posttoday

ถอดสมการศึกซักฟอกซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาล

04 มีนาคม 2554

ในที่สุดก็ลงล็อกอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงกับจับเวลาซักฟอกครั้งนี้ยาวนานกว่า 66 ชั่วโมง

ในที่สุดก็ลงล็อกอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงกับจับเวลาซักฟอกครั้งนี้ยาวนานกว่า 66 ชั่วโมง

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ในที่สุดก็ลงล็อกอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงกับจับเวลาซักฟอกครั้งนี้ยาวนานกว่า 66 ชั่วโมง

ถอดสมการศึกซักฟอกซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อมาดูความพร้อมของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ถือว่าต่างฝ่ายต่างประกาศความพร้อมอย่างชัดเจน เพื่อให้สมกับที่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาฯ ชุดนี้ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะกลับไปสู่สนามเลือกตั้งเพื่อวัดกระแสชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลในครั้งต่อไป

ในเมื่อการอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ทำให้การเดินเกมอภิปรายของพรรคเพื่อไทยจึงมีความสำคัญอย่างมากตั้งแต่การเลือกประเด็นในการอภิปราย การเลือกตัวรัฐมนตรีที่ต้องถูกซักฟอก และ สส.ผู้อภิปราย

อย่างการเลือกประเด็นมาอภิปราย จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่พรรคเพื่อไทยเน้นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม เช่น ปัญหาน้ำปาล์มขาดตลาด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ที่สำคัญยังให้น้ำหนักกับการกระชับพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553

วาระของคนเสื้อแดงนั้นได้เคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจกันไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว การอภิปรายครั้งนั้นเรียกได้ว่าขุดทั้งภาพถ่ายและหลักฐานอื่นๆ ขึ้นมาอภิปรายถล่มกันไปมาอย่างถึงพริกถึงขิงกันไปแล้ว ซึ่งถ้าว่ากันตามความเป็นจริง ก็ไม่น่าจะมีประเด็นอะไรใหม่นอกจากการกล่าวหากันไปมาว่าเป็นคนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต 91 คน และทรัพย์สินอื่นๆ

แต่การที่พรรคเพื่อไทยยังนำวาระคนเสื้อแดงมาอยู่ในสภา ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการหวังผลทางการเมือง โดยหวังว่าจะให้เรื่องนี้ตอกย้ำให้สังคมรับรู้ถึงความล้มเหลวและทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลว่าเป็นชนวนเหตุทำให้โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น การดำเนินการลักษณะนี้ยังเป็นการตรึงมวลชนคนเสื้อแดงให้อยู่กับพรรคเพื่อไทยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคในการขึ้นสู่อำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ตรงที่การเลือกตัวรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ด้านหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณในทางการเมืองระดับหนึ่งด้วย เป็นเพราะการเสนออภิปราย 10 รัฐมนตรีของฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่สองพรรคการเมืองเท่านั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

การเลือกแบบนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าหากพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะไม่ส่งเทียบเชิญพรรคภูมิใจไทยอย่างแน่นอน ตรงกันข้าม การไม่อภิปรายรัฐมนตรีของพรรคชาติไทยพัฒนา รวมชาติพัฒนา มาตุภูมิ กิจสังคม ไม่ต่างอะไรกับทอดไมตรีกันทางอ้อม ทั้งๆ ที่กระทรวงของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็มีปัญหาความไม่โปร่งใสเช่นกัน

ความจำเป็นที่พรรคเพื่อไทยต้องทำแบบนี้เพราะต้องเก็บพรรคไซส์เอสไว้เป็นอะไหล่สำหรับเติมเต็มในการเป็นรัฐบาลในอนาคต

เนื่องจากเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อำนาจรัฐ รวมไปถึงกระแสของพรรคเอง โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นอุปสรรคที่ไม่เอื้อให้พรรคเพื่อไทยสร้างความเบ็ดเสร็จของเสียงในสภาได้

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พรรคเพื่อไทยต้องซื้อใจทอดไมตรีล่วงหน้าไปยังพรรคร่วมรัฐบาล

ถึงกระนั้น การซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาลในลักษณะนี้ของพรรคเพื่อไทยคงไม่ได้มีผลต่อการออกเสียงในวันที่ 13 มี.ค. เพราะที่สุดแล้วตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ยังสามารถคุมเสียงข้างมากในสภาเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

