเติบใหญ่ขึ้น พร้อมๆ กับความต้องการทั้งในเรื่องของอาหาร พลังงาน และอื่นๆ ขยับขึ้นไปด้วย
มองผ่านกรรมวิธีและกระบวนการสะท้อนเห็นชัดเจนว่า บราซิลต่างจากมิตรประเทศในเอเชีย ด้วยการมองปัญหาและแก้ปัญหาด้วยเป้าของการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งหมดทั้งมวล มาตรการอุดหนุนอาจจะต่ออายุซื้อเวลาได้ช่วงหนึ่ง แต่กลไกอื่นๆ ก็ต้องขับเคลื่อน อย่าซื้อเวลาด้วยการย่ำอยู่กับที่
ปัญหาน้ำตาลแพง น้ำมันปาล์มขาดตลาด วนมาถี่ขึ้นทุกปี ไม่ต่างวังวนหรือวัฏจักรปัญหา เรากำลังเดินทางถูกทางแล้วหรือ?