posttoday

บิ๊กดีลบริษัทใหญ่ สัญญาณลงทุนไทยฟื้น

04 มีนาคม 2554

เรียกได้ว่าเซอร์ไพรส์ เมื่อล่าสุดทางกลุ่ม บริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล บริษัทผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 1 ของโลก

เรียกได้ว่าเซอร์ไพรส์ เมื่อล่าสุดทางกลุ่ม บริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล บริษัทผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 1 ของโลก

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เรียกได้ว่าเซอร์ไพรส์ เมื่อล่าสุดทางกลุ่ม บริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล บริษัทผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 1 ของโลก ได้ใส่เงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัทจี สตีล และ จี เจ สตีล ของกลุ่ม สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูลนักธุรกิจและลูกหนี้ชื่อดังของไทย ในสัดส่วน 40%

บิ๊กดีลบริษัทใหญ่ สัญญาณลงทุนไทยฟื้น

โดยจี สตีล ถือเป็นผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนที่มีคุณภาพสูง ขณะที่กลุ่มลีสวัสดิ์ตระกูลถือว่าคลุกวงในอยู่ในธุรกิจเหล็กมานานเกือบ 40 ปี

ส่วนบริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล เป็นผู้ประกอบการเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก มีกำลังการผลิต 120 ล้านตัน/ปี จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นลักเซมเบิร์ก

อาร์เซลอร์มี ลักษมี มิตตัล มหาเศรษฐีอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของอังกฤษ มีสินทรัพย์ถึง 8.8 แสนล้านบาท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

เหตุผลที่กลุ่มอาร์เซลอร์เข้ามาถือหุ้นก้อนโตในจี สตีล เพราะต้องการขยายตลาดในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นตลาดใหม่

งานนี้ เรียกว่าเป็นการซื้อกิจการแบบกลายๆ เพราะกลุ่มของอาร์เซลอร์จะเข้ามาบริหาร โดยทางลีสวัสดิ์ตระกูลเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงาน

หากย้อนกลับไปดูเส้นทางการลงทุนของกลุ่มมิตตัลก่อนหน้านี้ จะพบว่าต้องการเข้ามาลงทุนเหล็กต้นน้ำในประเทศไทยหลายปีแล้ว

พื้นที่เล็งไว้คือ นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด โดยมีการสอบถาม ทาบทาม กับทางกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นระยะๆ

แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยที่ยังผันผวน ไม่นิ่ง บวกกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง โครงการลงทุนขนาดใหญ่จึงไม่เกิด

แม้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะสนับสนุนให้มีเซาเทิร์นซีบอร์ด แต่สุดท้ายก็ทนแรงต่อต้านที่แพร่ขยายไปทุกขณะไม่ไหว ต้องใส่เกียร์ถอยกรูด

โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่และเอ็นจีโอที่รวมตัวกันต่อต้านไม่เอาอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา สุดท้ายทุกต่างรู้ดีว่าเซาเทิร์นซีบอร์ดเกิดยาก

ในที่สุดจึงมาถึงบทสรุปของกลุ่มมิตตัล ในการซื้อหุ้นก้อนใหญ่ในโรงเหล็กของไทย

เรียกว่าดีกว่าไปตั้งโรงงานใหม่ ซึ่งนอกจากต้องลงทุนถึง 5 หมื่นล้านบาทแล้ว ยังต้องคุยกับกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติอีกนานจนไม่รู้จะจบเมื่อไหร่

โดยมีตัวอย่างแล้ว คือ กรณีของบริษัท สหวิริยาสตีล ที่เดินบนเส้นทางอันขรุขระในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก จนสุดท้ายต้องหันไปเทกโอเวอร์บริษัท Corus UK Limited ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มทาทา สตีล กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งในวงการเหล็กโลก

เชื่อว่าหลังจากกลุ่มมิตตัลเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกเหล็กไปยังภูมิภาค จะทำให้ยักษ์ใหญ่ กลาง และเล็ก ต้องตื่นตัวและหาลู่ทางมาอีกเป็นขบวน

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิปปอน สตีล เจเอฟอี สตีล และ บาวสตีล ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายการลงทุนอย่างมากในประเทศไทย

ขณะที่ตัวผู้ประกอบการไทยเอง ก็ตระหนักถึงเรื่องการแข่งขันเป็นอย่างดี

จะเห็นว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่มีการปรับตัวเปิดรับผู้ถือหุ้นใหม่อย่างมาก

โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า มีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (เทกโอเวอร์) ในปี 2553 มีมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อทั้งสิ้น 83,214 ล้านบาท

แต่ดีลเกิดขึ้นจริงจำนวน 57,881 ล้านบาทพุ่งขึ้น 359.66% จากปี 2552 ที่มีเพียง 18,189 ล้านบาท และเกิดขึ้นจริง 15,533 ล้านบาท

โดยมีจำนวนบริษัทที่ถูกซื้อทั้งสิ้น 21 บริษัท จากปี 2552 อยู่ที่ 16 บริษัทเท่านั้น

สะท้อนได้ว่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหม่ที่จะมาถึงในปีนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีบริษัทไทยกำเงินสด ลุยเทกโอเวอร์กิจการราคาถูกในต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท. และบริษัทในเครืออย่าง ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ได้ที่ดำเนินนโยบายในการออกไปซื้อกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยไปซื้อแหล่งสัมปทานทั้งในออสเตรเลียและแคนาดา

บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ซื้อหุ้น MW Brands Holdings SAS (MWB) ในยุโรป วงเงิน 680 ล้านยูโร เพื่อขยายไลน์การผลิต

เรียกได้ว่าบริษัทยักษ์ไทยก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน!!!

ดังนั้น ปี 2554 น่าจะเป็นปีทองของการลงทุน เพราะธุรกิจที่เข้ามาซื้อกิจการในประเทศไทยต้องนำเงินใหม่เข้ามาขยายกำลังการผลิต นำไปสู่การจ้างงานใหม่และกำลังซื้อนับหมื่นล้านบาท

จึงต้องจับตาว่า หลังจากนี้จะมีความเคลื่อนไหวอะไรออกมาจากธุรกิจใหญ่ๆ ของไทยต้องเปลี่ยนมืออีกบ้าง

งานนี้ต่างชาติเห็นโอกาสแล้ว ขึ้นอยู่กับประเทศไทยจะตอบรับสัญญาณนี้ดีแค่ไหน