โดยเมื่อสำรวจตัวเลข สส.จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ณ ตอนนี้พบว่ามี สส.ที่สามารถออกเสียงได้ 475 คน แบ่งเป็น ประชาธิปัตย์ 171 ภูมิใจไทย 33 เพื่อแผ่นดิน 31 ชาติไทยพัฒนา 25 รวมชาติพัฒนา 9 มาตุภูมิ 3 ส่วนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย 187 ประชาราช 8 นอกจากนี้มีไม่ได้สังกัดพรรค 2 คน

จากตัวเลขเห็นได้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุน 274 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมี 195 เสียง ขณะเดียวกัน ตัวเลขนี้ของรัฐบาลอาจจะเพิ่มมากมายืนอยู่ในหลักประมาณ 280 เสียงขึ้น โดยมีเสียงงูเห่าในพรรคเพื่อไทยบางส่วนมาเทให้กับรัฐบาลเช่นเดียวกับเสียงรัฐบาลบางส่วนที่อาจหายไป ซึ่งมาจาก สส.บางส่วนที่แสดงเจตนารมณ์เตรียมไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยในอนาคต

เดิมทีมีการคาดหมายว่ากลุ่ม “3 พี” พรรคเพื่อแผ่นดิน จะเป็นตัวแปรในการแหกโผลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเหมือนกับที่เคยแสดงอภินิหารกับพรรคภูมิใจไทยมาแล้วเมื่อปีก่อนด้วยเหตุผลความแค้นส่วนตัว แต่มาในครั้งนี้พรรคเพื่อแผ่นดินเองก็ไม่ได้แสดงท่าทีหือมากนัก

เพราะการลงมติในครั้งนี้จะเป็นการซื้อใจและคาดโทษกันในอนาคตด้วย โดยหากพรรคใดสัญญาว่าจะออกเสียงสนับสนุนทั้งพรรค แต่เอาเข้าจริงทำไม่ได้ตามที่พูด หลังจากการเลือกตั้งอาจถูกลดเกรดโควตากระทรวงอย่างแน่นอน

ประเมินภาพรวมตอนนี้ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลค่อนข้างมีความพร้อมพอสมควร และเตรียมใช้โอกาสนี้ให้ฝ่ายค้านกล่าวหาได้เต็มที่แบบไม่ลืมหูลืมตา โดยรัฐบาลก็เตรียมสวนกลับฝ่ายค้านทุกเม็ดทุกประตู และเตรียมแปรจังหวะนี้มาเป็นโอกาสในการหาเสียงของรัฐบาล

ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังมีปัญหาในเรื่องความเป็นเอกภาพภายในพรรคระหว่างกลุ่มมิ่งขวัญกับกลุ่มเฉลิม ที่ต่างฝ่ายต่างกั๊กข้อมูลการอภิปรายกันเองเพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฉกฉวยข้อมูลที่ตัวเองมีไปใช้หาเสียงกับนายใหญ่

สะท้อนได้จากการตั้งกระทู้ถามสดเรื่อง ปตท.เข้าไปซื้อหุ้นที่ผ่านมาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานพรรคเพื่อไทย เพราะดูจากเนื้อหาแล้วเต็มไปด้วยการบริหารราชการที่ไม่โปร่งใสของกระทรวงพลังงาน ซึ่งสามารถเป็นหมัดเด็ดในการทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาล แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่เก็บเอาไว้สำหรับงานใหญ่ กลับปล่อยของออกมาหมด

ไม่ต่างอะไรกับการจงใจเอาความดีความชอบเอง โดยประเมินแล้วว่าอย่างไรเสียการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ต้องตกอยู่ใต้มิ่งขวัญอยู่ดี สู้แย่งซีนตอนนี้เลยน่าจะดีเสียกว่า

ล่าสุด ร.ต.อ.เฉลิม ลงดาบสองด้วยการให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาเป็นห่วงการอภิปรายครั้งนี้ เพราะข้อมูลพรรคเพื่อไทยยังอ่อนเกินไป อีกทั้งใช้เวลาอภิปราย 4 วัน ก็ไม่คุ้มค่าเท่ากับหาประเด็นเด็ดๆ ถล่มแค่ 2 ชั่วโมงก็เพียงพอเหมือนสื่อสารไปถึงผู้นำอภิปรายอย่างมิ่งขวัญอย่างอ่อนประสบการณ์การเมือง

ถึงที่สุดแล้ว ปลายทางของศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คงกลายเป็นเวทีประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลเพื่อเก็บแต้มให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง